เนื้อหาวันที่ : 2010-06-10 10:22:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1315 views

ก.อุตฯ ผนึกความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ผลักดันธุรกิจไทยขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าหนุนไทยเป็นผู้นำอาเซียน พร้อมผนึกกำลังความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ปูทางให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มช่องทางการค้า การลงทุน เร่งสร้างความเชื่อมั่น คาดจะสามารถยกระดับศักยภาพ SMEs ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าหนุนไทยเป็นผู้นำอาเซียน  พร้อมผนึกกำลังความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ปูทางให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มช่องทางการค้า  การลงทุน  เร่งสร้างความเชื่อมั่น คาดจะสามารถยกระดับศักยภาพ SMEs ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

.

.

นายปราโมทย์  วิทยาสุข  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  โลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร และการสร้างกรอบความตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการค้า การลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน

.

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทย  จะต้องปรับตัวและก้าวให้ทันตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยได้สร้างและแสวงหาความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการค้า การลงทุนและด้านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับหน่วยงานในหลายประเทศ รวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญมากประเทศหนึ่ง

.

ประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยมายาวนานกว่า 120  ปี ถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญกับประเทศไทยในระดับต้นๆ และไทยกับญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ซึ่งเป็นความตกลงด้านการค้า  และความตกลงด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

.

อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ที่อุตสาหกรรมไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศญี่ปุ่นในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการลงทุนและด้านเทคโนโลยี โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเจรจาหาความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศญี่ปุ่นและสามารถดึงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยหลากหลายโครงการ 

.

รวมทั้งความร่วมมือในวันนี้ที่กำลังจะเกิดขึ้นในการพัฒนา SMEs กับรัฐบาลเมืองฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งเชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อ SMEs ในภูมิภาคเอเชียหรือโครงการ Business Networking Program for Asia SMEs จะประสบผลสำเร็จที่ดีและจะช่วยในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของทั้ง 2 ประเทศต่อไปในอนาคต

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กล่าวในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เร่งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยให้ทางโต๊ะญี่ปุ่น  เร่งประสานกับหน่วยงานในญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินกิจกรรมที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย

.

ซึ่งขณะนี้สามารถติดต่อประสานให้กลุ่มนักธุรกิจจากเมืองฮิโรชิมาจำนวนกว่า 10 ราย  เดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ เพื่อศึกษาศักยภาพการลงทุนและผู้ร่วมลงทุนในประเทศไทย และในเดือนตุลาคมจะมีกลุ่มนักธุรกิจจากเมืองฟูกุโอกะจำนวนอีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย เดินทางมาศึกษาศักยภาพการลงทุนและผู้ร่วมลงทุนในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งนายอาทิตย์ฯ มั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมไทยและประเทศไทยจะมีความพร้อมและศักยภาพที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ

.

และในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวญี่ปุ่น โดยโต๊ะญี่ปุ่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมดำเนินงานกับรัฐบาลเมืองฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กำหนดแนวทางการดำเนินการนำร่อง “โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อ SMEs ในภูมิภาคเอเชีย หรือโครงการ Business Networking Program for Asia SMEs” มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้มีความแข็งแรงและสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

.

.

และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนในทางเศรษฐกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชีย โครงการฯจะการส่งเสริมให้เกิดเครือข่าย SMEs ระหว่าง 2 ประเทศ โดยการนำผู้ประกอบการไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือทายาทธุรกิจ ไปอบรมและศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 60 ราย แบ่งเป็น 3 ครั้ง ครั้งละ 20 ราย โดยจะเริ่มการศึกษาดูงานครั้งแรกในเดือนสิงหาคม

.

การศึกษาดูงานประกอบด้วยการอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจของญี่ปุ่น การตลาดสไตล์ญี่ปุ่น การบริหารจัดการด้าน Green Industry นอกจากนี้จะมีการเยี่ยมชมโรงงาน และจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง SMEs ไทยและญี่ปุ่น กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกันมากยิ่งขึ้น

.

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยให้ได้รับโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานหรือ SMEs ในประเทศญี่ปุ่น โอกาสและเพิ่มช่องทางในการทำธุรกรรมร่วมกับ SMEs ในประเทศญี่ปุ่นโดยมีภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศเป็นคนกลาง และโอกาสในการศึกษารูปแบบเทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมการผลิต และรูปแบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย 

.

ที่สำคัญคือโครงการนี้จะเป็นหนึ่งแนวทางที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ขาดความเชื่อมั่นกับภาคอุตสาหกรรมไทยจากเหตุชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น ให้กลับคืนมา”

.

นายเคนโร ซึกาโมโต้ อธิบดีกรมการค้าและอุตสาหกรรม เมืองฟูกุโอกะ กล่าวว่า การที่ไทยกับญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นเมื่อปี 2007 ทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการค้าการลงทุน  รวมทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น และการที่อุตสาหกรรมไทยมีโครงสร้างที่คล้ายกับเมืองฟูกุโอกะ ที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลัก

.

จึงเป็นส่วนที่ทำให้รัฐบาลเมืองฟูกุโอกะตัดสินใจร่วมดำเนินการนำร่องโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อ SMEs ในภูมิภาคเอเชียหรือโครงการ Business Networking Program for Asia SMEs นี้กับประเทศไทยเป็นประเทศแรก และตั้งเป้าขยายผลการดำเนินงานโครงการไปยังทุกประเทศที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ นายซึกาโมโต้ ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่ารัฐบาลเมืองฟูกุโอกะยังให้ความมั่นใจกับประเทศไทยและเชื่อว่าโครงการจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

.

ทั้งนี้หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการสามารถติดต่อได้ที่ โต๊ะญี่ปุ่น ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ ห้อง BOC ณ ชั้น 2 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 02-202-4426-7

.

นายประเสริฐ  ธรรมมนูญกุล นายกสมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน  กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตและมีความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อ SMEs ในภูมิภาคเอเชียหรือโครงการ Business Networking Program for Asia SMEs ถือเป็นโอกาสที่ดีและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการปูทางให้กับหน่วยงานภายใต้สมาพันธ์ฯ ที่มีอยู่ในขณะนี้กว่า 12 สมาคม ได้มีแนวทางในการปรับตัว และกระตุ้นการเปิดตลาดใหม่ ๆ

.

รวมทั้งการมองหาความสามารถของเครื่องจักรและแรงงานของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มช่องทางในการทำธุรกรรมร่วมกับ SMEs ในประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น และเกิดเครือข่ายความร่วมมือที่ดีต่อกัน  อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้ SMEs ในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากอุตสาหกรรมสนับสนุน

.

นอกจากจะมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหลักและสามารถสร้างมูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นได้แล้ว ยังนับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนในตลาดโลก ให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ต่อไป

.
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม