เนื้อหาวันที่ : 2007-01-31 11:14:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1977 views

ก.พลังงาน เดินหน้าแผนพัฒนาใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มสูบ

ก.พลังงาน เดินหน้าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเต็มสูบ วางเป้าหมาย ปี 50 ถึงปี 54 ไทยใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 8.3% ของการใช้พลังงาน พร้อมเร่งส่งเสริมพลังงานชีวมวล หนุนนโยบายรัฐเต็มที่

 ก.พลังงาน  เดินหน้าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเต็มสูบ  วางเป้าหมาย ปี 50 ถึงปี 54 ไทยใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 8.3%  ของการใช้พลังงาน พร้อมเร่งส่งเสริมพลังงานชีวมวล  น้ำ  แสงอาทิตย์  ลม  ก๊าซชีวภาพ เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม  หวังสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ให้สนับสนุนนโยบายรัฐเต็มที่

.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า   กระทรวงพลังงานจะส่งเสริม การศึกษา วิจัยพัฒนา และเร่งให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทนอื่น ๆมาใช้มากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2554 จะมีการใช้พลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นเป็น 8.3 % ของความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการ  ได้แก่

.

การพัฒนาพลังงานชีวมวล ส่งเสริมการตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยเพิ่มการผลิตไฟฟ้า 832   เมกะวัตต์ ในปี 2554 จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ  ชานอ้อย  กากทะลายปาล์ม และเศษไม้ ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในปัจจุบัน จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าชีวมวลรวม 2,800 เมกะวัตต์ การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(adder) จากผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย และกำหนดค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในการเชื่อมต่อสายส่ง ส่งเสริมการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน และส่งเสริมเศษไม้โตเร็วมาผลิตไฟฟ้า  รวมทั้งการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เช่น การปรับปรุงหม้อไอน้ำ พัฒนาระบบก๊าซเชื้อเพลิงจากชีวมวล พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากขยะ

.

การพัฒนาพลังงานน้ำ  วางเป้าหมายให้มีการใช้ประโยชน์จากแรงน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 156 เมกะวัตต์ ในปี 2554 โดยดำเนินการ อาทิ  พัฒนาไฟฟ้าพลังงานน้ำตามแผนลงทุนโดยรัฐรวม 77 เมกะวัตต์   ประกอบด้วย การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 10 โครงการรวม 2 เมกะวัตต์  สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก จำนวน 17 แห่ง รวม 74 เมกะวัตต์ และพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้านจำนวน20 แห่ง รวม 1 เมกะวัตต์ กำหนดให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่ กฟผ.จะสร้างขึ้น เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำประมาณ 78.7 เมกะวัตต์ โดยใช้ประโยชน์จากน้ำท้ายเขื่อนกรมชลประทาน 6 แห่ง อาทิ  เขื่อนป่าสักสิทธิ์ เขื่อนท่าด่าน เขื่อนเจ้าพระยา เป็นต้น

.

การพัฒนาพลังงานลม ให้มีการนำพลังงานลมมาใช้ประโยชน์เพื่อสูบน้ำ สำหรับการเกษตรและการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยวางเป้าประมาณ 115 เมกะวัตต์ ในปี 2554 แนวทางการดำเนินงาน ได้แก่การส่งเสริม และจูงใจให้มีการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า โดยกำหนดราคาส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ VSPP วางเป้าหมายไว้ประมาณ 100 เมกะวัตต์  ส่งเสริมการใช้แรงลมเพื่อการสูบน้ำ โดยให้ภาคเอกชน ทำการผลิตการใช้กังหันลมสูบน้ำในประเทศอย่างต่อเนื่อง

.

การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ วางเป้าหมายให้ในปี 2554 มีการนำแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้า และทำน้ำร้อน ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์มากขึ้น หรือเพิ่มเป็น 45 เมกะวัตต์  วางมาตรการสนับสนุนและจูงใจ โดยกำหนดส่งเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ VSPP (Adder) หรือสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนให้มีการลดหย่อยภาษีได้ แก่ผู้ติดตั้งระบบ โดยเงินลงทุนนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้  คาดว่าจะช่วยให้เกิดการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์หรือทำระบบความร้อนได้ประมาณ 8.9 เมกะวัตต์ รวมทั้งมาตรการให้ กฟผ.  สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 1 เมกะวัตต์

.

การพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากขยะ  ได้วางเป้าหมายในปี 2554 ให้มีการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนได้ 100 เมกะวัตต์  โดยส่งเสริมและจูงใจให้มีการผลิตไฟฟ้าจากขยะ โดยกำหนดส่งเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า และการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพื่อให้ภาคเอกชนลงทุนเอง หรือเอกชนร่วมลงทุนกับท้องถิ่น  นอกจากนี้จะส่งเสริมให้มีการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากขยะในชุมชน  เพื่อลดปริมาณขยะ เช่น โครงการถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ขนาดเล็กทั่วประเทศ และการวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived fuel) เป็นต้น 

.

การพัฒนาพลังงานก๊าซชีวภาพ  ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม และของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ที่มีศักยภาพ นำมาผ่านกระบวนการบำบัดและผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ 30 เมกะวัตต์ ในปี 2554 โดยดำเนินการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์  และจัดการของเสียจากฟาร์มสุกรประมาณ 3.5 ล้านตัว โดยผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์  รวมทั้งส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร ที่มีศักยภาพ เช่น โรงงานเอทานอล  โรงงานผลิตอาหาร โรงงานยาง โรงงานกระดาษ  โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ  โดยให้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพได้ 20 เมกะวัตต์