เนื้อหาวันที่ : 2010-05-18 17:15:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2901 views

ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าปัญหานี้จะลุกลามไปเป็นปัญหาของสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย1

.

.
บทสรุปผู้บริหาร

- ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ PIIGS อันได้แก่โปรตุเกส (Portugal) ไอร์แลนด์ (Ireland) กรีซ (Greece) และสเปน (Spain) ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าปัญหานี้จะลุกลามไปเป็นปัญหาของสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจโลกโดยรวมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการเงิน (Financial Impacts) อยู่ในวงจำกัดเนื่องจากสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ไม่มี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIIGS มากนัก อีกทั้ง สถาบันการเงินไทยมีฐานะเข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ของประเทศในกลุ่ม PIIGS ได้

.

- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impacts) อยู่ในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด โดยสศค. วิเคราะห์ว่าหากรัฐบาลของประเทศในกลุ่ม PIIGS ปรับลดรายจ่ายภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของตน ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 เพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.03 จากกรณีฐาน

.
- สำหรับนัยเชิงนโยบาย สศค. มีความเห็นว่า

ในระยะสั้น ภาครัฐควรติดตามและดูแลความผันผวนของค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และควรดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทและสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

.

ในระยะปานกลางถึงยาว เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคยุโรปภาครัฐควรเร่งพัฒนาอุปสงค์ภาคในประเทศ รวมทั้งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ และควรประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการสอดส่องดูแลและจัดการกับความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย

.

ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการในการติดตามและเฝ้าระวังของภาครัฐดังกล่าว ภาคเอกชนสามารถเตรียมความพร้อมด้วยตนเองได้ อาทิ การใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และการกระจายตลาดการส่งออกไปยังำภูมิภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากภูมิภาคยุโรป

.
1. บทนำ

ในช่วงไม่กี่เดือนทีผ่านมา ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ PIIGS ได้ขยายผลกระทบไปสู่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและค่าเงินสกุลยูโร และเป็นที่กังวลว่าปัญหาหนี้สาธารณะดังกล่าวจะลุกลามไปสู่ปัญหาของสหภาพยุโรป เศรษฐกิจโลกโดยรวม

.

บทความนี้จะสรุปสถานการณ์ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซและประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม PIIGS สรุปแผนช่วยเหลือของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ วิเคราะห์โอกาสที่ปัญหาหน้าสาธารณะของกรีซจะลกลามไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

.

2. ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIIGS

ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIIGS มิใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ หากแต่เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน โดยประเทศในกลุ่ม PIIGS ได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งกู้ยืมได้โดยง่าย

.

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สาธารณะดังกล่าว ได้ทวีความรุนแรงขึ้น จากการดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา อันส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพี (ภาพที่ 1 ) และหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (ภาพที่ 2) ของประเทศในกลุ่ม PIIGS ปรับสูงขึ้นกว่าระดับที่ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปได้เคยตกลงกันไว้2

.
ภาพที่ 1 การขาดดุลงบประมาณต่อ GDP

.
ภาพที่ 2 หนี้สาธารณะต่อ GDP

ที่มา : Eurostat
.

ระดับหนี้สาธารณะที่สูง กอปรกับเศรษฐกิจของกลุ่ม PIIGS ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความสามารถในการชดใช้หนี้ของประเทศในกลุ่ม PIIGS ส่งผลให้บริษัทจัดเรตติ้งต่าง ๆ ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศในกลุ่ม PIIGS โดยประเทศกรีซเป็นประเทศแรกที่ถูกบริษัท S&P ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงถึงร้อยละ 115.1 ในปลายปี 2552 (ภาพที่ 3)

.
ภาพที่ 3 อันดับเรตติ้งพันธบัตรรัฐบาล PIIGS ของ S&P

ที่มา : ประมวลโดย สศค.
.

ซึ่งการปรับลดระดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม ส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในยุโรปและเอเชียเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินยูโรเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มีความผันผวนเป็นอย่างมาก

.
3. แผนช่วยเหลือของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซลุกลามไปสู่สหภาพยุโรป สหภาพยุโรปร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือปัญหาระยะสั้นและระยะยาวของกรีซและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม PIIGS โดยมีรายละเอียด ดังนี้

.
3.1 ปัญหาและแนวทางแก้ไขในระยะสั้น

ปัญหาประการที่ 1 : ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซ โดยหากกรีซไม่สามารถชำระหนี้กว่า 8 พันล้านยูโร ซึ่งจะครบกำหนดในกลางเดือน พ.ค. 53 ได้ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกัวความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซ ซึ่งจะส่งผลให้การระดมทุนของกรีซในระยะต่อไปเป็นไปได้ยากหรือมีต้นทุนที่สูงขึ้น

.

แนวทางการแก้ไข : เพื่อให้กรีซมีเงินไปชำระหนี้ได้ตามกำหนด สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ห้รัฐบาลกรีซกู้เงินในวงเงิน 110 พันล้านยูโร ระยะเวลา 3 ปี

.

ปัญหาประการที่ 2 : ความผันผวนของค่าเงินยูโรและเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยหากสหภาพยุโรปไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นในการจัดการกับปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซได้ ก็จะส่งผลให้นักลงทุนโยกย้ายเงินทุนออกจากสหภาพยุโรปไปยัง Safe Haven ต่าง ๆ อาทิ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น อันจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงและมีความผันผวนมากขึ้น

.

แนวทางการแก้ไข : ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป ได้เปิด Swap-line กับธนาคารกลางของหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพื่อเป็นช่องทางในการกู้ยืมดอลลาร์สหรัฐระยะสั้นเพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินยูโร

.
3.2  ปัญหาและแนวทางแก้ไขในระยะปานกลางและระยะยาว
ปัญหา : ความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาว

แนวทางการแก้ไข : (1) เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องให้แก้ประเทศในสหภาพยุโรปที่อาจจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันกับประเทศกรีซ สหภาพยุโรปได้ประกาศกลไกการสร้างเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป (European Financial Stabilization Mechanism) โดยมีวงเงินประมาณ 500 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจะเป็นการจัดสรรเงินกู้ให้แก่ประเทศที่ประสบปัญหา     

.

โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์การกู้ยืมของ IMF ทั้งนี้กลการสร้างเสถียรภาพฯ ดังกล่าวจะได้รับเงินทุนสมทบจากประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปกว่า 440 พันล้านยูโร และได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก IMF อีกอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป

.

(2) เพื่อป้องกันวิกฤตหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต สหภาพยุโรปได้ประกาศแนวทางการดำเนินงานในอนาคตที่จะมุ่งเน้นให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามกรอบเสถียรภาพด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

.
4. โอกาสที่ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซลุกลามไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

แม้ว่าสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซแล้วในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงหากปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซลุกลามไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

.

ในส่วนนี้ สศค. จะวิเคราะห์โอกาสในการลุกลามของปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซผ่านช่องทางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

.

(1) ความเชื่อมโยงด้านการค้าจากการที่เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างกันในระดับที่สูง โดยเห็นได้จากการค้าภายในภูมิภาค (Intraregional Trade) ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 ของการค้าทั้งหมด ทำให้ผลกระทบจากเศรษฐกิจหนึ่งส่งผลผ่านช่องทางความเชื่อมโยงทางการค้าไปสู่อีกประเทศหนึ่งได้ กล่าวคือ  

.

หากกรีซหรือประเทศในกลุ่ม PIIGS ต้องปรับลดรายจ่ายภาครัฐของตนลง ก็จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกรีซหรือประเทศในกลุ่ม PIIGS ที่ชะลอตัวลง อันจะนำไปสู่การชะลอตัวลงของการค้าภายในภูมิภาคและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยรวมได้

.

(2) ความเชื่อมโยงด้านการเงิน จากข้อมูลของ Bank for International Settlement พบว่า ณ สิ้นปี 2552 ธนาคารพาณิชย์สัญชาติยุโรป โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นเจ้าหนี้การปล่อยสินเชื่อนให้ประเทศในกลุ่ม PIIGS มากที่สุด (ภาพที่ 4) ดังนั้น หากรัฐบาลในประเทศในกลุ่ม PIIGS ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ก็จะกระทบต่อสถานะของสถาบันการเงินของประเทศยุโรปเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐฯ และญี่ปุ่นไม่มี direct exposure ในหนี้สินของประเทศในกลุ่ม PIIGS มากนัก

.
ภาพที่ 4 สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้ประเทศในกลุ่ม PIIGS ต่อจีดีพี

ที่มา : BIS รวบรวมโดย Citi Group
.

(3) การใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันของประเทศในสหภาพยุโรป 16 ประเทศ (ยูโรโซน) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคการเงินภายในภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ดังนั้น ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เกิดกับประเทศในยูโรโซน จึงส่งผลต่อเสถียรภาพของค่าเงินยูโรอย่างรวดเร็ว

.

จากการวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีความเชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่น ทั้งในมิติการค้าและมิติการเงิน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซจะลุกลาม (Contagion) ไปยังประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป อันเป็นที่มาที่สหภาพยุโรปร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ เพื่อป้องกันมิให้ปัญหานี้ลุกลามไปในวงกว้างได้

.
5. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ในส่วนนี้ สศค. จะวิเคราะห์ผลกระทบของปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางความเชื่อมโยงต่าง ๆ ได้แก่ 1) ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact) และ 2) ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

.
5.1 ผลกระทบผ่านช่างทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact)

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านช่องทางการค้าระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIIGS อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIIGS คิดเป็นสัดส่วนที่เพียงร้อยละ 1.8 (ตารางที่ 1)

.

ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศ PIGS

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ ประมวลผลโดย สศค.
.
5.1.2 ผลกระทบด้านการลงทุน

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านการลงทุนจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงสุทธิจากกลุ่ม PIIGS ในไทยคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 0.69 ของการลงทุนโดยตรงสุทธิในไทย โดยในปะ 2552 การลงทุนโดยตรงสุทธิของกลุ่ม PIGS ในไทยคิดเป็นมูลค่า 123.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

.
ตารางที่ 2 การลงทุนโดยตรงสุทธิในประเทศไทยจากกลุ่มประเทศ PIIGS

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
.
5.1.3 ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว

สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ PIIGS คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทย โดยในปี พ.ศ. 2552 ได้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ PIIGS กว่า 3 แสนคนเข้ามาในไทย

.
ตารางที่ 3 จำนวนและสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่ม PIGS

ที่มา : CEIC รวบรวมโดย สศค.
.

5.2 ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact)

ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศ PIIGS ต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการเงินนั้น สามารถจำแนกได้เป็นผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทย และผลกระทบจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงิน ซึ่งจากการวิเคราะห์เบื้องต้น สศค. คาดว่าผลกระทบผ่านทั้ง 2 ช่องทางต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากนัก กล่าวคือ

.
5.2.1 ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทย

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินไทยกับประเทศในกลุ่ม PIIGS มีน้อย อย่างไรก็ตามอาจมีความเสี่ยงด้าน Counterparty Risk ได้โดยเฉพาะกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยุโรปซึ่งมี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIIGS โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน มี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIIGS มากที่สุด

.

ซึ่งทำให้คาดว่าหากกลุ่ม PIGS ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะหนี้สาธารณะในระดับสูงของตนได้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศเหล่านี้ และอาจเป็นความเสี่ยงด้าน Counterparty Risk กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยได้ หากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ในยุโรปดังกล่าว

.
5.2.2 ผลกระทบจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนอยู่ในวงจำกัดแม้ว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIIGS จะส่งผลให้เงินทุนมีความผันผวนมากขึ้น กล่าวคือ ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIIGS ส่งผลให้นักลงทุนถอดถอนการลงทุนจากภูมิภาคยุโรปและเอเชียไปสู่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีความปลอดภัยกว่า (Safe Haven) ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคยูโรและเอเชียมีความผันผวนมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดการขาดสภาพคล่องในยุโรปและเอเชียได้

.

อย่างไรก็ตาม สถานะของภาคการเงินไทยมีความเข้มแข็งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนของเงินทุนที่เกิดขึ้นได้ โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 อยู่ที่ 147.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น) ซึ่งสามารถรองรับการชดใช้หนี้ระยะสั้นของประเทศได้หากมีเงินทุนไหลออกจากประเทศ

.

อีกทั้ง ไทยยังมีสภาพคล่องในระบบธนาคารในระดับสูงกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอและสามารถรองรับการหายไปของสภาพคล่องบางส่วนที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย

.
5.3 การประเมินผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553

จากแบบจำลองเศรษฐกิจโลกของ สศค. พบว่ากรณีที่ปัญหาจำกัดวงอยู่เฉพาะประเทศกรีซ  หากกรีซปรับลดรายจ่ายภาครัฐ จากปัจจุบันที่ขาดดุลร้อยละ -13.6 ต่อจีดีพี ให้ต่ำกว่าร้อยละ -3.0 ต่อจีดีพี ภายในปี 2555 จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปปรับลดลงร้อยละ 0.1 จากกรณีฐาน  

.

ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลงเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.01 จากกรณีฐาน (สศค. ประมาณการเมื่อเดือน มี.ค. 53 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 จากปีก่อน หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0)

.

กรณีที่ปัญหาขยายวงไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม PIIGS หากประเทศในกลุ่ม PIIGS ทั้งหมดปรับลดรายจ่ายภาครัฐให้ต่ำกว่าร้อยละ -3.0 ต่อจีดีพี ภายในปี 2555 จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปปรับลดลงร้อยละ 0.3 จากกรณีฐาน และส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลงเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.03 จากกรณีฐาน

.
ตารางที่ 4 ผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553

.
6. นัยเชิงนโยบายของประเทศไทย

แม้ว่าผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซต่อเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในวงจำกัด ภาครัฐควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังหากปัญหาลุกลามไปสู่สหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลในวงกว้างได้ กล่าวคือ

.
ในระยะสั้น

(1)  ภาครัฐควรติดตามและดูแลความผันผวนของค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด โดยอาจใช้กลไกการติดตามและรายงานผล ของคณะทำงาน Emergency Economic Resolution Committee  ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยี สศค. เป็นเลขานุการคณะทำงานฯ

.

(2) ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ให้อยู่ระดับที่เหมาะสม พร้อมทั้งดูแลสภาพคล่องในระบบธนาคาร ให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และ

.
ในระยะปานกลางถึงยาว

(1)  เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศในภุมิภาคยุโรป ภาครัฐควรเร่งพัฒนาอุปสงค์ภาคในประเทศ โดยเร่งเบิกจ่ายงบประมาณไทยเข้มแข็ง รวมทั้งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ เอเชียตะวันออก อินเดีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย เป็นต้น

.

(2) ไทยควรประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการสอดส่งดูแลความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายผ่านศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์เศรษฐกิจของอาเซียน+3 (Regional Economic Surveillance Unit) และการจัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศร่วมกันภายใต้ Chaing Mai Initiative Multilateralisation เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 สามารถกู้ยืมทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อจำเป็นได้

.

ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการในการติดตามและเฝ้าระวังของภาครัฐดังกล่าว ภาคเอกชนสามารถเตรียมความพร้อมด้วยตนเองได้ อาทิ การใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการกระจายตลาดการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากภูมิภาคยุโรป

.

1ผู้เขียน ดร.สิริกมล  อุดมผล  นายวัชระ  สายสมบูรณ์ และนายเฑียร  เทียมศักดิ์  ส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ขอขอบคุณ ดร.เอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และดร.ศรพล  ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับคำแนะนำในการเขียนบทความนี้

.

2การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะในระดับที่สูงของกลุ่มประเทศ PIIGS นั้นขัดต่อข้อบัญญัติภายใต้สนธิสัญญามาสทรัชต์ )Maastricht Treaty) ของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ 1) การขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 3 ของจีดีพี 2) ระดับหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี และ 3) อัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 1.5 ของอัตราเฉลี่ยของ 3 ประเทศสมาชิกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุด

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง