เนื้อหาวันที่ : 2010-06-03 08:48:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1691 views

เอกชนหนุนสนพ. เดินหน้าส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ

สนพ. เซ็นสัญญารับเงินสนับสนุน “โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2552 (ปีที่ 2)” กับโรงงานอุตสาหกรรม เน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน หวังลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน

สนพ. เซ็นสัญญารับเงินสนับสนุน “โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2552 (ปีที่ 2)” กับโรงงานอุตสาหกรรม เน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน หวังลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวในพิธีลงนามสัญญารับเงินสนับสนุน จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน“โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2552 (ปีที่ 2)” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ว่า

.

กระทรวงพลังงาน ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานของประเทศ  โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การส่งเสริมการใช้เอทานอล ไบโอดีเซล พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ เป็นต้น 

.

สำหรับ สนพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้กระทรวงพลังงาน ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง สามารถแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศได้แล้ว ยังสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จากน้ำเสียหรือของเสีย ที่ใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพ และยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

.

ดังนั้น  สนพ. จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ในช่วงปี 2551-2555 ขึ้น โดยครอบคลุมการส่งเสริมให้เกิดผลิตก๊าซชีวภาพ จากแหล่งน้ำเสีย ทั้งในภาคปศุสัตว์ ภาคอุตสาหกรรม  และภาคชุมชน โดยในภาคอุตสาหกรรมนี้ เป็นภาคที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ทดแทนการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ได้สูงที่สุด

.

โดยในปี 2551 และ 2552  ที่ผ่านมานั้น สนพ. ได้เชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมแป้ง ปาล์มน้ำมัน เอทานอล น้ำยางข้น และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ลงทุนจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีโรงงานที่ได้ลงนามเข้าร่วมโครงการ และจัดสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพแล้วกว่า 50 ราย

.

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณา ในปี 2552 รอบที่ 2 อีก 40 ราย โดยคาดว่ามีมูลค่าการลงทุนรวมสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท และจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้กว่า 434 ล้าน ลูกบาศก์เมตร/ปี

.

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ตลาดในการออกแบบ และจัดสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพ  เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีบริษัทที่ปรึกษาและผู้ออกแบบเพิ่มขึ้นหลายราย และมีเทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซชีวภาพที่หลากหลาย

.

ดังนั้นสนพ. จึงยังคงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 นี้ มีเป้าหมายส่งเสริมการจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียในโรงงานอุตสาหกรรม อีกกว่า 74 ราย  มีวงเงินสนับสนุนรวม 660 ล้านบาท โดยจะเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 30 กรกฎาคม 2553 นี้

.

สำหรับพิธีลงนามในสัญญาเข้าร่วมโครงการในวันนี้  ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งประกอบด้วย บริษัท หวังดี เอ็นเนอยี จำกัด บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซันสวีท จำกัด บริษัท ไบโอ แนชเชอรัล เอ็นเนอร์ยี จำกัด บริษัท กรีน กลอรี่ จำกัด บริษัท ทักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (1993) จำกัด บริษัท เอี่ยมอีสาน รีนิวเอเบิล จำกัด และบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน