เนื้อหาวันที่ : 2010-04-27 17:49:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8294 views

Hamburger Crisis

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปี รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ได้พยายามแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ประเทศต่าง ๆ ล้วนเซกันไปตาม ๆ กัน

The 21st Century Economy
ศัพท์เศรษฐกิจที่ควรรู้ใน Hamburger Crisis

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปี รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ได้พยายามแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ประเทศต่าง ๆ ล้วนเซกันไปตาม ๆ กัน 

.

หากจะนับว่าวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไรนั้น นักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่มองว่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 2008 ครับ โดยในวันดังกล่าวเป็นวันที่เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) หนึ่งในห้าเสือวาณิชธนกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ประกาศล้มละลายเนื่องมาจากการขาดทุนในตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อที่เรียกว่า “ซับไพรม์” (Subprime) ครับ

.

อย่างที่ผู้เขียนกล่าวมาโดยตลอดนะครับว่าเศรษฐกิจของโลกในศตวรรษที่ 21 นั้น มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา มีปัจจัยมากมายที่ทำให้วงจรเศรษฐกิจ (Business Cycle) นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อบวกกับพลังของโลกาภิวัตน์เข้าไปด้วยแล้วยิ่งทำให้ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งนั้นดูจะหนักหนาสาหัสเลยทีเดียว

.

สำหรับซีรีส์ The 21st Century Economy ฉบับนี้ ผู้เขียนขออนุญาตฉายหนังซ้ำเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในศตวรรษนี้โดยผู้เขียนจะหยิบเอาศัพท์เศรษฐกิจที่ควรรู้มาอธิบายให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเพื่อจะให้เห็นภาพของวิกฤตครั้งนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

.
Hamburger Crisis: เมื่อทุนนิยมการเงินเริ่มเป็นพิษ

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อนะครับ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจบางสำนักเรียกว่า “วิกฤตซับไพรม์” นักเศรษฐศาสตร์การเงินเรียกว่า “วิกฤตสินเชื่อตึงตัว” หรือ Credit Crunch อย่างไรก็ดี Hamburger Crisis นั้นมีต้นตอมาจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาก่อนจะลุกลามไปสู่ความเชื่อมั่นในภาคการเงิน

.

หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกที่กล่าวถึง “วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ” นั้น ในรอบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา วิกฤตส่วนใหญ่เกิดมาจากภาคการเงินการธนาคารเกือบทั้งหมดนะครับ ยกตัวอย่างวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1907 ที่เรียกว่า The Panic of 1907 หรือ 

.

1907 Bankers’ Panic นั้นก็มีสาเหตุมาจากการล้มของทรัสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของอเมริกา คือ Knickerbockers Trust Company โดยหลังจากที่ทรัสต์ดังกล่าวล้มลง ความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อระบบธนาคารก็ค่อย ๆ ลดลงตามไปด้วยจนทำให้ธนาคารในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งต้องปิดตัวลง ส่งผลต่อความตกต่ำในตลาดหุ้นวอลส์สตรีทตลอดจนการหดตัวลงของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ในที่สุด

.

อย่างไรก็ตามผลพวงของวิกฤตครั้งนั้นทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเห็นความสำคัญที่จะต้องควบคุมสถาบันการเงินเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้ในปี ค.ศ.1913 รัฐสภาสหรัฐจึงตั้งธนาคารกลาง (The Federal Reserve) ขึ้นมาเพื่อควบคุมและกำกับสถาบันการเงินตลอดจนดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ

.

แม้ว่า The Panic of 1907 จะทำให้สหรัฐอเมริกาได้เรียนรู้แนวทางใหม่ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดได้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1929 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ The Great Depression

.

The panic of 1907
วิกฤตเศรษฐกิจการเงินในต้นศตวรรษที่ 20

.

The Great Depression มีต้นตอมาจากความตกต่ำของตลาดหุ้นวอลส์สตรีท หลังจากนั้นก็ลุกลามเข้าสู่ภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ GDP ของสหรัฐอเมริกาหดตัวลงกว่า 26% อัตราการว่างงานพุ่งสูงถึง 24% ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยและได้ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทนำในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ

.

หลังจากนั้นเป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาพยายามรักษามาตรฐานการควบคุมบริหารภาคการเงินของตัวเองเป็นอย่างดี จนอาจกล่าวได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีอิทธิพลไม่แพ้องค์กรโลกบาลอื่น ๆ อย่าง IMF ธนาคารโลก หรือ WTO

.

แต่สำหรับ Hamburger Crisis นั้นมีนักวิเคราะห์เศรษฐกิจตั้งข้อสังเกตไว้ว่าต้นเหตุของวิกฤตรอบนี้มีรากเหง้ามาตั้งแต่รัฐบาลของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งย้อนกลับไปนานกว่า 25 ปี โดยรัฐบาลเรแกนสนับสนุนให้มีการเปิดเสรีทางการเงินมากขึ้น ลดบทบาทภาครัฐลง และเน้นให้ภาคเอกชนมีการแข่งขันกันมากที่สุด   

.

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐพยายามที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในภาคการเงินมีการสร้างนวัตกรรมทางการเงินสมัยใหม่ (Financial Innovation) อย่างตราสารอนุพันธ์ที่ซับซ้อน รวมไปถึงเกิดการขยายตัวของธุรกิจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา

.

โดยจุดมุ่งหมายของการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ดีการปล่อยสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ที่หละหลวมต่างหากที่เป็นต้นตอสำคัญทำให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์นั้นมีการขยายตัวขึ้นมากผิดปกติและทำให้การซื้อบ้านไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัยแต่เป็นเพียงการเก็งกำไรเท่านั้นเอง

.

การเก็งกำไรและการปั่นราคาของภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกานั้นนำไปสู่ “ภาวะฟองสบู่” ที่สถาบันการเงินพยายามหาทางปล่อยกู้สินเชื่อในกลุ่มนี้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีเมื่อหาคนกู้ได้ยากสถาบันการเงินจึงเลือกที่จะปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือต่ำซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เองที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตซับไพรม์

.
ซับไพรม์ คืออะไร ?

ซับไพรม์ (Subprimeิกฤตซับไพร์ี้เองที่เป็นต้นตอาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาก่อนจะลุกลามไปสู่ความเชื่อมั่นในภาคการเงินกิจของทุกประเทศดิ่งเหวไปพร้อม) เป็นสินเชื่อที่ให้กู้กับกลุ่มลูกค้าของธนาคารหรือสถาบันการเงินโดยที่ผู้กู้มีคุณสมบัติด้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานการกู้ตามปกติ เช่น มีรายได้ต่ำ มีหลักประกันไม่มั่นคง ดังนั้นการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้ลูกค้ากลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมาก นั่นคือโอกาสที่จะถูก “เบี้ยว” หรือ ถูก “ชักดาบ” ได้

.

สินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Ninja Loan ซึ่งชื่อก็บอกเป็นนัย ๆ แล้วนะครับว่าหากปล่อยสินเชื่อไปแล้วโอกาสที่เหล่า “นินจานักกู้ “เหล่านี้จะหนีหายไร้ร่องรอยไปย่อมมีมาก

.

ในช่วงภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาฟูฟ่องนั้น สถาบันการเงินได้ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นจำนวนมากครับ และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำลูกค้าเหล่านี้ก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะชำระหนี้ทำให้เกิดปัญหากับเจ้าหนี้อย่างสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ในที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ซับไพรม์เป็นแค่จุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดเท่านั้นเองนะครับ เพราะวิกฤตรอบนี้ยังมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่านี้เยอะ

.
นวัตกรรมทางการเงินแปลกใหม่: ความวุ่นวายที่มาจากความฉลาด

น่าสนใจนะครับว่าทำไมสถาบันการเงินเหล่านี้จึงกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มซับไพรม์ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงมาก คำตอบก็คือ ปัจจุบันนวัตกรรมทางการเงินหรือเครื่องมือทางการเงินในตลาดการเงินสมัยใหม่นั้นทำให้สถาบันการเงินสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงของธนาคารผ่านตัวกลางอื่น ๆ ได้

.

เช่น แฟนนี่ เม (Fanny Mae) และเฟรดดี แมค (Freddie Mac) ที่ทำหน้าที่แปลงสินทรัพย์ซึ่งในที่นี้คือสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้กลายเป็นตราสารที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนพันธบัตรซึ่งนักลงทุนวิเคราะห์แล้วว่ามีความเสี่ยงต่ำพอ ๆ กับการถือพันธบัตรรัฐบาลเลยทีเดียว  คำถามต่อไปก็คือ แล้ว แฟนนี่ เม และเฟรดดี แมค คือใครกันล่ะครับ ?

.
แฟนนี่ เม (Fannie Mae) และ เฟรดดี แมค (Freddie Mac) คือใคร ?

แฟนนี่ เม และ เฟรดดี แมค เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (Government–Sponsored Enterprise) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมให้ชาวอเมริกันสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้โดยองค์กรทั้งสองจะอาศัยเครื่องมือในการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)

.

การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์เป็นกระบวนการเอาสินทรัพย์ เช่น สินเชื่อประเภทต่าง ๆ ของสถาบันการเงินนั้นมาจัดทำเป็นหลักทรัพย์ แล้วจัดการขายหลักทรัพย์นั้นออกไปให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจจะลงทุนครับ

.

สำหรับหลักทรัพย์หรือตราสารที่แฟนนี่ เม และ เฟรดดี แมค ออกให้นี้เราเรียกว่า MBS หรือ Mortgage–Backed Security และ CMO หรือ Collateralized Mortgage Obligation ครับ โดย MBS เป็นตราสารอนุพันธ์อย่างง่ายที่ยังไม่ได้คัดแยกคุณภาพ ส่วน CMO นั้นเป็นตราสารอนุพันธ์ที่นำมาจำแนกแยกแยะตามลักษณะของความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต่างกัน

.

ด้วยเหตุนี้เองการที่สถาบันการเงินถ่ายโอนความเสี่ยงของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไปอยู่ในรูปของหลักทรัพย์หรือตราสารผ่านทางการรับรองของแฟนนี่ เม และ เฟรดดี แมค แล้ว ทำให้สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อสามารถผลักภาระความเสี่ยงของสินเชื่อดังกล่าวนี้ออกไปได้

.

แฟนนี่ เม และ เฟรดดี แมค
ฝันของชาวอเมริกันที่อยากมีบ้าน

.
MBS และ CMO: เมื่อสินเชื่อแปลงเป็นหลักทรัพย์

MBS และ CMO เป็นตราสารทางการเงินที่เกิดจาการนำสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มาจัดทำให้เป็นหลักทรัพย์ทางการเงินครับ ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ MBS และ CMO ได้โดยผลตอบแทนดังกล่าวมาจากการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของผู้กู้ในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ 

.

เมื่อผู้กู้ในอสังหาริมทรัพย์จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นแล้ว เงินเหล่านี้จะถูกส่งผ่านมาให้กับผู้ถือหลักทรัพย์ MBS ตามสัดส่วนที่ลงทุนไป ด้วยเหตุนี้เอง MBS จึงถูกเรียกอีกชื่อว่าหลักทรัพย์ส่งผ่านหรือ Pass through Security ครับ 

.

ทั้งนี้การแปลงสินเชื่อให้เป็นหลักทรัพย์นั้นเป็นการช่วยถ่ายโอนสินเชื่อออกจากงบดุลของสถาบันการเงินได้และทำให้สถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องกันเงินสดสำรองตามกฎหมายตามที่ธนาคารกลางกำหนดไว้หากต้องการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นอีก

.

หลักทรัพย์ MBS และ CMO ของ แฟนนี่ เม และ เฟรดดี แมค ถูกซื้อไว้โดยกองทุนต่าง ๆ และสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งในสหรัฐอเมริการวมไปถึงสถาบันการเงินชั้นนำในยุโรปด้วย เนื่องจากตราสารทั้งสองนี้มีความมั่นคงพอ ๆ กับพันธบัตรรัฐบาล ด้วยเหตุนี้สินทรัพย์ของสถาบันการเงินส่วนใหญ่จึงมีตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้อยู่เป็นจำนวนมากครับ 

.

อย่างไรก็ดีความซับซ้อนยังไม่หมดแค่นี้นะครับ เนื่องจากสถาบันการเงินที่ถือ MBS และ CMOมองแล้วว่าการถือหลักทรัพย์ทั้งสองนี้อาจจะเกิดความเสี่ยงอยู่บ้าง จึงได้ผลักภาระความเสี่ยงดังกล่าวต่อไปให้กับสถาบันการเงินอื่นอีกโดยใช้ตราสารป้องกันความเสี่ยงที่ชื่อ CDS หรือ Credit Default Swap ครับ

.

ตราสาร CDS เป็นตราสารอนุพันธ์อีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับเงินชดเชยจากผู้ขายเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้หลักทรัพย์ที่ตัวเองถือไว้มีความน่าเชื่อถือลดลง โดยทั่วไปแล้วหลักทรัพย์หรือตราสาร CDS นั้น ผู้ขายเป็นกองทุนหรือสถาบันการเงินที่หวังค่าธรรมเนียมจากการขายหลักทรัพย์ดังกล่าว

.
CDS: ทุกอย่างประกันได้แม้แต่เครดิต

CDS เป็นตราสารอนุพันธ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อประกันภัยความเสี่ยงจากเครดิต โดยในสัญญาซื้อขาย CDS นั้น ผู้ซื้อ CDS มีหน้าที่ข่ายเงินค่าเบี้ยประกันให้กับผู้ขายโดยมีข้อตกลงว่าหากบริษัทหรือสถาบันการเงินหรือบริษัทใดที่เป็นลูกหนี้นั้นเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากเครดิตลดลงแล้ว ผู้ขาย CDS จะเป็นผู้จ่ายเงินตอบแทนต่อผู้ซื้อ CDS ตามที่ตกลงกันไว้

.
หมองูตายเพราะงู หมอเงินก็ต้องตายเพราะเงิน

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่ากระบวนการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกานั้นมีความสลับซับซ้อนมากนะครับ เพราะมีการเล่นแร่แปรธาตุกันจนน่าเวียนหัว แต่อย่างไรก็ตามไอ้การซิกแซกนี่เองแหละครับที่ทำให้ประเทศต้นตำรับเรื่องนวัตกรรมทางการเงินต้องมาตกม้าตายจนได้เข้าทำนองภาษิตที่ว่า “หมองูตายเพราะงู…หมอเงินก็ต้องตายเพราะเงิน” 

.

เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย บ้านและที่ดินเริ่มขายไม่ได้ประกอบกับเกิดการผลิตที่ล้นเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ (Oversupply) ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัวลง ฟองสบู่จากการเก็งกำไรได้แตกลงแล้ว แน่นอนที่สุดว่ากลุ่มลูกค้าซับไพรม์ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ ผลที่ตามมาคือเกิดหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  

.

ด้วยเหตุนี้หลักทรัพย์ที่เป็น MBS และ CMO ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำคัญของสถาบันการเงินจึงเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อภาวการณ์ “ขาดทุน” ของสถาบันการเงินที่ลงทุนในตราสารอนุพันธ์กลุ่มนี้ ท้ายที่สุดสถาบันการเงินเหล่านี้ต้องหาทางเพิ่มทุนเพื่อสร้างหลักประกันให้กับเจ้าหนี้ว่าเงินของพวกเขาไม่ได้หายไปฟรี ๆ

.

แต่เรื่องกลับไม่จบแค่นี้สิครับ เมื่อสถาบันการเงินที่ขาดทุนจากการถือ MBS และ CMO ใช้สิทธิที่ได้จากการถือตราสารอนุพันธ์ประเภท CDS เรียกร้องการประกันความเสี่ยงของหลักทรัพย์อันเนื่องมาจากเครดิตลดลง ทำให้ผู้ขาย CDS ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะต้องหาเงินมาจ่ายค่าประกันซึ่งเมื่อสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งเกิดนัดขาดทุนพร้อม ๆ กัน ผู้รับประกันความเสี่ยงจากเครดิตลดลงจึง “งานเข้า” เสียแล้วล่ะครับ เนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเพื่อรองรับภาวการณ์ขาดทุนพร้อม ๆ กันของผู้เอาประกันได้

.

และนี่เองที่เป็นที่มาของการยื่นขอล้มละลายของวาณิชธนกิจระดับพี่เบิ้มอย่าง “เลห์แมน บราเธอร์ส” ตามมาด้วย แบร์ สเติร์นส์ (Bear Stearns) อีกหนึ่งบิ๊กแห่งวงการวาณิชธนกิจโลกซึ่งต่อมาถูกซื้อกิจการไปด้วย เจพี มอร์แกน เชส (JP Morgan Chase)

.

เลห์แมน บราเธอร์ส
ตำนานของวาณิชธนกิจที่เหลือแต่อดีต

.

การล้มลงของเลห์แมน บราเธอร์ส ยังแผ่ขยายผลกระทบไปยังทวีปยุโรปอีกโดย ไฮโป เรียล เอสเตท (Hypo Real Estate) ธนาคารเยอรมนีที่มีวัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อกิจการอสังหาริมทรัพย์เกือบต้องล้มละลายตามเลห์แมน บราเธอร์ส ไป ดีที่ธนาคารกลางเยอรมนีเข้าประคองไว้ก่อน

.

นอกจากนี้ธนาคารแบรดฟอร์ด แอนด์ บิงก์เลย์ ของอังกฤษ ธนาคารเดกซ์เซีย ธนาคารฟอร์ติส ธนาคารกลิทเนอร์ของไอซ์แลนด์ ล้วนแล้วแต่เป็น “เหยื่อ” ของ Hamburger Crisis ในเวลาต่อมา และเมื่อสำรวจดูสินทรัพย์ที่ธนาคารเหล่านี้ถือแล้วพบว่าหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ลงทุนคือ CDO นั่นเอง

.

ผลพวงยังลุกลามไปยังวงการประกันภัยซึ่งบริษัทประกันภัยอันดับหนึ่งของโลกอย่าง AIG (American International Group) กลายเป็นบริษัทที่หมดสภาพเนื่องจากประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจนทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องเข้าควบคุมกิจการเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 2008 ที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทประกันชีวิตเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีอายุร้อยกว่าปีอย่าง Yamato Life Insurance ยังต้องประกาศยื่นขอล้มละลายเนื่องจากบริษัทนำเงินลงทุนจำนวนมากไปซื้อตราสารที่ออกโดยสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา

.

วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวทำลายสถิติต่ำสุด (New Lowest) แทบทุกสัปดาห์ เศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้เกิดการว่างงานสูงขึ้น มีการปลดคนงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อราคาในตลาดโภคภัณฑ์ (Commodity Market) ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว น้ำมัน ทองคำ ยางพารา 

.

แม้ว่าโลกในศตวรรษที่ 21 จะเต็มไปด้วยโอกาสในการทำการค้า การลงทุนและการทำธุรกิจโดยอาศัยพลังจากโลกาภิวัตน์เป็นสะพานในการเชื่อมให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ในมุมกลับกันเมื่อเวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาแต่ละรอบ พลังแห่งโลกาภิวัฒน์ก็พร้อมจะฉุดให้เศรษฐกิจของทุกประเทศดิ่งเหวไปพร้อม ๆ กัน…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

ภาพและเอกสารประกอบการเขียน

1. www.wikipedia.org
2. ไล่ล่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก เรียนรู้เพื่ออยู่รอด, ผศ.ดร.รวี ลงกานี