เนื้อหาวันที่ : 2010-06-15 09:41:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 30133 views

เศรษฐศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา

การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย นักวิชาการส่วนใหญ่ได้ใช้ปี พ.ศ.2398 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศ โดยมีอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก คือ การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ซึ่งในปีดังกล่าวเป็นปีที่สยามทำ สนธิสัญญาบาวริ่ง (Bowring Treatise) กับอังกฤษ ผลของสนธิสัญญาทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงและก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกเต็มตัว

เศรษฐศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา
ภายใต้กรอบการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้นำระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของสังคม สำหรับเนื้อหาฉบับนี้ผู้เขียนจะเริ่มต้นด้วยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยอาณาจักรอยุธยา ทั้งนี้การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย นักวิชาการส่วนใหญ่ได้ใช้ปี พ.ศ.2398 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศ     

.

โดยมีอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก คือ การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ซึ่งในปีดังกล่าวเป็นปีที่สยามทำ สนธิสัญญาบาวริ่ง (Bowring Treatise) กับอังกฤษ ผลของสนธิสัญญาทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงและก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกเต็มตัว

.

อย่างไรก็ตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองการปกครองในระบอบเทวราชามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดโครงสร้างเศรษฐกิจสมัยโบราณ

.

Sir John Bowring
ผู้มีส่วนเปิดประตูการค้าสยามสู่ทุนนิยมยุคใหม่

.

ดังนั้น การอธิบายเศรษฐศาสตร์ในมิติทางประวัติศาสตร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจบริบททางสังคมและการเมืองว่าโครงสร้างเชิงสถาบันเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสมัยนั้นอย่างไร ซึ่งประเด็นที่เราจะหยิบมาพิจารณา คือ บทบาทของรัฐโดยเฉพาะระบบศักดินาที่มีต่อเศรษฐกิจ วิถีการผลิตและรูปแบบทางการค้าในอดีต

.
อาณาจักรอยุธยา เศรษฐศาสตร์บนฐานศักดินานิยม

ระบบศักดินา เป็นระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อจัดระเบียบให้กับสังคมใหม่ตั้งแต่สมัย พระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1997) โดยระบบดังกล่าวได้ใช้ที่ดินเป็นเครื่องจัดชั้นยศให้กับผู้คนในสังคม ระบบศักดินาของอยุธยามีความคล้ายคลึงกับระบบ Fuedalism ของยุโรป ที่ดินนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในทางเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นผู้ใดครอบครองที่ดินมาก ย่อมมีโอกาสที่จะสะสมทุนและความมั่งคั่งมากตามไปด้วย  

.

รูปแบบการผลิตของรัฐโบราณถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตรกรรม นอกจากพลเมืองผลิตเพื่อยังชีพแล้ว ยังต้องผลิตเพื่อส่งส่วยให้กับขุนนางอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ระบบศักดินาได้กำหนดให้ขุนนางสามารถแบ่งเก็บผลผลิตได้ครึ่งหนึ่งก่อนที่จะส่งเข้าท้องพระคลัง     

.

ด้วยเหตุนี้เองราษฎรหรือไพร่จึงจำเป็นต้องมีมูลนายสังกัด เพราะการมีสังกัดนอกจากจะได้รับการคุ้มครองจากขุนนางแล้วราษฎรยังต้องส่งผลผลิตทั้งหลายให้กับมูลนายเหล่านั้นอีกทางหนึ่งด้วย จะเห็นได้ว่าสังคมเศรษฐกิจสมัยโบราณเป็นไปในลักษณะต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน (Reciprocal) ซึ่งระบบ Fuedalism ของยุโรปก็มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้  

.

ผลของการแบ่งชั้นตามศักดินาทำให้การกำหนดหน้าที่ของประชากรในอาณาจักรมีความชัดเจน ผลดังกล่าวทำให้โอกาสในการเคลื่อนย้ายจัดสรรทรัพยากรไปสู่ภาคการผลิตอื่น ๆ เป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้อัตราการจำเริญเติบโตของเศรษฐกิจสมัยโบราณจึงเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งมิได้เกิดขึ้นเฉพาะอาณาจักรอยุธยาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น     

.

เพราะจากการศึกษาของ Angus Maddison พบว่า อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสังคมโบราณกาลอย่าง จีน และอินเดียนั้นมีค่าเฉลี่ยของการเจริญเติบโตเพียงร้อยละ 1 (ผู้สนใจโปรดดูงานของ Angus Maddisonใน The World Economy: A Millennial Perspective)

.

นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจบนฐานของศักดินานิยมนั้นเป็นระบบซึ่งสถาบันทางการเมืองสามารถดึงส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Economic Surplus) จากคนส่วนใหญ่ของสังคม ผลดังกล่าวทำให้การจัดสรรทรัพยากรการผลิตในอดีตไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวจึงเป็นไปได้ยาก 

.

ภาพแผนที่กรุงศรีอยุธยาในอดีต
จะเห็นได้ว่าแผ่นดินอยุธยามีลักษณะเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ

.
ไพร่กับวิถีการผลิตแบบยังชีพ (Subsistency)

สภาพภูมิประเทศของอาณาจักรอยุธยามีลักษณะเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ 3 สายใหญ่ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ด้วยเหตุนี้เองทำให้ที่ดินดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากเหมาะสมต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะข้าว ทั้งนี้วิธีการปลูกข้าวของคนโบราณไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก มีเครื่องมืออย่างคันไถ เคียว มีสัตว์ที่ช่วยในการทำนาอย่างวัวควาย  

.

เพียงเท่านี้ก็เพียงพอต่อการปลูกข้าวแล้ว ดังนั้นแรงงานซึ่งเป็นราษฎรหรือไพร่ส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคเกษตรกรรม ทำให้ความชำนาญในการปลูกข้าวของคนไทยมีมาอย่างช้านาน ปัจจัยดังกล่าว ยังสร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการเพาะปลูกให้กับอาณาจักรจนทำให้อยุธยากลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

.

นอกจากภาคเกษตรกรรมแล้วภาคหัตถกรรมนับเป็นอีกภาคหนึ่งที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาณาจักร ภาคหัตถกรรมที่สำคัญได้แก่ การทำทอง ปั้นหม้อ งานไม้ งานตีดาบ เป็นต้น ทั้งนี้ช่างฝีมือของอยุธยาในอดีตจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากรุ่นสู่รุ่น การรวมตัวของเหล่าช่างเป็นไปแบบหลวม ๆ ซึ่งต่างจากสังคมยุโรปโบราณที่มีการรวมตัวของเหล่าช่างฝีมือในลักษณะที่เป็นสมาคมกิลด์ (Guild Society)  

.

ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนางานฝีมือ แม้ว่าเทคโนโลยีการผลิตสมัยโบราณ (ปัจจุบันเราเรียกภูมิปัญญาท้องถิ่น) จะไม่สามารถผลิตสินค้าได้คราวละมาก ๆ (Mass Production) แต่ภูมิปัญญาเหล่านี้นับเป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาวิธีการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

.

เราอาจกล่าวได้ว่าวิถีการผลิตของประชากรส่วนใหญ่ในอาณาจักรอยุธยาเป็นไปในลักษณะพึ่งพาตัวเองเป็นสำคัญ พวกเขาได้รับการคุ้มครองจากรัฐและมูลนายแต่ไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรมากนักจากบริการของรัฐ การผลิตเพื่อยังชีพทำให้รูปแบบการค้าจึงเป็นไปในลักษณะของการแลกเปลี่ยนของต่อของเป็นหลัก (Barter System) ระบบตลาดที่มีเงินตรามาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจึงมีบทบาทน้อย เพราะผู้คนส่วนมากในสังคมมิได้เน้นเรื่องการสะสมทุน

.
รูปแบบทางการค้าสมัยโบราณ อำนาจผูกขาดของพระคลังสินค้า

สถานะพ่อค้าในอดีตของแต่ละสังคมมักไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดนัก ตัวอย่างเช่น วรรณะแพศย์ของศาสนาพราหมณ์ได้รับการยอมรับในลำดับที่ 3 เป็นรองจากพราหมณ์และกษัตริย์ เช่นเดียวกับสังคมยุโรปในอดีตที่มองว่าอาชีพพ่อค้าเป็นอาชีพที่มุ่งแต่แสวงหากำไรซึ่งขัดกับหลักความเชื่อทางศาสนา

.

สำหรับอาณาจักรอยุธยา, ลักษณะของการค้าสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกเป็นการค้าภายในอาณาจักรของราษฎรทั่วไป กับรูปแบบการค้าระหว่างรัฐซึ่งนับว่ามีบทบาทอย่างมากในการสร้างความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรอยุธยา

.

ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าวิถีการผลิตของราษฎรส่วนใหญ่ คือ ผลิตเพื่อส่งส่วยให้มูลนายในสังกัด ก่อนที่มูลนายจะหักไว้ครึ่งหนึ่งแล้วส่งต่อให้ท้องพระคลัง โดยส่วนที่เหลือราษฎรจะเก็บไว้เพื่อบริโภคเอง และหากเหลือมากกว่านั้นก็จะนำไปขาย

.

แต่รูปแบบของการขายเป็นไปในลักษณะการแลกเปลี่ยนมากกว่า แม้ว่ารัฐจะกำหนดให้มีการใช้เงินโดยกำหนดหน่วยของเงินตราเป็น ไพ เบี้ย  เฟื้อง อัฐ สลึง เป็นต้น แต่บทบาทของเงินในสมัยนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ประกอบกับระบบตลาดที่ยังไม่เข้มแข็ง ไม่มีสถาบันการเงินเป็นตัวระดมทุน ทำให้การค้าจึงอยู่ในวงจำกัดและเน้นไปในทางการแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ

.

การค้าประเภทที่สองคือ การค้าโดยรัฐ การค้าลักษณะนี้พัฒนามาจากการค้าภายใต้ระบบบรรณาการซึ่งมีจีนเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในเอเชีย การค้าแบบนี้เน้นเรื่องการเจริญพระราชไมตรีของอาณาจักรทั้งหลายควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศในแถบยุโรปอย่างโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา ฝรั่งเศส และอังกฤษ เข้ามาค้าขายกับประเทศแถบเอเชีย รูปแบบทางการค้าจึงเปลี่ยนไป  

.

ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ในตอนเศรษฐศาสตร์หลายสำนักที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงอิทธิพลของสำนัก Mercantilism ที่เชื่อว่าการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศต้องมาจากการค้าและแสวงหาอาณานิคมให้มากที่สุด ซึ่งอิทธิพลของความคิดดังกล่าวได้แผ่ขยายมาถึงแผ่นดินเอเชียในช่วงที่กรุงศรีอยุธยากำลังก่อร่างสร้างตัวพอดี 

.

พื้นฐานสำคัญของการทำการค้ากับต่างประเทศ คือ การที่พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจะพระราชทานสิทธิให้พ่อค้าประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นเข้ามาตั้งห้างหรือบริษัทภายในอาณาจักรอยุธยา ซึ่งก็กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาติเหล่านี้ได้นำกองทหารของตัวเองมาด้วยโดยอ้างเรื่องการพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติตน เช่น ในสมัยพระเพทราชาอนุญาตให้พ่อค้าฮอลันดาตั้งสถานีการค้าได้ที่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น

.

สำเภาจีน
ตัวแทนการค้าขายระหว่างประเทศในอดีต

.

หน่วยงานที่มีบทบาททางการค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยา คือ พระคลังสินค้า หน่วยงานนี้นับเป็นตัวแทนของรัฐบาลอาณาจักรอยุธยาที่กำหนดสัมปทานการผูกขาดการซื้อขายสินค้ากับพ่อค้าชาวต่างชาติ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าวิธีการผูกขาดการซื้อขายสินค้าโดยรัฐน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากจีนซึ่งเรียกระบบนี้ว่า ระบบกว่างโจว (Canton System) การผูกขาดสินค้าภายใต้ระบบพระคลังสินค้าเป็นมาตรการที่ช่วยควบคุมสินค้าเข้าออกบางชนิด เช่น อาวุธปืนจากตะวันตก ซึ่งกำหนดให้รัฐเป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถซื้อได้

.

ขณะที่การส่งออก พระคลังสินค้าก็จะเป็นผู้กำหนดสินค้าและตั้งราคาขายให้กับต่างชาติได้ เช่น พระคลังสินค้าจะขายเกลือสินเธาว์ให้กับชาวต่างชาติราคาหาบละ 17 บาท ทั้งที่ราคาปกติขายกันอยู่ที่ 5 บาท หรือ ทองแดงที่พระคลังสินค้าซื้อมาจากญี่ปุ่นราคาหีบละ 15 เหรียญแต่เวลาขายต่อให้ฝรั่งจะขายในราคาหีบละ 20 เหรียญ เหล่านี้แสดงให้เห็นอำนาจผูกขาดอย่างแท้จริงของพระคลังสินค้า

.

การผูกขาดที่สามารถกำหนดประเภทสินค้าตลอดจนราคาซื้อขาย ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องคำนึงถึงการแข่งขันแต่อย่างใด การค้าโดยระบบผูกขาดของพระคลังสินค้าทำให้อาณาจักรอยุธยามีความมั่งคั่งมากขึ้นโดยเฉพาะในสมัย พระนารายณ์มหาราช ผลพวงจากความมั่งคั่งทำให้อยุธยาสามารถทำสงครามขยายดินแดนไปยังเมืองต่าง ๆ และแสวงหาเมืองท่าทางการค้าอย่าง นครศรีธรรมราช มะละกา สงขลา ไชยา เป็นต้น

.

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสมัยกรุงศรีอยุธยามีความรุ่งเรืองก็เพราะเหตุปัจจัยทางสถาบันการเมืองการปกครองที่ใช้ระบบศักดินาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาส่วนเกินเศรษฐกิจในการสะสมทุนพร้อมกันนั้นอาณาจักรอยุธยามีความมั่งคั่งจากระบบการค้าแบบผูกขาดภายใต้การดำเนินงานของพระคลังสินค้า

.

ขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่เป็นปัจจัยการผลิตที่มีส่วนสนับสนุนความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรโดยมีวิถีการผลิตเพียงเพื่อยังชีพ ไม่มีการสะสมทุนหรือปัจจัยการผลิตอื่น ๆ แต่อย่างใดเนื่องจากถูกโครงสร้างทางการเมืองครอบคลุมไว้หมด อย่างไรก็ตามระบบและความมั่งคั่งดังกล่าวได้ถูกทำลายไปจนหมดสิ้นเมื่อสยามได้ก้าวเข้าสู่ประตูของทุนนิยมโลกอย่างเต็มตัวหลังจากทำสนธิสัญญาบาวริ่งเมื่อปี พ.ศ. 2398 ซึ่งผู้เขียนจะขยายความในคราวต่อไป

.

เอกสารประกอบการเขียน

1. ภาพจาก www.wikipedia.org
2. สิริลักษณ์ ศักดิ์เกรียงไกร, ระบบเศรษฐกิจไทยสมัยอยุธยา, รวมบทความประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ.2484 (ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและสมภพ มานะรังสรรค์ บรรณาธิการ)