เนื้อหาวันที่ : 2010-05-07 13:21:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1578 views

เอกชนหนุนตั้งกองทุนวิจัยยางพารา

อุตฯ ยางพาราพ้อ ทำรายได้ให้ประเทศปีละเป็นแสนล้าน แต่รัฐไม่เห็นความสำคัญ ประสานเสียงต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน หวังช่วย SMEs เผยพร้อมให้หัก 0.25-.05% ของยอดส่งออกเข้ากองทุนวิจัย

.

อุตฯ ยางพาราพ้อ ทำรายได้ให้ประเทศปีละเป็นแสนล้าน แต่รัฐไม่เห็นความสำคัญ ประสานเสียงต้องบูรณาการทั้งหน่วยงานวิจัย โจทย์วิจัย และนักวิจัยเพื่อช่วย SMEs เผยพร้อมให้หัก 0.25-.05% ของยอดส่งออกเข้ากองทุนวิจัย ที่โรงงแรมรามาการ์เดนส์เช้าวันนี้ (6 พ.ค. 53) เป็นวันแ รกของการประชุมวิชาการยางพาราแห่งชาติครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 6-7 พ.ค.53 ภายใต้หัวข้อ “Value Creation สู่การพึ่งพาตนเอง”

.

ซึ่งหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุน/สนับสนุนงานวิจัยยางทั้ง 4 หน่วยงานร่วมกันจัด ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร (กวก.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการเสวนาเรื่อง “ความคาดหวังของเอกชนต่องานวิจัยนยางพารา”

.

นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ ประธานคลัสเตอร์ยางและไม้ยางพารา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณ องค์ความรู้ กำลังคน ไปกับงานวิจัยต้นน้ำ เช่น พันธุ์ยาง น้ำยาง พื้นที่เพาะปลูก เป็นส่วนใหญ่ แต่ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นการสร้างมูลค่าด้านปลายน้ำ คือนำยางพารามาแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

.

ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมาก และรู้สึกดีใจที่รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจะจัดตั้งสถาบันยางและผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา “สิ่งที่เราขาดคือ เอกภาพ บุคลากรเรื่องยางของเรามีจำกัด เงินก็มีไม่เพียงพอ ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องร่วมกันกำหนดทิศทางและนโยบายของประเทศให้ชัดเจน และจัดลำดับความสำคัญว่าจะมุ่งส่งเสริมด้านไหน เช่น ยางล้อ ถุงมือ หรือถุงยางอนามัย เป็นต้น

.

แล้วทุกหน่วยงานร่วมกันทำงานวิจัยโครงการใหญ่ๆ ไม่ปล่อยให้ทรัพยากรถูกดึงไปทำโครงการเล็กๆ เป็นเบี้ยหัวแตก” นายประยงค์ กล่าว ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ 3 ล้านตันจาก 10 ล้านตันที่ผลิตได้ทั่วโลก ใช้เองเพียง 10-12% และส่งออกเป็นยางธรรมชาติถึงปีละ 1.4 แสนล้านบาท

.

ถ้าสามารถเพิ่มการแปรรูปยางธรรมชาติเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ได้อีก จะเกิดเป็นมูลค่าเพิ่มที่ตกอยู่ในประเทศได้อีกมากเพราะไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปของไทยประกอบด้วยยางล้อรถยนต์ 60% ตามมาด้วยถุงมือ ถุงยางอนามัย ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางที่ใช้ในการก่อสร้าง พวกนี้เป็นสินค้าชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา แต่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก ขณะนี้ที่มาเลเซียนำหน้าไปแล้วโดยเริ่มทำยางกันแผ่นดินไหว และน่าจะมีอนาคตดี

.

นายรัก ปิตาสัย เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมยางพาราทำเงินให้ประเทศปีละเกือบ 3 แสนล้านบาท แต่ผู้กำหนดนโยบายไม่เห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ยางพารา ทำให้งานวิจัยยางพาราได้รับงบประมาณน้อย นักวิจัยจึงต้องวิจัยเรื่องเล็กๆ ในระยะเวลาสั้นๆ หน่วยวิจัยพิจารณาการให้ทุนและกำกับดูแลผลงานตามทุนวิจัยที่ให้ ตามเวลาวิจัยที่กำหนด นักวิจัยส่วนใหญ่ก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยเป็นงานพาร์ทไทม์

.

ในขณะที่งานวิจัยบางอย่างทำพาร์ทไทม์ไม่ได้ “ “ภาคเอกชนเราคาดหวังให้มีการทำวิจัยระยะยาว โดยอาจใช้เงิน 20 ล้านบาทที่รัฐบาลจะให้มาเป็นเงินทุนประเดิมในการตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา และภาคเอกชนซึ่งมียอดการส่งออกยางพาราปีละเป็นแสนล้านยินดีให้รัฐบาลหัก 0.25 - 0.5% ของยอดส่งออกตั้งเป็นกองทุน  

.

เพื่อให้สถาบันฯ ใช้สนับสนุนการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม มีบุคลากรวิจัยที่ทำงานวิจัยเต็มเวลา และมีสถาบันฯ เป็นแกนกลางในการบูรณาการโจทย์วิจัยของภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์ของผู้ประกอบการ SMEs และบูรณาการหน่วยงานวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังอยากฝากว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องการงานวิจัยทางด้านวิศวกรรมการผลิตด้วย ไม่ใช่งานวิจัยด้านการคิดผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างเดียว” เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าว