เนื้อหาวันที่ : 2010-04-26 08:37:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2611 views

ความปลอดภัยกับพลังงานนิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา

จากประสบการณ์ที่สหรัฐฯ เคยใช้นิวเคลียร์เป็นอาวุธในสงครามโลกครั้งที่สอง และอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้า ทำให้ทั่วโลกต่างหวาดผวา หวั่นกลัวในอานุภาพของพลังงานนิวเคลียร์ แต่สหรัฐฯ กลับไม่ลดละความพยายามที่จะพัฒนา และสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่อย่างใด

ดร.กมล ตรรกบุตร

.

.

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่เคยใช้พลังงานนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วโลกติดภาพในเชิงลบของอนุภาพของพลังงานนิวเคลียร์

.

หลังสงครามโลก สหรัฐฯได้หันมาพัฒนาการใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ กล่าวคือการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชิงพาณิชย์โรงแรกได้เริ่มใช้งานเมื่อ 50 ปีที่แล้วในปี ค.ศ. 1960  สำหรับในช่วงกลางศตวรรษ 1960 ถึงกลางศตวรรษ 1970 นั้นถือเป็นช่วงเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

.

โดยมีแผนการก่อสร้างเป็นจำนวนมากถึง 200 กว่าโรงทั่วประเทศ จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่โรงไฟฟ้าทรีไมล์ไอส์แลนด์ ในปี 1979 เป็นเหตุให้หลายโครงการในช่วงนั้นต้องถูกยกเลิกและเลื่อนกำหนดออกไป เนื่องจากความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย และการเปลี่ยนแปลงวิธีการออกใบอนุญาต 

.

ส่งผลให้อุตสาหกรรมทางด้านนิวเคลียร์ต้องถูกหยุดชะงักไปเป็นเวลาถึงสามสิบกว่าปี แต่ถึงกระนั้น สหรัฐอมริกาก็ยังเป็นประเทศที่มีจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงาน  นิวเคลียร์มากที่สุดในโลกถึง 104 โรง ใน 31 รัฐ คิดเป็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ 20% ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ และ 30% ของพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก

.

ในปัจจุบันได้มีการยื่นขออนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ถึง 17 โครงการ เพื่อก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ 26 เครื่อง อีกทั้ง เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ประกาศอนุมัติการประกันเงินกู้ให้กับโรงไฟฟ้าที่กำลังจะสร้างใหม่สองแห่งมูลค่า 8.3 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าจะประกาศดำเนินการสำหรับโครงการอื่นๆอีกใน 2-3 เดือนจากนี้ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา

.

สำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทางด้านการผลิตเชื้อเพลิง ในประเทศสหรัฐอเมริกาถือได้ว่ามีครบวงจร ได้แก่ การทำเหมืองยูเรเนียมและการแปรสภาพ (Uranium Mining and Milling) การเปลี่ยนสภาพ (Conversion) การเสริมสมรรถนะ (Enrichment) และการประกอบแท่งเชื้อเพลิง (Fuel Fabrication)

.

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีแหล่งแร่ยูเรเนียมอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก แต่แร่ยูเรเนียมที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในสหรัฐโดยส่วนใหญ่นั้นเป็นการนำเข้า จากคานาดา ออสเตรเลีย และรัฐเซีย 

.

โดยครึ่งหนึ่งนั้นมาจากโครงการเชื้อเพลิงระเบิดนิวเคลียร์ของรัฐเซีย ซึ่งมีกระบวนการนำแร่ยูเรเนียมในระเบิดที่มีความเข้มข้นสูงมาทำการเจือจางให้มีความเข้มข้นต่ำเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า (ยูเรเนียมสำหรับระเบิดนิวเคลียร์ต้องมีความเข้มข้นมากกว่า 90% แต่ยูเรเนียมสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความเข้มข้นเพียง 3-5%)

.

ภาพที่ 1 โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา

.

ภาพที่ 2 แหล่งแร่ยูเรเนียมในสหรัฐอเมริกา

.

ที่ผ่านมามีทั้งชาวสหรัฐที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ  โดยเมื่อย้อนไปดูผลสำรวจในปี 1983 พบว่า มีเพียง 49% ที่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้า  แต่จากการที่มีการควบคุมการดำเนินการอย่างปลอดภัยตลอดช่วงระยะเวลายี่สิบกว่าปีมานี้

.

ประกอบกับประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานและปัญหาโลกร้อน จึงเป็นผลให้ความนิยมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยชาวสหรัฐเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีบทบาทสำคัญสำหรับความต้องการไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งจากผลการสำรวจล่าสุดพบว่า 74% เห็นด้วยกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดตั้งแต่ทำการสำรวจมา

.
อ้างอิง

1. US Nuclear Fuel Cycle (http://www.world-nuclear.org/info/inf41_US_nuclear_fuel_cycle.html)
2. Nuclear Power in the USA (
http://www.world-nuclear.org/info/inf41.html)
3. US Nuclear Power Policy (
http://www.world-nuclear.org/info/inf41_US_nuclear_power_policy.html)
4. US public support for nuclear at record high, World nuclear News (April 1,2010)

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน