เนื้อหาวันที่ : 2010-05-27 10:22:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1130 views

คลังเผย 7 เดือนแรกเก็บรายได้เกินเป้าต่อเนื่อง

กระทรวงการคลังเผยช่วง 7 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2553 เก็บรายได้เกินเป้าต่อเนื่อง รับอานิสงส์เศรษฐกิจขยายตัว บวกกับการรับโอนเงินจากการยึดทรัพย์

กระทรวงการคลังเผยช่วง 7 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2553 สภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการรับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเกินเป้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ฐานะการคลังที่ยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

.

นายสาธิต รังคสิริ  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

.

นายสาธิต รังคสิริ  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2553 ว่ารัฐบาลมีรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 28.4 โดยเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลการจัดเก็บภาษีบนฐานการบริโภคและการนำเข้า

.

โดยภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และอากรขาเข้า นอกจากนี้ รัฐบาลมีรายได้เพิ่มเติมจากการรับโอนเงินยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,079,542 ล้านบาท

.

ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 239,472 ล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 54,042   ล้านบาท ส่งผลให้ขาดดุลเงินสดรวม 293,514 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 175,572 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดหลังกู้ทั้งสิ้น 117,942 ล้านบาท โดยมีเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 จำนวน 175,893 ล้านบาท

.

นายสาธิตสรุปว่า “แม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปี แต่จากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับฐานะเงินคงคลังที่เข้มแข็ง จึงมั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินบทบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ ควบคู่ไปกับการรักษาระดับฐานะการคลังให้มีความมั่นคงต่อไป”

.
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2553
(ตุลาคม 2552 — เมษายน 2553)
หน่วย: ล้านบาท
7 เดือนแรก    เปรียบเทียบ ปีงบประมาณ 2553 ปีงบประมาณ 2552 จำนวน ร้อยละ
1. รายได้ 840,070 654,396 185,674 28.4
2. รายจ่าย 1,079,542 1,113,463 -33,921  -3
3. ดุลเงินงบประมาณ -239,472 -459,067 219,595 -47.8
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ                                                                -54,042 25,679 -79,721  -310.4
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)  -293,514  -433,388 139,874 -32.3
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล                                                                175,572 302,218   -126,646  -41.9
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6) -117,942 -131,170 13,228 -10.1
.
ที่มา: กรมบัญชีกลาง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง