เนื้อหาวันที่ : 2010-05-31 17:10:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 611 views

คต. ผลักดัน 2 โครงการใน IMT – GT

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2553 จะมีการจัดประชุม IMT-GT Special Consultation Meeting ภายใต้กรอบแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ณ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย กรมการค้าต่างประเทศในฐานะประธานคณะทำงานสาขาการค้าและการลงทุนจะได้มีการผลักดันโครงการใหม่ 2 โครงการ ได้แก่            

.

โครงการ Promoting Carbon Credit Commercialization in Palm and Rubber Producers และ โครงการจัดตั้ง Sadao Complex Zone จากการประชุม IMT-GT National Consultation meeting ที่จัดขึ้นในวันที่ 16 -17 กุมภาพันธ์ 2553 ที่โรงแรม Arnoma กรุงเทพฯ คณะทำงานสาขาการค้าและการลงทุนฝ่ายไทยได้พิจารณาโครงการใหม่ที่คาดว่าจะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประชาชนในพื้นที่ IMT-GT 2 โครงการ คือ

.

1.โครงการ Promoting carbon Credit Commercialization in Palm and Rubber Producers เป็นโครงการส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อให้ได้รับ Carbon Credit ซึ่งผลประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับโดยตรงจากโครงการนี้ คือจะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ IMT-GT ของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ปลูกปาล์ม ยางพารา มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย Carbon Credit 

.

(ส่วนผลประโยชน์โดยอ้อม จะทำให้เป็นการช่วยแก้ไขสภาพแวดล้อมของโลก เพราะเมื่อยิ่งเกษตรกรเพิ่มพื้นที่การปลูกต้นปาล์ม หรือต้นยางซึ่งจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงมากขึ้น ก็จะเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เป็นสาเหตุการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน )

.

2.โครงการตั้ง Sadao Complex Zone เป็นโครงการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกทางด้านการค้าที่บริเวณชายแดนไทยและมาเลเซียบริเวณด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งในบริเวณ Complex จะเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าและกระจายสินค้า พร้อมทั้งเป็นศูนย์บริการจุดเดียว (one Stop Service ) ทางด้านการค้าและการลงทุนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนของฝ่ายมาเลเซียและไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งผลประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับคือปริมาณและมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซียจะเพิ่มมากขึ้น 

.

การประชุม IMT-GT เป็นแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ IMT-GT ของทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ 10 จังหวัด ของอินโดนีเซีย (อาเจห์ บังกา-เบลิตตุง เบงกุรู เคปูลวน จัมบิ สุมาตราเหนือ เรียว สุมาตราใต้ สุมาตราตะวันตก ลัมปุง)

.

8 รัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย (มะละกา เคดาห์ กลันตัน ปี นัง เปรัก เปอร์ริส สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน) และ 14 จังหวัดทางภาคใต้ของไทย (นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง สตูล สงขลา ตรัง ยะลา ชุมพร สุราษฏร์ธานี ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่)    

.

ซึ่งวัตถุประสงค์ของแผนงาน IMT-GT เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ให้มีการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นความร่วมมือด้านการผลิต การส่งเสริมการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของพื้นที่ IMT-GT 

.

นอกจากการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวข้างต้นแล้ว เพื่อให้การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุด กรมการค้าต่างประเทศในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการสนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีโครงการจัดคณะผู้แทนการค้าการลงทุนซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ IMT-GT ของไทย เดินทางไปพบปะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ตลอดจนสำรวจลู่ทางในการขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุนระหว่างไทย-มาเลเซีย และไทย-อินโดนีเซีย

.

ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศมีศักยภาพ และเกื้อหนุนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างกัน อาทิเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง อาหาร โลจิสติกส์และการท่องเที่ยว เป็นต้น ดังนั้นถ้าสามารถที่จะผสมผสานความได้เปรียบของแต่ละประเทศได้ก็จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาคนี้ได้