เนื้อหาวันที่ : 2010-05-04 15:30:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2390 views

ครบรอบ 60 ปี พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสาธารณะรัฐประชาชนจีน

ช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมาโลกต่างได้ประจักษ์ถึงพัฒนการของจีน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาไปไกลแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก

ชาลี  ขันศิริ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ

.

.

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1911 (2454)  เป็นสาธารณรัฐจีนโดยการนำของ ดร.ซุน ยัดเซน หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ทำให้อำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนสิ้นสุดลง ในช่วงต่อมา จีนยังคงเผชิญสงครามกลางเมืองและการล่าอาณานิคม

.

จนเมื่อภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 (2492) เหมา เจ๋อตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้งจากระบอบสาธารณะรัฐประชาธิปไตย เข้าสู่ระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มพัฒนาโดยการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียตซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน

.

โดยวางแผนตรงจากรัฐบาลไปยังภูมิภาค ปฏิวัติการเกษตรในชนบทและขยายเข้าสู่เมือง ให้ความสำคัญกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร เป็นศัตรูกับชนชั้นนายทุน ยึดที่ดินของเอกชนมาเป็นของรัฐและใช้ระบบผลิตแบบนารวม (หรือคอมมูน)

.

ชาวนามีฐานะเป็นแรงงานของรัฐ โดยไม่มีภาคเอกชนหรือระบอบทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบที่สอดคล้องกับการกำหนดนโยบายด้านแรงงาน วัตถุดิบและการเงิน ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาคในขณะนั้น เพื่อสนองตอบความเป็นอยู่ของประชากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากรวมถึงวางโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักรกล เคมี

.

ส่งผลให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนเติบโตเพิ่มขึ้น เป็นนโยบายก้าวกระโดดไกลเพื่อผลักดันให้จีนเป็นประเทศสังคมคอมมิวนิสต์ที่ทันสมัยและก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวทำให้ละเลยต่อกลไกทางตลาด ทำให้ประชาชนขาดความกระตือรือล้นเพราะได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน มีสภาพความเป็นอยู่ส่วนใหญ่ลำบากยากจนเหมือนกัน

.

รัฐเข้าไปควบคุมและบริหารจัดการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมากเกินไป ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานถดถอยลงในภาวะที่เรียกว่า “คอขวด” เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต เช่น ถ่านหิน ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และการขนส่ง รวมทั้งขาดแคลนอาหารและสินค้าอุปโภคและบริโภคด้วย ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จังได้กลายเป็นความหมายของความยากจนและการถอยหลังเข้าคลอง

.
สังคมนิยมระบบทุนนิยม : ค.ศ. 1978 (2521) –ปัจจุบัน

เติ้ง  เสี่ยวผิง
ภาพจาก เว็บไซต์วิกิพีเดีย

.

เติ้ง  เสี่ยวผิง  ผู้นำจีนคนต่อมา เปลี่ยนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจควบคู่กับการปรับโครงสร้างทางสังคมและเปิดสู่โลกภายนอกมากขึ้น เปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารงานและแนวคิด เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 (2552) การปฏิรูปเศรษฐกิจเริ่มจากสังคมเกษตรกรรมโดยยกเลิกการควบคุมจากรัฐบาลกลาง

..

ให้อิสระแก่เกษตรกรในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดแผนการเพราะปลูกพืชและจำหน่ายได้เองให้เป็นไปตามราคากลไกของตลาดโดยรัฐให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ต่อมาจีนได้ขยายการปฏิรูปมาสู่สังคมเมืองในภาคอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปรับปรุงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงระบบการปกครองเป็นสังคมนิยมเหมือนเดิม

.

เพียงแต่ให้ความสำคัญและยอกมรับระบบตลาดทุนนิยมมากขึ้น เปลี่ยนแปลงการควบคุมโดยตรงเป็นโดยอ้อม เช่น เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติเพื่อให้คนจีนมีงานทำ อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจได้อิสระ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งจากตลาดในชนบทและในเมือง ตลาดภายในและต่างประเทศ เกิดการหมุนเวียนของสินค้า เงินทุน แรงงาน บริการและเทคโนโลยี

.

นอกจากนี้ ยังได้ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยมุ่งเน้นไปที่วิสาหกิจขนาดใหญ่เป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจให้แข่งขันได้ในตลาดโลก สำหรับรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ประสบปัญหา จีนได้เข้าไปฟื้นฟูโดยการปรับโครงสร้างกิจการด้วยการให้เช่าหรือขาย สำหรับบางกิจการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้ทำการควบรวมหรือยกเลิกกิจการ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์

.

นโยบายเศรษฐกิจจีนต่อการเปิดสู่โลกภายนอก

จีนดำเนินนโยบายเปิดประตูสู่โลกภายนอกจากเริ่มจากพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นสำคัญเนื่องจากพรมแดนติดทะเลเป็นแนวยาว ในปีค.ศ. 1980 (2523) จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นครั้งแรกจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ ซัวเทา เซิ้ยะเหมิน และไหหลำ กระจายอำนาจให้แต่ละมณฑลบริหารงานได้อย่างอิสระภายใต้นโยบายของรัฐบาลกลาง

.

ลักษณะสำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ 1. สร้างปัจจัยพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ 2. ลงทุนแบบรัฐร่วมทุนและหุ้นส่วนหรือต่างชาติเป็นเจ้าของ 3. ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก

.

4. ระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาด โดยจีนเร่งส่งเสริมการผลิตในอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ เหล็กและเหล็กกล้า อู่ต่อเรือ เหมืองถ่านหิน อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ พลาสติก ยานยนต์ สิ่งทอ และการขนส่ง ในปี ค.ศ. 1984 (2527) จีนขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 14 แห่ง และทยอยเปิดพื้นที่ชายแดนและที่ราบลุ่มแม่น้ำสายสำคัญเป็นเขตเศรษฐกิจ ได้แก่

.

เขตปลอดภาษี 15 แห่ง เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งชาติ 47 แห่ง และเขตพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง 53 แห่ง ในปี ค.ศ. 1990 (2533) จีนพัฒนาเมืองเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง โดยอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงุทนเพื่อการส่งออกและจัดตั้งสถาบันการเงินของต่างชาติ

.

มอบอำนาจการปกครองแบบท้องถิ่นสำหรับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์และส่งเสริมการลงทุนแก่ต่างชาติ เพื่อพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยี โดยเลือกสิ่งที่ก้าวหน้าไม่มากนัก ซึ่งอาจดูล้าหลังในสากล แต่ถือว่าทันสมัยอย่างมากสำหรับจีน และได้รับความนิยมสูงในขณะนั้น เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ต่อมาจีนก้าวกระโดดนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น ชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสาร อวกาศ ซึ่งต่อมากลายเป็นความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่สำคัญในปัจจุบัน

.

กล่าวกันว่า สิ่งของที่จำเป็นสำหรับชาวจีนในแต่ละยุค มีพัฒนาการตามรูปแบบทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น นาฬิกา จักรยาน และจักรเย็บผ้า สำหรับยุค 1960 โทรทัศน์ ตู้เย็น และวิทยุ สำหรับยุค 1970 คอมพิวเตอร์ รถยนต์ และบ้านพักอาศัย สำหรับยุค 2980 และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าฟุ่มเฟือย การท่องเที่ยว สำหรับยุคปัจจุบัน เป็นต้น

.

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่แสดงถึงการเปิดตัวสู่โลกภายนอก คือ การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ของจีนในปี ค.ศ. 2001 (2544) ส่งผลให้จีนต้องปรับตัวเพื่อเปิดเสรีกาค้ากับต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี จีนไม่ได้ละเลยต่อภาคการเกษตร ยังคงให้ความสำคัญโดยการปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม ลงทุนด้านการเงิน พัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงการปรับปรุงระบบเพื่อปกป้องสินค้าเกษตรกรรม

.

ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันจึงมีความหลากหลายประกอบเข้าด้วยกันทั้งจากภาครัฐและเอกชน คือ หน่วยงาน/บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ หน่วยงาน/บริษัทที่รัฐเข้าควบคุมหุ้น  หน่วยงาน/บริษัทร่วมทุน บริษัทที่ลงทุนโดยต่างชาติ บริษัทที่ลงทุนโดยฮ่องกง มาเก๊าหรือไต้หวัน และบริษัทเอกชนโดยตรง เป็นต้น

.

ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในรอบ 60 ปี

นับตั้งแต่เริ่มมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงเวลา 60 ปี พบว่า การลงทุนและการส่งออกของจีนเติบโตขึ้นถึง 70 เท่า ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด ในปีค.ศ. 2008 (2551) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีน (GDP) สูงเป็นอันดับสามของโลกที่ 4,327 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 9.6 เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริการและญี่ปุ่น

.

แต่รายได้ต่อหัวมีค่าเฉลี่ยเพียง 3,259 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งยังคงตามหลังประเทศอื่น ๆ ถึงอันดับที่ 104 เนื่องมาจากจำนวนประชากรที่มากถึง 1.33 พันล้านคน อย่างไรก็ดีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของจีนมีมากที่สุดในโลกกว่า 1,800 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (อันดับ 1 เคยเป็นญี่ปุ่น) และนับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกของ WTO จีนมีปริมาณการค้าในปี ค.ศ. 2008 (2551) สูงเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 2,561 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

.

แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1,428 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 1,133 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีคู่ค้าที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สหภาพยุโรปและอาเซียนตามลำดับ และมีแนวโน้มการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปริมาณการค้าร้อยละ 70 เป็นผลมาจากกระแสการลงทุนของบริษัทต่างประเทศ ที่ย้ายฐานการผลิตในเอเชียมายังจีนเพื่อผลิตสินค้าและส่งออกภายใต้ฉลาก “Made in China”

.

โดยจีนเป็นประเทศยอดนิยมของการลงทุนจากต่างชาติอันดับ 2 ของโลก สามารถดึงเงินลงทุนได้มากกว่า 850 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 200 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก จีนมีนโยบายชัดเจนในการสร้างปัจจัยพื้นฐานและออกกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างบรรยาการศที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้อนุมัติการลงทุนไปแล้วกว่า 6 แสนบริษัท

.

ในส่วนของการลงทุนไปยังต่างประเทศ บริษัทของจีนได้ไปลงทุนแล้วกว่า 30,000 บริษัท ใน 170 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก โดยสาขาอุตสาหกรรมที่จีนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไปลงทุน คือ โทรคมนาคม ยานยนต์ การก่อสร้างปัจจัยพื้นฐาน เช่น พนน สะพาน การบรรเทาภัยพิบัติ และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

.

ทั้งนี้ เขตการค้าเสรี (FTA) คือกุญแจสำคัญสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศอาเซียนในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันเป็นสำคัญ และได้จัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement : ACFTA) เมื่อปี ค.ศ. 2004 (2547) นับเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกของจีนที่เปิดประตูสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งจีนคาดหวังประโยชน์จากอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรกล อีเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ และการต่อเรือ

.

อย่างไรก็ดี พัฒนาการทางเศรษฐกิจทีผ่าน จีนยังประสบปัญหาอยู่บ้าง เช่น การวิจัยและพัฒนาอยู่ในระดับไม่สูงมากนักเนื่องจากยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ คุณภาพของสินค้าไม่ได้มาตรฐาน การลอกเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์และยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกด้วย  

.

ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจและเปิดตัวสู่โลกภายนอกของจีนได้ผ่านการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจขนานใหญ่ เปลี่ยนแปลงการวางแผนพัฒนาจากรัฐบาลกลางสู่ระบบตลาดทุนนิยม จากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรมและบริการ และจากการปิดตัวกับโลกภายนอกก้าวกระโดดเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก

.

โดยจีนได้วิเคราะห์ความสามารถของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีอยู่และกำหนดนโยบายระยะยาวเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจีนยังคงไม่หยุดยั้งในการพัฒนาอีกหลายด้าน ก่อนก้าวสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมและทันสมัยของโลกอย่างแท้จริงต่อไป ซึ่งประเทศไทยควรใช้โอกาสจากความสัมพันธ์ที่มีกับจีนมายาวนานขยายยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับจีนมากกว่าที่จะแข่งขันกัน โดยสามารถประยุกต์แนวทางที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้มีความก้าวหน้าเคียงคู่กันได้ต่อไป

.

ที่มา : เรียบเรียงจากการสัมมนา
หลักสูตร Regional Economic and Trade Cooperation
จัดโดย Institute for International Business Officials,
Ministry of Commerce of the People’s Republic of China

.

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม