เนื้อหาวันที่ : 2010-06-10 09:24:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 514 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 10 มิ.ย. 2553

1. รัฐบาลเดินหน้าผลักดันปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

-  รัฐบาลเปิดเผยถึงกระบวนการของแผนปรองดองแห่งชาติที่ต้องการให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ      เข้าร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศไทยและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย  โดยรัฐบาลจะจัดให้มีสังคมสวัสดิการต่างๆ  เพื่อสร้างหลักพื้นฐานที่มั่นคง  อาทิเช่น  นโยบายประกันรายได้เกษตรกร  โครงการ 1 ล้านไร่มิติใหม่ที่ราชพัสดุ  นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ  โครงการเรียนฟรี 15 ปี  เป็นต้น

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า  ประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม  สะท้อนได้จากรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรร้อยละ 20  ที่มีรายได้สูงสุดของสังคมไทย  มีรายได้กว่าร้อยละ 55 ของรายได้รวม  ในขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 20  ที่มีรายได้ต่ำสุดของสังคมไทย  มีรายได้เพียงร้อยละ 4-5 ของรายได้รวม

.

ทำให้มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากกว่า 12 เท่า ของทั้งสองกลุ่ม  และทำให้ประเทศไทยมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini index) อยู่ที่ 0.5 ซึ่งสะท้อนถึงการกระจายรายได้ที่มีความเหลื่อมล้ำกัน ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้มีนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่ 1)นโยบายประกันรายได้เกษตรกร

.

2) โครงการ 1 ล้านไร่ มิติใหม่ที่ราชพัสดุเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรในอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมโดยได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินการประมาณ 100,000 ไร่ ในปี 53 3) นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบสถาบันการเงินของรัฐที่มีเงื่อนไขยุติธรรมมากกว่าซึ่งมีลูกหนี้นอกระบบเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนกว่า 1 ล้านราย คิดเป็นมูลค่ากว่า1 แสนล้านบาท เป็นต้น

.
2.  ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีเดือนเม.ย.ลดลงทุกภาคธุรกิจ

-  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 46.5 จากระดับ 48.9 เป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจทั้งภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมือง ความกังวลด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซที่อาจส่งผลต่อประเทศไทย

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการเดือนเม.ย.จะลดลงและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แต่ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกจากดัชนีเศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.53 บ่งชี้ถึงการขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งจากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 35.2 ต่อปี การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 21.0 ต่อปี รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 39.4 ต่อปี แม้จะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

.

ขณะเดียวกันปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซคาดว่าส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในในวงจำกัด เนื่องจากมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด และปัญหาการเมืองคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/53 โดย สศค.จะนำปัจจัยต่างๆมาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเพื่อแถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 29 มิ.ย. 53 ต่อไป

.
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.1 ต่อปี

-  สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนในเดือน พ.ค. 53 ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.1 ต่อปี ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน เม.ย. 53 ที่ร้อยละ 2.8 ขณะที่ ปริมาณการปล่อยเงินกู้ในเดือน พ.ค. 53 อยู่ในระดับที่ 630 พันล้านหยวน  ต่ำกว่าเดือนก่อนที่ระดับ 774 พันล้านหยวน  ยอดการส่งออกในเดือน พ.ค.ขยายตัวอยู่ในระดับร้อยละ 50 ต่อปี สูงกว่าเดือนก่อนที่ร้อยละ 30.5 ต่อปี

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับตัวสูงขึ้นของตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนในเดือน พ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศในทวีปเอเชียที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือน พ.ค. อาทิเช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศสิงคโปร์อยู่ระดับ

.

ร้อยละ 3.2 ต่อปี เกาหลีใต้อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.7 ต่อปี มาเลเชียอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.5 ต่อปี  ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ

.

ร้อยละ 3.5 ต่อปี  ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานเปรียบที่ต่ำของช่วงเดียวกัน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเช่นกัน