เนื้อหาวันที่ : 2010-06-02 09:24:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2576 views

ผลกระทบของเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อการลงทุนภาคเอกชนไทย

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจเอเชียบวกกับวิกฤตการเงินโลก ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสู่เอเชียมากขึ้น การกำกับดูแลและการวางนโยบายเพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีประสิทธิภาพต่อเศรษฐกิจและลดความผันผวนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

บทวิเคราะห์เรื่อง ผลกระทบของเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อการลงทุนภาคเอกชนไทย1

.

.

บทสรุปผู้บริหาร

- การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับวิกฤตการเงินโลกในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้น ในทางเดียวกัน เงินทุนเคลื่อนย้ายจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 มีแนวโน้มที่จะไหลมาสู่ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน การกำกับดูแลและการวางนโยบายเพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีประสิทธิภาพต่อเศรษฐกิจและลดความผันผวนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

.

- การศึกษาพบว่า การลงทุนโดยตรงจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาส จะทำให้การลงทุน ณ ราคาคงที่ของภาคเอกชนในช่วงเดียวกันนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.289 ต่อไตรมาส (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่

.

โดยสามารถอธิบายได้ว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายในรูปการลงทุนโดยตรงจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 มีผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากการลงทุนในลักษณะดังกล่าวเป็นการนำเม็ดเงินมาลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทลูกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นการนำเม็ดเงินเพื่อมาก่อตั้งบริษัทหรือโรงงานแห่งใหม่

.

- นโยบายหลักที่ส่งเสริมให้เงินลงทุนโดยตรงเพิ่มประสิทธิภาพต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ (1) การเร่งดำเนินการความร่วมมือทางการเงินภายในภูมิภาคภายใต้กรอบต่างๆ เช่น มาตรการริเริ่มเชียงใหม่เข้าสู่ระดับพหุภาคี (Chiang Mai Initiatiove Multi-lateralization) และการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Development) อันจะสร้างกลไกให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถใช้งเนออมภายในภูมิภาคเพื่อการลงทุนภายในภูมิภาคมากขึ้น

.

(2) การปรับปรุงระบบขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและระบบสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ และขยายเครือข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศภายในภูมิภาค และ (3) ลดขั้นตอนและเงื่อนไขสำหรับการ

.
1. บทนำ

การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาค เอเชีย ประกอบกับวิกฤตการเงินโลกในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้น ในทางเดียวกัน เงินทุนเคลื่อนย้ายจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 มีแนวโน้มที่จะไหลมาสู่ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน สำหรับประเทศไทยเงินทุนนำเข้าสุทธิจากต่างประเทศ มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากระดับเงินออมภายในประเทศมีไม่เพียงพอต่อการลงทุน

.

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจแบเปิดขนาดเล็ก (small-open economy) โดยมีสัดส่วนการเปิดประเทศในปี 2552 ประมาณร้อยละ 1.5 เท่าของ GDP และหากพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทางด้านอุปสงค์พบว่า ในปี 2552 มีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออก-นำเข้าสิ้นและบริการสูงถึงร้อยละ 68.5 และ 57.9 ของ GDP ตามลำดับ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากร้อยละ 37 และ 43 ในปี 2537 บ่งชี้ได้ถึงบทบาทของเศรษฐกิจต่างประเทศและเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อประเทศไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา2

.

ดังนั้น การศึกษาโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติเพื่อดูผลกระทบของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (Net inflow of capital flow countries ASEAN+3) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จะช่วยในการกำหนดนโยบายเพื่อกำกับดูแลและเพื่อการส่งเสริมเงินทุนเคลื่อนย้ายเกิดประโยชน์มากที่สุดต่อเศรษฐกิจไทย

.
2. ความเป็นมาของเงินทุนเคลื่อนย้ายในประเทศไทย
แผนภาพที่ 1 ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment)

.

หากพิจารณาเงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศไทยตามมิติโครงสร้างทางบัญชีการชำระเงิน (Balance of payments) จากแผนภาพที่ 1 สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลักได้แก่ (1) ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540 (ปี 2528-2539) (2) ช่วงหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี (2540-2551)

.
(1) ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540 (ปี 2528-2539)

ในช่วงดังกล่าว ดุลบัญชีการชำระเงินสุทธิของไทยมีแนวโน้มเกินดุลอย่างต่อเนื่องจากการเกินดุลในบัญชีเงินทุนที่มากกว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในขณะเดียวกันเป็นช่วงที่เงินทุนเคลื่อนย้ายมีการไหลเข้ามาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนอื่นๆ ที่นอกเหนือการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในรูปตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร

.

กล่าวคือการกู้ยืมจากต่างประเทศเป็นหลักเนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจไทย (Real GDP Growth) ที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยที่สูงถึงร้อยละ 9 ต่อปี และได้รับอานิสงค์จากการเปิดเสรีทางการเงิน (Financial Liberalization)3 มากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนสามารถมีช่องทางในการระดมทุนเร่งพัฒนาธุริกจและเกิดความต้องการที่กู้เงินเพื่อการก่อสร้างและการเก็บกำไรโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งราคาสินทรัพย์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น นโยบายการเงินของประเทศในขณะนั้นสร้างแรงจูงใจให้เกิดการกู้เงินจากต่างประเทศ

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศไทยได้แก่การจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (Bangkok International Bank Facility : BIBF) ที่ภาคเอกชนได้กู้ยืมจากต่างประเทศในช่วงที่ต้นทุนต่ำและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่ต่ำเนื่องจากค่าเงินบาทถูกอ้างอิงอยู่กับตะกร้าค่าเงิน (Basket-pegged) เพื่อมาปล่อยให้ยืมต่อจึงส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าสู่บัญชีเงินทุนในแต่ละปีในช่วงดังกล่าวมีปริมาณสูงถึงประมาณร้อยละ 6.0-12.0 ของ GDP

.
(2) ช่วงหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี (2540-2551)

ในช่วงภายหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 2540-2546 ปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทยในบัญชีเงินทุนส่วนใหญ่เป็นการไหลออกโดยเงินที่ไหลออกส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินเรียกชำระหนี้เงินกู้ในช่วงก่อนหน้าของต่างประเทศคืน 

.

อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลอย่างต่อเนื่องได้ทดแทนการขาดดุลจากการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายดังกล่าวและส่งผลให้มูลค่าของเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในบัญชีการชำระเงินในช่วงดังกล่าวมีสัดส่วนใกล้เคียงกับระดับสมดุลโดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับร้อยละ -6.0 ถึง 3.0 ต่อ GDP

.

ทั้งนี้ จากแผนภาพที่ 2 พบว่า ในช่วงหลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจ การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (Foreign Direct Investment : FDI) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากการลอยตัวได้ส่งผลให้ต้นทุนในการเข้ามาลงทุนและการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาท

.

ซึ่งส่งผลให้เงินทุนโดยตรงมีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.0 ของ GDP ในแต่ละปี ในขณะเดียวกัน แผนภาพที่ 3 แสดงเงินทุนเคลื่อนย้ายของการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Inflows) นั้นมีความผันผวนค่อนข้างมาก แต่มีสัดส่วนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรง

.

ทั้งนี้ ในปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อเข้ามาเก็งกำไรจากแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท กอปรกับการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายในรูปการลงทุนในหลักทรัพย์มีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 5.1 ต่อ GDP ในปี 2549

.
แผนภาพที่ 2 การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI Inflows)

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
.
แผนภาพที่ 3 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Inflows)

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
.

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสัดส่วนของผู้เข้ามาลงทุนโดยตรงพบว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนโดยตรงมากที่สุด โดยในช่วงระหว่างปี 2542-2551 มูลค่าของเงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 36 ของมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้ามาในช่วงดังกล่าว นอกจากนั้น เงินลงทุนโดยตรงของไทยช่วงดังกล่าวยังไหลเข้ามาจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

.

อาทิ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป้นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเงินลงทุนโดยตรงส่วนใหญ่ของไทยเป็นการไหลเข้ามาจากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน+3 ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐมีสัดส่วนรองลงที่ประมาณร้อยละ 10 และ 17 ของมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตามลำดับ

.
3. ผลการศึกษาเงินทุนเคลื่อนย้ายจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ต่อการลงทุน

ตัวแปรส่วนใหญ่ในแบบจำลองมีคุณสมบัติไม่หยุดนิ่ง (Non-stationary data) และจากการทดสอบทางเศรษฐมิติ พบว่าตัวแปรต่างๆ มีคุณสมบัติร่วมไปด้วยกัน (Co-intergration test) ดังนั้น การศึกษาจึงสามารถใช้แบบจำลอง Error Correction Model (ECM) โดยมีตัวแปรได้แก่ การลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ (RIP) และตัวแปรตามได้แก่

.

เงินลงทุนโดยตรงจนากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (Net inflow from Asean+3 : FDI_ASEAN3) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ณ ราคาคงที่ (RGDP) อัตราดอกเบี้ยกู้ชั้นดี (MLR) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (CORE) โดย ECM จะกำหนดการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นเพื่อปรับตัวเข้าหาความสัมพันธ์ระยะยาวของตัวแปร การศึกษาได้ใช้ข้อมูลทุติยภูมิอนุกรมเวลา รายไตรมาสในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2540 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ผลการศึกษาสามารถแสดงได้ดังนี้

.
สมการระยะยาว

.
สมการระยะสั้น

.
ความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างการลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ และเงินทุนเคลื่อนย้าย

จากผลการใช้แบบจำลอง ECM แสดงจากสมการด้านบน (สมการระยะยาว) พบว่า การลงทุนโดยตรงจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 มีความสัมพันธ์กับการลงทุนของภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ (Real Private Investment) ในระยะยาว โดยมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.10

.

โดยที่การลงทุนโดยตรงจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาส จะทำให้การลงทุน ณ ราคาคงที่ ของภาคเอกชนในช่วงเดียวกันนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.289 ต่อไตรมาส (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว)4 เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่

.

โดยสามารถอธิบายได้ว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายในรูปการลงทุนโดยตรงจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 มีผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากการลงทุนในลักษระดังกล่าวเป็นการนำเม็ดเงินมาลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทลูกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นการนำเม็ดเงิน เพื่อมาก่อตั้งบริษัทหรือโรงงานแห่งใหม่ ดังนั้น ผลกระทบจึงรวดเร็วและเห็นผลชัดเจน

.

ในกรณีของประเทศไทย การลงทุนโดยตรงส่วนใหญ่จะมาจากประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของการลงทุนโดยตรงทั้งหมดในปี 2552 เมื่อพิจารณาตัวแปรตามอื่นๆ พบว่า อัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ต่อไตรมาส ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่เพิ่มหดตัวลงร้อยละ 1.052 โดยมีนัยสัคัญทางสถิติที่ 0.01 บ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีมีผลในเชิงลบต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเป็นต้นทุน (Cost of capital) ของเงินทุนกู้ยืม  

.

ดังนั้น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีส่งผลให้ต้นทุนของเงินทุนมีค่ามากกว่าผลตอบแทนของเงินทุน (Rate of reture to capital) ทำให้มีการหยุดโครงการลงทุน สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายในรูปเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio investment) มีความนิ่งของข้อมูล (Stationary data) ทำให้ไม่พบความสัมพันธ์ในระยะยาวกับการลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่

.

การศึกษาโดยใช้แบบจำลอง ECM ทำให้สามารถแยกผลกระทบของตัวแปรต่างๆ ต่อการลงทุนภาคเอกชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยสามารถบ่งถึงการปรับตัวเข้าสู่สมดุลในระยะยาวของตัวแปรตามหลังจากมีการปรับเพิ่มหรือลดของตัวแปรอิสระ จากสมการด้านบน (สมการระยะสั้น) พบว่า เมื่อมีปัจจัยใดๆ ก็ตามที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะสมดุล

.

ในไตรมาสปัจจุบันที่ร้อยละ 1 ต่อไตรมาส จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนของไตรมาสต่อไป มีการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 0.176 โดยดูได้จากสัมประสิทธิ์ของตัวแปร ECM(-1)5 ของสมการระยะสั้น ดังนั้น เมื่อการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสปัจจุบันขยายตัวร้อยละ 1 จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนของไตรมาสต่อไปมีการปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่โดยจะมีการหดตัวลลดลงร้อยละ 0.176 ต่อไตรมาสในทางตรงกันข้าม

.

เมื่อการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสปัจจุบันหดตัวร้อยละ 1 จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนของไตรมาสต่อไปมีการปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่โดยมีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.176 ต่อไตรมาสสำหรับตัวแปนเงินลงทุนโดยตรง เมื่อเงินลงทุนโดยตรงในไตรมาสปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ต่อไตรมาส การลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ของไตรมาสต่อไปจะต้องปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 0.031 ต่อไตรมาสเพื่อปรับเข้าสู่จุดสมดุลในระยะยาว

.
4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

จากผลการศึกษาพบว่า การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ส่งผลในเชิงบวกต่อการลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายในการสนับสนุนการลงทุนภายในกลุ่มสมาชิกอาเซียน+3 มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนภายในประเทศและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งการศึกษามีข้อเสนอเชิงนโยบายมีรายละเอียดดังนี้

.

(1) การเร่งดำเนินการความร่วมมือทางการเงินภายในนภูมิภาคภายใต้กรอบต่างๆ เช่นมาตรการริเริ่มเชียงใหม่เข้าสู่ระดับพหุภาคี (Chiang Mai Initative Multi-lateralization) และการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Development) อันจะสร้างกลไกให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถใช้เงินออมภายในภูมิภาคเพื่อการลงทุนภายในภูมิภาคมากขึ้น

.

(2) การเปิดเสรีทางการค้าผ่านการปรับลดภาษีนำเข้า (Tariffs) และมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ตามพันธมิตรที่แต่ละประเทศได้ตกลงไว้ภายใต้กรอบ ASEAN Free Trade Agreement (AFTA) และกรอบการค้าเสรีภายในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ในเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก ลดขั้นตอนและเงื่อนไขสำหรับการจัดตั้งบริษัทในประเทศของนักลงทุนจากต่างชาติ อันเป็นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในประเทศ และ

.

(3) การจัดตั้งศูนย์ให้บริการครบวงจร (One-stop service) ที่รวบรวมการให้บริการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งบริษัท การค้าและการลงทุน และการสนับสนุนการจดทะเบียนหรือทำธุรกิรรมผ่านระบบออนไลน์ ปรับปรุงระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และระบบสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ และขยายเครือข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศภายในภูมิภาค

.

1ดร.จงกล  คำไล้ ส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง และขอขอบคุณนายพิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำหรับคำแนะนำ

.

2สัดส่วนของภาคอุปสงค์นอกประเทศในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมามากนั้นเนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายมุ่งเน้นการสนับสนุนภาคการส่งออกและนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งสอดคล้องกับการค้าขายสินค้าและบริการตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวเข้าสู่ยุคโลกนุวัตน์

.

3ประเทศไทยมีการเปิดเสรีทางการเงินตั้งแต่ปี 2533 โดยได้มีการดำเนินนโยบาย (1) การผ่อนคลายการควบคุมการปริวรรติเงินตราต่างประเทศ (2)การยกเลิกเพดานดอกเบี้ยของสถาบันการเงินต่าง ๆ การจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) (3)ออกพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (4)การตั้งชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ และ

.

(5)มุ่งพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคเอเชีย เพื่อมุ่งเน้นการขยายขอบเขตการดำเนินงานของสถาบันการเงินให้ได้ระดับมาตรการสากล พัฒนาโครงสร้างของตลาดการเงินทั้งตลาดเงินและตลาดทุนให้สมบูรณ์แบบ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสถาบันการเงินและระบบการเงิน โดยการเปิดเสรีทางการเงินดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการระดมทุนเพื่อลงทุนระหว่างประเทศในโครงการที่มีผลตอบแทนสูงซึ่งส่งผลให้การเปิดเสรีทำให้ประเทศมีแหล่งทุนมากขึ้น

.

4เนื่องจากข้อมูลทูติยภูมิอนุกรมเวลา (Time series data) รายไตรมาส โดยการขจัดปัจจัยของผลทางฤดูกาลแล้วนั้น ทำให้ค่าสัมประสิทธิ์แสดงผลการเปลี่ยนแปลงไตรมาสต่อไตรมาส (% Q-o-Q Seasonally Adjusted)
5ตัวแปรอิสระดังกล่าว ได้จากค่าความคลาดเคลื่อน (Error term) ของสมการระยะยาว


.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง