เนื้อหาวันที่ : 2007-01-26 09:56:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1367 views

ก.อุตสาหกรรมเร่งลดมลภาวะพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

กระทรวงอุตสาหกรรม เลือกพื้นที่ในภาคใต้รองรับอุตสาหกรรมหนัก พร้อมเร่งลดมลภาวะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกอย่างเร่งด่วน ส่วนการนิคมฯ ประสานบีโอไอลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ลดมลภาวะ

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้  สศช. เสนอคณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลือกพื้นที่ในภาคใต้รองรับอุตสาหกรรมหนัก  พร้อมเร่งลดมลภาวะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกอย่างเร่งด่วน  ด้านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมประสานบีโอไอ ลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ลดมลภาวะ 

.

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมว่า  ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขเรื่องมลภาวะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก  ซึ่งที่ประชุมตกลงมอบหมายให้ นายดำริ  สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเสริมให้กับอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ไปทำหน้าที่ลดระดับมลภาวะให้ต่ำลง

.

และในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการในการลดระดับมลภาวะ  ซึ่งแผนดังกล่าวจะเสร็จภายใน  1 เดือน โดยย้ำว่า การลดมลภาวะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนสูงสุด  โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาและจะมีคำตอบในรูปแผนปฏิบัติการ 

.

นายโฆสิตกล่าวว่า  ในระหว่างดำเนินการลดระดับมลภาวะในพื้นที่ดังกล่าว  ทางรัฐบาลเตรียมหาพื้นที่รองรับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหนักแล้ว และการที่เป็นเรื่องเร่งด่วนจึงไม่มีเวลาที่จะไปทำการศึกษาหรือสำรวจใหม่  จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ที่มีผลการศึกษามาพิจารณาตัดสินใจเลือก  แต่เบื้องต้นค่อนข้างยุติว่าจะใช้พื้นที่ภาคใต้  ซึ่งเป็นพื้นที่ได้ทำการศึกษาไว้

.

โดย สศช.  ได้แก่  จังหวัดนครศรีธรรมราช  สงขลา  หรือโครงการแลนด์บริดจ์  อยู่ในข่ายนำมาศึกษาถึงความเหมาะสม  โดยพื้นที่ใหม่ที่เลือกจะเตรียมไว้รองรับอุตสาหกรรมหนัก ที่พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกรองรับไม่ได้  เนื่องจากพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกรับได้เฉพาะอุตสาหกรรมที่ไม่มีมลพิษเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมประกอบยานยนต์  ส่วนโครงการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  จะลงทุนเพิ่มเติม จะต้องหาพื้นที่เตรียมไว้ให้เช่นกัน

.

รมว. อุตสาหกรรม  กล่าวอีกว่า  เพื่อนำไปสู่การเลือกพื้นที่ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมหนักในภาคใต้ ทาง สศช. จะเสนอ ครม. ตั้งคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเลือกพื้นที่  โดยจะมีการนำเรื่องนี้ไปหารือกับ กนอ. ในวันที่  7  กุมภาพันธ์นี้  เพื่อให้ภาคเอกชนรับทราบ

.

ด้านนายอุทัย  จันทิมา  ผู้ว่าการ กนอ.  กล่าวถึงการลดมลพิษในพื้นที่ดังกล่าว  ขณะนี้ กนอ. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ดำเนินการลดมลภาวะ โดยมาตรการที่ทำคือติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศเพิ่มเติม  ซึ่ง กนอ. ได้ประสานกับกรมควบคุมมลพิษแล้ว  นอกจากนี้ จะดำเนินการให้โรงงานที่มีค่าการปล่อยมลภาวะออกสู่อากาศระดับสูง  เช่น  กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่ม ปตท. ให้ลดปริมาณการปล่อยมลภาวะ 

.

แม้ปัจจุบันระดับการปล่อยมลภาวะจะต่ำกว่ามาตรฐานแล้วก็ตาม  โดยในส่วนของโรงไฟฟ้า กนอ. ได้ประสานงานกับกระทรวงพลังงานแล้ว  หากโรงงานใดจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องมือลดระดับการปล่อยมลภาวะ  ทาง กนอ. จะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  ว่าจะสามารถลดภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ได้หรือไม่  และการลดระดับครั้งนี้ โรงงานทุกแห่งยินดีที่จะทำตาม เพราะให้ความสนใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งระดับมลภาวะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัย  แต่ในรอบ 1 ปี อาจจะมีประมาณ  10  นาที ที่ระดับมลภาวะสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน.