เนื้อหาวันที่ : 2007-01-30 14:23:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2451 views

ความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก

เป็นที่ทราบกันว่าโครงสร้างของสินค้าการนำเข้าและการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมายังคงมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

เป็นที่ทราบกันว่าโครงสร้างของสินค้าการนำเข้าและการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมายังคงมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่ยังคงเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนเพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตเพื่อการส่งออก ถึงแม้ว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีต ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลกมากขึ้นโดยจะเห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดิม 474.74 พันล้านบาทในปี 2529 เป็น 6,472.02 พันล้านบาทในปี 2546 และประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันการเพิ่มการส่งออกของประเทศ

.

โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 233.38 พันล้านบาทในปี 2529 เป็น 3,333.93 พันล้านบาทในปี 2546 สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป รถยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ข้าว ยางพารา กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยเพิ่มจาก 241.39 พันล้านบาทในปี 2529 เป็น 3,138.10 พันล้านบาทในปี 2546 สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กล้า ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะ ซึ่งส่วนมากจะเป็นสินค้าประเภททุน วัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเป็นสำคัญ  

.

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของตลาดสินค้าส่งออกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยตลาดที่เคยมีบทบาทต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ถึงแม้ว่าตลาดทั้งสามดังกล่าวยังคงจัดว่าเป็นตลาดที่มีบทบาทมากกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแต่บทบาทดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ โดยที่ตลาดที่มีบทบาทมากขึ้นมาแทนที่ ได้แก่ ตลาดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศแถบเอเชียใต้ โดยสัดส่วนและการเติบโตของตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีหลัง ๆ

.
ปัจจัยการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ

ปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตลาดสินค้าที่มีบทบาทสำคัญกับไทย เป็นผลพลอยได้จากการจัดทำเขตการค้าเสรีของไทย ซึ่งมีทั้งประเทศที่ไทยจัดทำเขตการค้าเสรีแล้วและกำลังจัดทำทั้งหมด 8 ประเทศ ดังนี้ บาห์เรน อินเดีย จีน เปรู ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ โดยผลจากการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศดังกล่าวส่งผลโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรม อาทิเช่น ภาคอุตสาหกรรรมมีทั้งกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์และกลุ่มผู้เสียประโยชน์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งของการตลาดของอุตสาหกรรมไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

.
1.กลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์และกลุ่มผู้เสียประโยชน์ 

ผลการจัดทำเขตการค้าเสรีมีทั้งภาคอุตสาหกรรรม ทั้งกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์และกลุ่มผู้เสียประโยชน์ โดยใช้การวิเคราะห์จากการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ซึ่งคือดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏ (Revealed Comparative Advantage: RCA Index) โดยการคำนวณดัชนี RCA มีแนวคิดในการเปรียบเทียบสัดส่วนของสินค้าส่งออกของประเทศหนึ่งเทียบกับสัดส่วนของสินค้านั้นที่ส่งออกสู่ตลาดโลก โดยประเทศที่มีความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าหนึ่ง ๆ ก็ต่อเมื่อสินค้านั้นมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าส่วนแบ่งตลาดสินค้านั้นในตลาดโลก หรือ มีค่า RCA >1 ซึ่งผลจากการคำนวณดัชนี RCA ทำให้แบ่งกลุ่มสินค้าออกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

.

- กลุ่มสินค้าที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและความได้เปรียบเพิ่มขึ้น (ค่า RCA >1 และมีค่าเพิ่มขึ้น) เช่น เนื้อสัตว์ ปลาและอาหารทะเลแปรรูป

- กลุ่มสินค้าที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบแต่ความได้เปรียบน้อยลง (ค่า RCA >1 และมีค่าลดลง) เช่น ปลา ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไข่มุก หินมีค่า และโลหะต่าง ๆ

- กลุ่มสินค้าที่ไม่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบแต่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น (ค่า RCA <1 แต่มีค่าเพิ่มขึ้น) โดยสินค้าในกลุ่มนี้มีความหลากหลายคือมีทั้งสินค้าที่ใช้ทรัพยากรเข้มข้น สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น สินค้าในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างต่ำ   คือประมาณร้อยละ 1 หรือต่ำกว่า แต่การส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น พลาสติกและผลิตภัณฑ์

- กลุ่มสินค้าที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและความได้เปรียบนั้นมีค่าคงที่ (ค่า RCA >1 และไม่เปลี่ยนแปลง) เช่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล

- กลุ่มสินค้าที่มีไม่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและเปลี่ยนแปลงในทางที่ลดลง (ค่า RCA < 1 และมีค่าลดลง) สินค้าในกลุ่มนี้มีการส่งออกต่ำมากหรือแทบจะไม่มีการส่งออกเลย เช่น รางรถไฟ เครื่องบิน ยานอวกาศและอุปกรณ์

.

นอกจากดัชนี RCA จะสามารถบ่งชี้ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของกลุ่มอุตสาหกรรม ดัชนี RCA ยังนำมาหาความสัมพันธ์ทางโครงสร้างการส่งออกระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าได้ โดยพบว่าประเทศที่มีโครงสร้างความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของสินค้าส่งออกที่ไม่แข่งขันกับประเทศไทยเลย กล่าวได้ว่า ประโยชน์และโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้จะมีค่าเป็นบวก โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้มากกว่าและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน  ฝรั่งเศส  สิงคโปร์ ส่วนประเทศที่จัดว่ามีโครงสร้างความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของสินค้าส่งออกที่แข่งขันกับไทยหรือมีโครงสร้างทางการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่คล้ายคลึงกับไทยซึ่งประเทศเหล่านี้ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์

.
2.การเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งทางการตลาดของอุตสาหกรรมไทย 

ระดับความหนุนเสริม (Complimentary) หรือการแข่งขัน (Substitution) ระหว่างสินค้าไทยกับสินค้าของประเทศคู่ค้า โดยใช้การวิเคราะห์จาก Constant Market Share Analysis (CMS) ว่าส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในช่วงที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุผลใด ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานว่า การเติบโตของสินค้าส่งออกของไทยไปยังประเทศหนึ่ง ๆ ควรมีอัตราการขยายตัวไปพร้อมกับตลาดนั้น ๆ หรืออีกนัยหนึ่งควรมีอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกับอัตราการขยายการนำเข้าของประเทศนั้น ๆ ซึ่งการเติบโตที่ช้าหรือเร็วกว่าอัตราการขยายตัวของตลาดมาจาก 2 ส่วนโดยผลรวมของทั้งสองส่วนจะเท่ากับร้อยละ 100 คือ

.

- ผลจากส่วนประกอบของสินค้า (Commodity Composition Effect) เป็นส่วนของการเติบโตของตลาดสินค้านั้น ๆ เมื่อเปรียบเทียบการเติบโตโดยเฉลี่ยของการนำเข้าทั้งหมด

- ผลจากการแข่งขัน (Competitiveness Effect) เป็นส่วนของการเติบโตของการส่งออกสินค้าชนิดนั้น ๆ จากไทยเมื่อเทียบกับการเติบโตของความต้องการสินค้านั้น ๆ ในตลาด

.

ตลาดสหรัฐอเมริกา การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดสหรัฐอเมริกาประกอบจากผลจากส่วนประกอบของสินค้าถึงร้อยละ 81.5 และผลจากการแข่งขันร้อยละ 18.3 ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐอเมริกาลดลง คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

.

ตลาดญี่ปุ่น การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดญี่ป่นต่างจากตลาดสหรัฐอเมริกา คือเกิดและผลจากการแข่งขันมากกว่าโดยคิดเป็นร้อยละ 93.4 และร้อยละ 6.53 เป็นผลจากส่วนประกอบของสินค้า ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น คือ เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐอเมริกาลดลง คือ อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย

.

ตลาดจีน การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดจีนเป็นผลจากผลจากการแข่งขันถึงร้อยละ 116.32 ดังนั้นถึงแม้ว่า ผลจากส่วนประกอบของสินค้าจะเป็นบวกถึงร้อยละ 16.62 ก็ไม่สามารถทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของไทยในประเทศจีนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และไทย ล้วนมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีนลดลง

.

จะเห็นได้ว่า ความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลกทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งในโลกสามารถมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน หากปราศจากการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างประเทศ