เนื้อหาวันที่ : 2010-05-27 16:19:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1123 views

ดัชนีอุตฯ เม.ย.ยังพุ่ง 23% ฝ่ากระแสการเมืองเดือด

สศอ.เผยดัชนีอุตฯเม.ย.ยังพุ่งแตะ 23% กำลังการผลิต 57.9% กลุ่มยานยนต์ Hard disk drive การแปรรูปสัตว์น้ำ การผลิตเหล็ก ยอดผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั่วหน้า

สศอ.เผยดัชนีอุตฯเม.ย.ยังพุ่งแตะ 23% กำลังการผลิต 57.9% กลุ่มยานยนต์ Hard disk drive การแปรรูปสัตว์น้ำ การผลิตเหล็ก ยอดผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั่วหน้า

.

.

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2553 ขยายตัว 23% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้จะเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มทวีความรุนแรง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้ในระดับหนึ่งแล้ว และการส่งออกยังมีการขยายตัวต่อเนื่องอยู่ 

.

อย่างไรก็ตามหากพิจารณา MPI เดือนเมษายน 2553 เทียบกับเดือนมีนาคม พบว่าอัตาการขยายตัวติดลบ 15.6% ซึ่งถือเป็นการติดลบค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่การขยายตัวติดลบเพียง 8.7% ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่อัตรากการใช้กำลังการผลิตในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 57.9% โดยอุตสาหกรรมหลักที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกยังมีทิศทางการขยายตัวได้ดีตามทิศทางการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

.

นางสุทธินีย์ กล่าวว่า การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตและจำหน่ายขยายตัวถึง 83%และ 73% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวของทุกรถยนต์ทุกประเภท เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและตลาดส่งออกยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ผลจากการชุมนุมทางการเมืองเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่มผู้บริโภคในประเทศมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ยังเชื่อว่ายอดจำหน่ายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่ายอดจำหน่ายในประเทศทั้งปีจะอยู่ประมาณ 600,000 – 700,000 คันจากการปรับประมาณการผลิตที่ 1.4-1.6 ล้านคัน

.

การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 43.5% และ 35.2% ตามลำดับ   เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และการปรับตัวของผู้ผลิตที่สามารถผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จึงส่งผลต่อการขยายตัวของยอดการผฃลิตและจำหน่ายดังกล่าว

.

การผลิตอาหารแปรรูปจากสัตว์น้ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น 31.3% และ 53.8% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวเป็นอย่างดี

.

โดยเฉพาะสินค้าหลัก เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง และเนื้อปลาแช่แข็ง ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลกเนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี จึงสามารถรรักษาตลาดหลักที่มีอยู่เดิมและขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ได้เป็ยนอย่างดี จึงส่งผลต่อยอดการผลิตและส่งออกที่เพิ่มขึ้น

.

การผลิตเหล็ก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 40.9% และ 53.7% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นไปตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้าง และโครงการใหญ่ของรัฐบาลในด้านการก่อสร้างสาธารณุปโภคขั้นพื้นฐานในด้านต่างๆมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แม้จะมีเหตุชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็ตาม โดยโครงการหลักยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องตามนโยบาลรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ 

.
นอกจากนี้ นางสุทธินีย์ ยังได้สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนเมษายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้

ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 179.34 เพิ่มขึ้น 23.0% จากระดับ 145.85 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 174.76 เพิ่มขึ้น 28.0% จากระดับ 139.20 

.

ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 113.89 เพิ่มขึ้น 12.2% จากระดับ 101.50 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 134.88 เพิ่มขึ้น 4.7% จากระดับ 128.83 ขณะที่ ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 178.97 ลดลง 21.0% จากระดับ 205.24 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.9%

.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม