เนื้อหาวันที่ : 2007-01-25 16:07:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3850 views

มหันตภัย : ไข้หวัดนก

ต้องยอมรับกันว่า ไข้หวัดนก เป็น มหันตภัย ที่คุกคามทั้งสุขภาพพลานามัยของผู้คนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยแท้ ที่พูดถึงขนาดนี้ ก็เพราะไทยเราส่งออกไก่มากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองลงมาจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล มีมูลค่าการส่งออกมาถึงปีละ 40,000–50,000 ล้านบาท หรือในราว 3,300–4,100 ล้านบาทต่อเดือน และเจ้าไก่นี่ละ ที่ถือเป็นพระเอก ของโครงการครัวของโลกของบ้านเรา เพราะการส่งออกไก่ถือเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของเรา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้คาดว่าสถานการณ์ไข้หวัดนก จะทำให้ยอดส่งออกไก่ลดลงถึงเดือนละ 3,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก ของกระทรวงสาธารณสุขมาฝากกัน แต่ก่อนจะไปถึงแนวทางที่ว่า ก็ขอกล่าวถึงความเป็นมา สาเหตุ และอาการของโรคนี้สักเล็กน้อย เพื่อความเข้าใจ จะได้ไม่วิตกจริตจนเกินเหตุ เมื่อพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเป็นไข้ไม่สบายในช่วงนี้นั่นเอง

.

1. เชื้อโรคไข้หวัดนก 

 โรคไข้หวัดนก หรือ BIRD FLU เป็นโรคติดต่อของสัตว์ประเภทนก เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนก ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคในธรรมชาติ ตามปกติโรคนี้ติดต่อมายังคนได้ไม่ง่ายนัก แต่คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่เป็นโรคอาจติดเชื้อได้ มีรายงานการเกิดโรคในคนครั้งแรกในปี 2540 เมื่อเด็กชายชาวฮ่องกงวัย 3 ขวบ เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่อย่างกระทันหันจากการติดเชื้อไวรัสไก่ ในคราวที่เกิดโรคระบาดของสัตว์ปีกในฮ่องกง

.

ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza หมายถึง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม (Envelope) โดยมี Surface Antigens ที่สำคัญ ได้แก่ Hem agglutinin (H) มี15 ชนิด และ Neuraminidase (N) มี 9 ชนิด เชื้อไวรัส Influenza แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

.

กลุ่ม A : แบ่งย่อยเป็นหลาย Subtypes ตามความแตกต่างของ H และ N Antigens พบในคนและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ดังนี้

- คน ปกติพบ 3 ชนิดได้แก่ H1N1, H2N2, H3N2 ส่วน H5N1 หรือไข้หวัดนกนั้นเพิ่งพบเป็นครั้งแรกในปี 2540 ตามที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น

- สุกร พบ 3 ชนิดได้แก่ H1N1, H1N2 และ H3N2

- ม้า พบ 2 ชนิดได้แก่ H3N8 และ H7N7

- สัตว์ปีก พบทุกชนิดได้แก่ H1-15 และ N1-9

กลุ่ม B : ไม่มี Subtype พบเฉพาะในคน

กลุ่ม C : ไม่มี Subtype พบในคนและสุกร

.

เชื้อไวรัสนี้มีเปลือกหุ้มจึงถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน (เช่น ที่อุณหภูมิ 56C นาน 3 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 60C นาน 30 นาที เป็นต้น) และสารเคมีต่าง ๆ เช่น สารที่มีคุณสมบัติในการละลายไขมัน (Lipid Solvents), ฟอร์มาลีน (Formalin), Betapropiolactone, Oxidizing Agents, Sodium Dodecylsulfate, Hydroxylamine, Ammonium Ions และ Iodine Compounds แต่เชื้อนี้สามารถคงอยู่ได้นานในสิ่งขับถ่าย เช่น น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ เป็นต้น

.

แถมเชื้อนี้ยังสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงทาง Antigenicity ได้ง่าย โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ยีนเพียงเล็กน้อย (Antigenic Drift) หรือมีการเปลี่ยนยีนในกรณีที่เซลล์มีการติดเชื้อ 2 Subtype ที่แตกต่างกัน กลายเป็น Subtype ใหม่ (Antigenic Shift) พูดง่าย ๆ ว่ามันกลายพันธุ์ได้นั่นเอง

.

การติดเชื้อในสัตว์ปีก (Avian Influenza) แบ่งออกเป็น

1.Apathogenic and Mildly Pathogenic Avian Influenza เป็นชนิดที่ไม่แสดงอาการ และที่ทำให้มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย พบได้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอาจมีสาเหตุจากเชื้อชนิด H1-15

2.Highly Pathogenic Avian Influenza (HPAI) หรือเดิมเรียกว่า Fowl Plague เป็นชนิดที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากมีอัตราการตายสูง มีรายงานการระบาดในบางประเทศเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ประเทศยุโรป ออสเตรเลีย ฮ่องกง และปากีสถาน ในประเทศไทยไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้ แม้ว่าจะเป็นโรคในพระราชบัญญัติโรคสัตว์ พ..2499 ก็ตาม

.

ความแตกต่างของ Basic Amino Acids (Lysine, Arginine) ระหว่างเชื้อชนิดไม่รุนแรงและชนิดรุนแรงมากนี่เอง ที่ทำให้ความสามารถในการเจริญเติบโตของเชื้อในร่างกายสัตว์แตกต่างกัน เชื้อชนิดไม่รุนแรงสามารถเจริญได้ในเซลล์ของทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารเท่านั้น แต่เชื้อชนิดรุนแรงมากสามารถเจริญในเซลล์อวัยวะอื่น ๆ ได้ จึงทำให้เกิดอาการป่วยอย่างรุนแรง การแพร่เชื้อจากสัตว์ที่ติดเชื้อทางสิ่งขับถ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะทางอุจจาระของนกเป็ดน้ำ ซึ่งมักเป็นตัวอมเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ (หรือที่ศัพท์วิชาการเรียกว่า แหล่งรังโรค’) ทำให้มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำได้เป็นเวลานาน ซึ่งจากการระบาดครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค..1983-1984 ได้มีรายงานการพบเชื้อทั้งที่เปลือกไข่และภายในไข่จากแม่ไก่ที่ติดเชื้อ

.

การติดต่อในสัตว์เกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วยและสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วย และทางอ้อมจากเชื้อที่ปนเปื้อนในน้ำ อาหาร เสื้อผ้า รองเท้า พาหนะ และอื่น ๆ ระยะการฟักตัวของโรคอาจสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 3 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ วิธีการที่ได้รับเชื้อ จำนวนเชื้อ และชนิดของสัตว์ ส่วนอาการของโรคจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดสัตว์ อายุ สภาวะความเครียด โรคแทรกซ้อน และอื่น ๆ เชื้อที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในสัตว์ปีกชนิดหนึ่งอาจไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ ในสัตว์ปีกอีกชนิดหนึ่ง

.

อาการที่พบโดยทั่วไป ได้แก่

- ซูบผอม ซึมมาก ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไข่ลด

- ไอ จาม หายใจลำบาก น้ำตาไหลมาก หน้าบวม หงอนมีสีคล้ำ

- อาจมีอาการของระบบประสาท และท้องเสีย

- รายที่รุนแรงจะตายกระทันหันโดยไม่แสดงอาการ (อัตราตายอาจสูงถึง 100%)

.

ส่วนลักษณะผิดปกติที่พบ จะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ชนิดสัตว์ และปัจจัยอื่น ๆ เช่นเดียวกัน ในรายที่รุนแรงและตายทันทีอาจไม่พบลักษณะผิดปกติใด ๆ ลักษณะผิดปกติที่มักพบในไก่และไก่งวง ได้แก่

- ซากผอมแห้ง

- มีการบวมน้ำใต้ผิวหนังที่ส่วนหัวและคอ

- ตาอักเสบบวมแดง และอาจมีจุดเลือดออก

- หลอดลมอักเสบรุนแรงมีเมือกมาก

- มีจุดเลือดออกที่กระเพาะแท้ โดยเฉพาะตรงรอยต่อกับกึ๋น

- มีการลอกหลุดและจุดเลือดออกที่ผนังของกึ๋น

- ไตบวมแดงและอาจพบยูเรตที่ท่อไต

.

สำหรับโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกัน มีดังนี้

- อหิวาต์ไก่ชนิดรุนแรง

- นิวคาสเซิล

- กล่องเสียงและหลอดลมอักเสบติดต่อ

- การติดเชื้อมัยโคพลาสม่า และแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ

.

นอกจากนกเป็ดน้ำแล้ว สัตว์รังโรคโดยธรรมชาติ ก็ได้แก่บรรดานกอพยพ และนกตามธรรมชาติทั้งหลายนั่นเอง ส่วนเป็ด ไก่ในฟาร์มและในบ้านสามารถติดเชื้อและแสดงอาการป่วยได้

.

2. วิธีการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน

คนสามารถติดเชื้อจากสัตว์ได้ทั้งทางตรงจากการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง และทางอ้อมจากการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ที่เป็นโรคเช่นอุจจาระ น้ำมูก น้ำตา น้ำลายของสัตว์ป่วย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดต่อโรคนี้ระหว่างคนสู่คน

.
3. การควบคุมการระบาดของโรค

3.1 มาตรการสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมือง

- ควบคุมการเข้า-ออก ของคน สัตว์ ไม่ให้ยานพาหนะและคน โดยเฉพาะรถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ รถรับซื้อขี้ไก่ รวมถึงคนรับซื้อไก่ ไข่ หรือ ขี้ไก่เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้าน

- งดซื้อไก่จากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาเลี้ยง

- รักษาความสะอาดในโรงเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม

- ไม่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเช่นแม่น้ำลำคลอง เลี้ยงไก่ หากจำเป็นให้ผสมยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน

- หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 5 เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ด้วย แล้วราดด้วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

- ก่อนเข้าไปในฟาร์ม สัมผัสสัตว์ป่วย ซากสัตว์ที่ตาย หรือทำลายสัตว์ ควรสวมผ้าพลาสติกกันเปื้อน ผ้าปิดปาก จมูก ถุงมือ หมวก หลังเสร็จงานรีบอาบน้ำด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว พลาสติก หรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือต้องถอดทิ้ง หรือนำไปซักหรือล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้อีก 

- ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดโดยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณฟาร์ม กรง เล้า พื้นคอก และรอบ ๆ เช้า เย็น ทุกวัน

.

3.2 มาตรการสำหรับฟาร์มไก่เนื้อและไก่ไข่

- ห้ามนำยานพาหนะต่าง ๆ โดยเฉพาะรถส่งอาหารไก่ รถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ หรือ รถรับซื้อขี้ไก่ เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้านโดยไม่จำเป็น หากต้องเข้าฟาร์มต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโรคฉีดพ่นยานพาหนะทุกครั้งก่อนเข้า และออกจากฟาร์ม

- ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนคนที่เข้าออกฟาร์ม โดย

- ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโดยไม่จำเป็น

- บุคคลที่ต้องเข้า-ออกฟาร์ม ต้องจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม และให้เปลี่ยนรองเท้าของฟาร์มที่เตรียมไว้

- ไม่ควรเข้าไปในฟาร์มอื่นเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากฟาร์มอื่นเข้ามาในฟาร์ม

- รักษาความสะอาดในโรงเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม 

- ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนไข่ และถาดไข่ในฟาร์มไข่ไก่โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ไข่และถาดไข่ทุกครั้งที่นำเข้าฟาร์ม

- หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อรับซื้อไก่ที่เหลือในฟาร์มและปฏิบัติตามคำแนะนำของปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อมาสู่สัตว์อื่น ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ที่ตายลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 5 เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ แล้วราดด้วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

.

3.3 ผู้รับซื้อสัตว์ปีก

- ต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ตัวรถ ล้อรถ และกรงใส่สัตว์ปีกให้ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม หลังจากนำสัตว์ปีกส่งโรงฆ่าแล้ว

- เมื่อซื้อสัตว์ปีกที่ใดแล้ว ไม่ควรแวะซื้อที่อื่นอีก หากจำเป็นไม่ควรควรนำยานพาหนะเข้าไปในฟาร์ม และต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่เสื้อผ้า รองเท้าและตัวคนจับสัตว์ปีก 

- อย่าซื้อสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือสัตว์ปีกจากฟาร์มที่มีสัตว์ปีกตายมากผิดปกติ   

.

3.4 โรงฆ่าสัตว์ปีก

- ต้องงดซื้อสัตว์ปีกป่วยเข้าฆ่า 

- ถ้ามีสัตว์ปีกตายให้ทำลายด้วยการฝัง เผา ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่บริเวณโรงฆ่า ทุกซอกทุกมุมหลังเสร็จสิ้นการฆ่าสัตว์ปีกทุกครั้ง 

- หากพบสัตว์ปีกหรือเครื่องในมีความผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร็ว

.
4. วิธีการทำลายเชื้อ

4.1 ยานพาหนะ

- ใช้น้ำฉีดแรงดันสูงเพื่อทำความสะอาดของยานพาหนะ

- พ่นยาฆ่าเชื้อบนรถและล้อรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มฟอร์มัลดีไฮด์ กลุ่มกลูตาราลดีไฮด์ กลุ่มควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลุ่มฟีนอล หรือสารประกอบคลอรีน

.
4.2 วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเรือน แช่อุปกรณ์ต่าง ๆ ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มคลอรีน กลุ่มควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลุ่มฟีนอลหรือกลุ่มกลูตาราลดีไฮด์
4.3 โรงเรือน ฉีดพ่นบริเวณโรงเรือนและรอบโรงเรือนทุกวัน เช้า-เย็น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกับที่ใช้ฉีดพ่นยานพาหนะ
.

4.4 ถาดไข่

- แช่ถาดไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มน้ำสบู่เข้มข้น ผงซักฟอก สารประกอบคลอรีน สารประกอบควอเตอร์นารีแอมโมเนียมหรือสารประกอบฟีนอล เป็นระยะเวลานาน 10-30 นาที หรือ

- รมควันถาดไข่ในห้องแบบปิด หรือใช้ผ้าพลาสติกคลุม โดยใช้ฟอร์มาลีน 40 % ผสมกับด่างทับทิม ในอัตราส่วนฟอร์มาลีน 50 มล. ต่อ ด่างทับทิม 10 กรัม ในพื้นที่ขนาด 2 x 2 x 2 เมตร เป็นระยะเวลา 24 ชม.

.

4.5 ไข่

- จุ่มไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มไฮโปคลอไรด์ หรือสารประกอบฟีนอล

- รมควันโดยใช้วิธีเดียวกับถาดไข่

.

5. การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก

แม้จะไม่เคยปรากฏหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอดีตที่ผ่านมา แต่นักการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากเชื้อไข้หวัดนกในคนเกิดการกลายพันธุ์อันเนื่องมาจากการผสมสารพันธุกรรมกับไข้หวัดที่พบในคน (Reassortment) ก็อาจจะเกิดการติดต่อจากคนสู่คนได้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic)

.
จึงได้มีมาตรการทางด้านการเฝ้าระวังโรค โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายของการระวังโรคเป็น 3 ระดับดังนี้

5.1 ผู้ป่วยที่สงสัย (Suspect) ได้แก่ ผู้ที่มีอาการหรืออาการแสดงต่อไปนี้

- ไข้ (อุณหภูมิกายมากกว่า 38 ° C) ร่วมกับ

- อาการอย่างใดอย่างหนึ่งอันได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ, ไอ, หายใจผิดปกติ (หอบ, ลำบาก), แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นปอดบวม ร่วมกับ

- ประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย/ตาย โดยตรงในระยะ 7 วันที่ผ่านมา หรือมีการตายของสัตว์ปีกอย่างผิดปกติในพื้นที่ซึ่งอาศัยอยู่ เช่น ในหมู่บ้าน ในตำบล หรือตำบลใกล้เคียง

.

5.2 ผู้ป่วยที่น่าจะเป็น (Probable) ได้แก่ ผู้ป่วยที่สงสัยตามนิยามข้างต้นร่วมกับการตรวจดังต่อไปนี้

- ความผิดปกติของปอดที่ชัดเจนและมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวลง แม้จะให้การรักษาด้วยยาปฎิชีวนะ (Broad Spectrum Antibiotics) ร่วมกับ

- ได้ทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบการติดเชื้ออื่นที่จะอธิบายอาการป่วยได้

.

5.3 ผู้ป่วยที่ยืนยัน (Confirm) ได้แก่ ผู้ป่วยที่น่าจะเป็นและมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติต่อไปนี้สนับสนุน

- เพาะเชื้อพบ Influenza A ที่ไม่ใช่ H1 หรือ H2 หรือ H3

- ตรวจ PCR ด้วยห้องปฏิบัติการมาตรฐานยืนยันว่าเป็น Influenza A ที่ไม่ใช่ H1 หรือ H2 หรือ H3

.
6. การรักษาโรคในคน

เหมือนกับการรักษาไข้หวัดใหญ่ทั่วไป คือ ใช้ยา Amantadine Hydrochloride หรือยา Rimantadine Hydrochloride ภายใน 48 ชั่วโมง นาน 3-5 วัน จะช่วยลดอาการและจำนวนเชื้อไวรัสชนิด A ในสารคัดหลั่งที่ทางเดินหายใจได้ ขนาดยาที่ใช้ ในเด็กอายุ 1-9 ปี ให้ขนาด 5 มก./กก./วัน แบ่งให้ 2 ครั้ง นาน 2-5 วัน ผู้ป่วยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่การทำงานของตับหรือไตผิดปกติ ต้องลดขนาดยาลง

.
7. แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก

7.1 ผู้บริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่

- เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร การบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งเนื้อไก่และไข่ไก่ โดยทั่วไปจึงควรรับประทานเนื้อที่ปรุงให้สุกเท่านั้น เนื่องจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ จะถูกทำลายไปด้วยความร้อน

- เนื้อไก่และไข่ไก่ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดในขณะนี้ ถือว่ามีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น งดการประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ

- เลือกรับประทานไข่ที่ปรุงสุกอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาโรคระบาดในไก่

.

7.2 ผู้ประกอบอาหาร

ผู้ประกอบอาหารทั้งเพื่อการจำหน่ายและแม่บ้านที่เตรียมอาหารในครัวเรือน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อจากอาหาร กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นการป้องกัน ดังนี้

- ควรเลือกซื้อเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่จากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐาน หรือร้านค้าประจำ และเลือกซื้อไก่สดที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจตายด้วยโรคติดเชื้อ เช่น มีเนื้อมีสีคล้ำ มีจุดเลือดออก เป็นต้น สำหรับไข่ ควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่และไม่มีมูลไก่ติดเปื้อนที่เปลือกไข่ ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาด

- ไม่ใช้มือที่เปื้อนมาจับต้องจมูก ตา และปาก และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน

- ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่ และมีเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือผัก ผลไม้ โดยเฉพาะไม่ใช้เขียงเดียวกัน

.

7.3 ผู้ชำแหละไก่

ผู้ชำแหละไก่อาจมีความเสี่ยงจากการติดโรคจากสัตว์ จึงควรระมัดระวังขณะปฏิบัติงาน ดังนี้

- ต้องไม่ซื้อไก่ที่มีอาการผิดปกติจากการติดเชื้อ เช่น ซึมหงอย ขนฟู หน้า หงอน หรือเหนียงบวมคล้ำ มีน้ำมูก หรือขี้ไหล เป็นต้น หรือไก่ที่ตายมาชำแหละขาย

- ไม่ขังสัตว์ปีกจำพวก ไก่ เป็ด ห่าน ฯลฯ ที่รอชำแหละไว้ในกรงใกล้ ๆ กัน เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เชื้อโรคกลายพันธุ์ จนอาจเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เป็นอันตรายทั้งต่อคนและสัตว์ได้

- ควรทำความสะอาดกรงและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำผงซักฟอก และนำไปผึ่งกลางแดดจัด ๆ นอกจากนั้นอาจราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเดือนละ 1- 2 ครั้ง

- หากสัตว์ที่ชำแหละมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออก มีน้ำหรือเลือดคั่ง หรือจุดเนื้อตายสีขาวที่เครื่องใน หรือเนื้อมีสีผิดปกติ ต้องไม่นำไปจำหน่าย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจสอบทันที่ เพราะอาจเป็นโรคระบาด

- ต้องล้างบริเวณชำแหละสัตว์ให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก และควรราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการชำแหละไก่

- ผู้ชำแหละไก่ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ

- รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง

.

7.4 ผู้ขนย้ายสัตว์ปีก

ผู้ขนย้ายสัตว์ปีกควรระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดโรคจากสัตว์ และป้องกันการนำเชื้อจากฟาร์มหนึ่งไปยังแพร่ยังฟาร์มอื่น ๆ จึงควรเน้นการปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

- งดซื้อสัตว์จากฟาร์มที่มีสัตว์ตายมากผิดปกติ

- เมื่อขนส่งสัตว์เสร็จในแต่ละวัน ต้องรีบล้างทำความสะอาดรถให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก สำหรับกรงขังสัตว์ควรราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

- ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ

- รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิมและเครื่องป้องกันร่างกาย ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง

.

7.5 เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่

เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ รวมทั้งผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการะบาด เป็นกลุ่มประชาชนที่เสี่ยงต่อการติดโรคจากสัตว์ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

- เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ ต้องป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนกทุกชนิด และสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู เป็นต้น เข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาแพร่ให้ไก่ได้ นอกจากนั้นจะต้องรักษาความสะอาดในโรงเรือนให้ดีอยู่เสมอ และหากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ต้องไม่นำไก่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย และทำการกำจัดทิ้งตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เช่น อาจฝังให้ลึกแล้วราดน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือปูนขาว หรือนำไปเผา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อมาสู่สัตว์หรือคน

- ผู้ที่เลี้ยงสัตว์หรือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการระบาด ไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจับต้องสัตว์ป่วย หรือซากสัตว์ที่ตาย

- รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ เสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง

.
7.6 การป้องกันโรคให้แก่เด็ก

- เนื่องจากเด็กมักมีนิสัยชอบเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงรวมทั้งไก่และนก และหากติดเชื้อไข้หวัดนกมักป่วยรุนแรง ดังนั้นในช่วงที่มีโรคระบาดในสัตว์ปีก มีสัตว์ตายมากผิดปกติ พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรระมัดระวังดูแลเด็กให้ใกล้ชิด และเตือนไม่ให้เด็กอุ้มไก่หรือนก จับต้องซากสัตว์ที่ตาย และต้องฝึกสุขนิสัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์

- หากเด็กมีอาการป่วย สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว โดยทั่วไปเมื่อได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง เด็กจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2 ถึง 7 วัน ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการหอบ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

.
7.7 คำแนะนำทั่วไปในการรักษาสุขภาพและพฤติกรรมอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ

ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน รวมทั้งผักและผลไม้ งดบุหรี่และสุรา นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงอากาศเย็น ควรสวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น

- หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ เป็นต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งแพทย์ด้วยว่าทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือมีประวัติสัมผัสซากสัตว์

.
7.8 ข้อแนะนำขั้นตอนการล้างตลาดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลในช่วงการเกิดโรคระบาด

- ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคติดต่อ ควรล้างตลาดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

- กวาดหยากไย่ หรือ เศษสิ่งสกปรกที่ติดบน ฝาผนัง โคมไฟ พัดลม

- เจ้าของแผงทำความสะอาดแผง และร่องระบายน้ำเสีย กวาดเศษขยะไปรวมทิ้งไว้ในบริเวณพักขยะ หรือในที่ที่จัดไว้ รวมทั้งกำจัดแมลงและสัตว์นำโรคที่อาศัยอยู่ในบริเวณตลาดด้วย

- บนแผงหรือพื้นที่ที่คราบไขมันจับ ใช้น้ำผสมโซดาไปราดลงบนพื้นหรือแผง ทิ้งไว้นาน 15-30 นาที และใช้แปรงลวดถูช่วยในการขจัดคราบไขมัน ส่วนบริเวณอื่นใช้ผงซักฟอกช่วยในการล้างทำความสะอาด (โซดาไฟ ใช้ชนิด 96% ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1/2 ปีบ ในบริเวณที่ไขมันจับตัวหนา และ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1/2 ปีบ ในบริเวณที่ไขมันน้อย)

- ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างบนแผง ทางเดิน ฝาผนังและกวาดล้างลงสู่ร่องระบายน้ำเสีย เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก โซดาไฟหรือผงซักฟอกให้หมด

- ใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ปีบ) ใส่ลงในบัวรดน้ำ และรดบริเวณแผง ทางเดิน ร่องระบายน้ำเสียให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาวให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจาง แล้วราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว โดยเฉพาะแผงขายสัตว์ปีก ควรฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนทุกวัน

- บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะ และก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาด ต้องล้างทำความสะอาดโดยใช้ผงซักฟอกช่วยและล้างด้วยน้ำสะอาด

- บริเวณที่พักขยะต้องเก็บรวบรวมขยะไปกำจัดให้หมด แล้วล้างทำความสะอาดและทำการฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกับข้อ 6

.

ติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ โรคไข้หวัดนก Click เข้าไปดูได้ที่

- เว็บไซต์กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : http://www.dld.go.th/home/bird_flu/bird_flu.html

- เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข  : http://www.moph.go.th

- เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ : http://www.manager.co.th

- เว็บไซต์รายการถึงลูกถึงคน : http://www.mcot.net/tltk

.
ข้อมูลอ้างอิง

- โรคไข้หวัดนก (BIRD FLU) โดย สัตวแพทย์หญิงอารุณี ชัยสิงห์ กลุ่มไวรัสวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

- Fact Sheet : โรคไข้หวัดนก Avian Influenza (Bird Flu) โดย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

- การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) โดย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

- คำแนะนำสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก โดย กระทรวงสาธารณสุข

- ลำดับเหตุการณ์การระบาดของไข้หวัดนก  โดย ผู้จัดการออนไลน์