เนื้อหาวันที่ : 2010-06-14 13:40:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1980 views

วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปกับความผันผวนของราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนพฤษภาคมมีความผันผวนอย่างรุนแรง จากวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป เงินยูโรอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี การเทขายของกองทุนเก็งกำไร รวมถึงความต้องการน้ำมันที่ไม่ชัดเจน

โดย:คุณมนูญ ศิริวรรณ 

.

.

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนพฤษภาคมมีความผันผวนอย่างรุนแรง จากราคา 87.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (น้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 18 เดือน ลดลงมาสู่ระดับ 68.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 (ลดลงประมาณ 19 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเกือบ 22% ในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์) และหลังจากนั้นราคาน้ำมันได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 (เพิ่มขึ้นประมาณ 7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 10% ภายใน 8 วัน)

.
เหตุผลที่ทำให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวผันผวนอย่างรุนแรงในช่วงนี้ อาจกล่าวได้ว่ามาจากปัจจัยหลักๆ ต่อไปนี้คือ

1. วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป ปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลของบางประเทศในกลุ่ม ยูโรโซน เช่น กรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี (PIIGS) ตลอดจนปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างมากของประเทศในแถบยุโรปตอนใต้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าปัญหาจะลุกลามไปยังประเทศในแถบยูโรโซนทั้งหมด และทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ และมีผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น 

.

จนทำให้นักลงทุนพากันเทขายสัญญาซึ้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดซื้อขายผลิตภัณฑ์ล่วงหน้า (ตลาด Commodities) เช่น สัญญาส่งมอบน้ำมันดิบ และโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น ทองคำ หรือ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น เราจึงเห็นราคาน้ำมันลดลงอย่างถล่มทลาย และราคาทองคำถีบตัวสูงขึ้น

.

ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง เพราะการโยกย้ายเงินดังกล่าวนั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยทางการเงิน (Financial Market) มีผลโดยตรงต่อราคาน้ำมันในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน (Fundamentals) ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “น้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์ค กลายเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (financial asset) มากกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ไปเสียแล้ว”

.

วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปยังนำไปสู่มาตรการทางการคลังของประเทศในกลุ่มอียู โดยมีการ ประกาศปรับลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลขนานใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดความเป็นห่วงว่าจะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ และจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลถึงความต้องการน้ำมันและพลังงานโดยรวมของยุโรป

.

2. วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป นอกจากจะส่งผลถึงค่าเงินและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปแล้ว   ยังส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังดีวันดีคืนด้วย เพราะถ้าค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง และค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งตัวขึ้นเรื่อยๆ จะกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ และถ้าเศรษฐกิจของอียูหรือยุโรปหดตัวหรือไม่ขยายตัว ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

.

ดังนั้นมีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจฟื้นตัวช้าลงหรือไม่ฟื้นตัวเลย ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมได้ และในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยซ้ำสองก็เป็นได้ นั่นหมายถึงว่าความต้องการพลังงานและน้ำมันที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้จะลดน้อยลงหรือไม่เป็นไปที่หน่วยงานด้านพลังงานต่างๆ (IEA, EIA, OPEC)ได้คาดหมายเอาไว้

.

3. ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน (Fundamentals) ความต้องการน้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นก็ยังไม่เห็นชัดเจนนัก แต่ปริมาณน้ำมันกลับเพิ่มมากขึ้นทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสต๊อคน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 5 ปีเฉลี่ย จึงทำให้เป็นปัจจัยลบกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ลดต่ำลงในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

.

4. การเทขายของกองทุนเก็งกำไร (Speculative Fund) เมื่อราคาน้ำมันขึ้นไปถึงระดับ 80-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้เริ่มมีแรงขายทำกำไรออกมา และมีการทำ Short Selling เพราะเชื่อว่าราคาจะลดลงอีก จึงมีผลทำให้ราคาลดลงมาถึง 68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แล้วจึงมีแรงซื้อคืน (Short Covering) กลับเข้ามาในที่สุด

.

 ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมค่อนข้างดี ทั้งตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงาน ตัวเลขคนว่างงานครั้งแรกที่ยื่นขอรับการชดเชยการว่างงาน (Initial Jobless Claims) ตัวเลขขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ตลอดจนตัวเลขความมั่นใจของผู้บริโภค จึงทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามา ดันราคาให้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้ง

.

อย่างไรก็ดี คาดว่านับจากนี้ไปราคาน้ำมันน่าจะต้องมีการปรับฐานใหม่ จากเดิมซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าราคาในครึ่งปีหลังอาจสูงถึง 90-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจลดลงมาอยู่ที่ 80-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยล่าสุด BANK OF AMERICA MERRILL LYNCH ได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังจากเดิม 92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น และนักวิเคราะห์บางคนมองว่าราคาน้ำมันอาจลงไปถึง 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลก็เป็นได้ ถ้าปัญหาวิกฤตหนี้สินของยุโรปยังไม่คลี่คลาย

.

แต่สำหรับผมมองทางสายกลางว่าราคาน้ำมันน่าจะอยู่ที่ 68-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่เคยมองว่าน่าจะอยู่ที่ 80-87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

.
บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน มนูญ  ศิริวรรณ
.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน