เนื้อหาวันที่ : 2010-04-23 11:55:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2546 views

เชื่อมการศึกษากับงาน ปรับสมดุลโครงสร้างแรงงานแก้วิกฤติ

ทีดีอาร์ไอเผยประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาคนว่างงานไปพร้อมกับการขาดแคลนแรงงาน เหตุแผนการผลิตกำลังคนไร้ทิศทาง ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

.

ทีดีอาร์ไอเผยประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาคนว่างงานไปพร้อมกับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะ กลุ่มแรงงานระดับล่างสุดและบนสุดกำลังขาดแคลนขั้นวิกฤติ เหตุเพราะแผนการผลิตกำลังคนไร้ทิศทาง ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

.

ทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ มีผู้เรียนจบมากทุกระดับการศึกษา แต่กระจุกตัวบางสาขาและมีปัญหาคุณภาพ ตลาดแรงงานขยายตัวมีความต้องการแต่หาคนทำงานไม่ได้ แนะเชื่อมโลกการเรียนและการทำงาน ปรับโครงสร้างแรงงานให้สมดุลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ 

.

รศ.ดร.ยงยุทธ์ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการผลิตกำลังคนของประเทศไทยมีปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการกำลังคนและการผลิตกำลังคนของประเทศ เนื่องจากมีการนำข้อมูลความต้องการแรงงานไปใช้ในการกำหนดแผนการผลิตน้อยเกินไป                             

.

สถาบันหรือสถานศึกษาต่างๆ เลือกผลิตกำลังคนไปตามขีดความสามารถทางทรัพยากรของตนเอง (Supply driven) มีการเปิดสอนในสาขาซ้ำ ๆ เหมือน ๆ กัน ทำให้มีจำนวนผู้จบการศึกษาออกมามาก แต่มีปัญหาด้านคุณภาพ แรงงานส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ เกิดปัญหาคนว่างงานไปพร้อมๆ กับการขาดแคลนกำลังคน 

.

ทั้งนี้จุดอ่อนของโครงสร้างแรงงานไทยคือการมีแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ เช่น ประกอบอาชีพส่วนตัวหรือช่วยงานครอบครัว มีรายได้ไม่แน่นอน มีผลต่อรายได้มวลรวมของประเทศ และมีโครงสร้างการจ้างงานที่ยังคงพึ่งพาแรงงานระดับล่างมากเกินไป 

.

โดยในปี 2551 มีการจ้างงานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า คิดป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของการจ้างแรงงานในทุกระดับการศึกษา(ประมาณ 21 ล้านคนจากวัยแรงงานทั้งหมด 36 ล้านคน) มีผู้ประกอบการที่ติดกับดักการใช้แรงงานที่มีการศึกษาต่ำ(ต่ำกว่า ม.ต้น) และไม่สามารถหลุดพ้นวัฏจักรนี้ไปได้ในเวลาอันใกล้นี้ 

.

จากที่กล่าวมาล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้องของความต้องการกำลังคนและการผลิตกำลังคนของประเทศ ซึ่งจะยังคงอยู่กับตลาดแรงงานไทยไปอีกหลายปี ในขณะที่กลุ่มแรงงานที่จบในระดับปริญญาตรีมีสัดส่วนการว่างงานสูงกว่าแรงงานในระดับการศึกษาอื่นๆ  

.

ซึ่งก็มีการผลิตมากเกินความต้องการของตลาดแรงงานในทุกระดับการศึกษา เกิดปัญหาว่างงาน และมากสุดในระดับปริญญาตรีที่มีผู้ว่างงานเฉลี่ยสะสมทุกปีร้อยละ 30 ของผู้จบการศึกษา ขณะที่ตลาดแรงงานขยายตัวมีความต้องการ มีตำแหน่งงานรองรับแต่ไม่สามารถสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าทำงานได้ 

.

ยืนยันจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องความต้องการแรงงานของสถานประกอบการ พ.ศ. 2551 พบว่าในระดับปริญญาตรีทุกสาขามีความต้องการ ทั้งหมดจำนวน 46,553 คน แต่ยังขาดแคลนอยู่ถึง 29,372 คน ขณะที่มีผู้ว่างงานในระดับนี้ถึง 91,192 คน เป็นความไม่สอดคล้องของอุปสงค์และอุปทานที่เกิดขึ้นได้ในทุกสาขาวิชาที่จบการศึกษาไม่ว่าจะเป็น สาขาคอมพิวเตอร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ หรือสาขาสังคมศาสตร์ 

.

ในปี 2551 ประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย เฉลี่ยเกือบปีละ 3 แสนคน ในขณะที่มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา (ปวช.และปวส.) เฉลี่ยเกือบปีละ 4 แสนคน แต่มีสัดส่วนการเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยมาก เนื่องจากต้องการเรียนต่อเพื่อให้ได้เงินเดือนที่สูงขึ้น       

.

สถานประกอบการจึงหันไปใช้แรงงานที่จบการศึกษาในระดับต่ำกว่าแทน (ต่ำกว่าม.ต้น) การใช้แรงงานกลุ่มนี้มีความตึงตัวมากเนื่องจากมีความต้องการมากเกินจำนวนแรงงาน โดยแรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการ จึงทดแทนด้วยการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายราว 2 ล้านคน  

.

ส่วนตลาดแรงงานในระดับปวช.เป็นตลาดแรงงานที่เล็กมาก มีความต้องการมากกว่าจำนวนแรงงานที่ผลิตได้เฉลี่ยปีละ 2-3 หมื่นคน ในขณะที่ตลาดแรงงานระดับปวส.มีแนวโน้มความต้องการ มากกว่าแรงงานระดับปวช. เพราะยอมทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาที่จบ ซึ่งนับเป็นการสูญเปล่าทางการศึกษาอย่างมาก

.

เมื่อดูความต้องการกำลังคนในภาคการผลิตและบริการ พบว่า สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานในทุกระดับการศึกษา โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปวช. และระดับปริญญาตรีเป็นระดับการศึกษาที่สถานประกอบการต้องการในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ประมาณ 4.7 หมื่นคน      

.

แต่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีมากเกินความต้องการจึงมีผู้ว่างงานในระดับนี้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาธุรกิจและการบริการมีจำนวนผู้ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ผู้ประกอบการต้องการเกือบ 2 เท่า และในระดับการศึกษาอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีการผลิตกำลังคนเกินกว่าความต้องการของผู้ประกอบการหรือคุณภาพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับนั้นๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ 

.

แต่ในทุกกลุ่มแรงงานยังมีช่วงห่าง (GAP)ระหว่างระดับความสามารถด้านต่างๆกับความคาดหวังของสถานประกอบการ ซึ่งแรงงานไทยยังขาดคุณสมบัติพื้นฐานที่สถานประกอบการต้องการอยู่มาก โดยเฉพาะความสามารถในด้านคอมพิวเตอร์ ภาษาต่างประเทศ และทักษะในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหา แต่ก็มีจุดเด่นที่นายจ้างพอใจ คือ ความขยัน อดทน มีระเบียบวินัยในการทำงาน          

.

“ปัญหาของโครงสร้างแรงงานไทยขณะนี้ คือ การขาดแคลนแรงงานระดับล่างสุดและแรงงานระดับสูงซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤติ จนต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทดแทน ส่วนการผลิตแรงงานของไทยยังมีปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และไม่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละภูมิภาคซึ่งมีจุดเน้นของความต้องการแรงงานแตกต่างกัน” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวพร้อมระบุว่า       

.

ทางออกของการแก้ไขปัญหาความไม่สอดคล้องของโครงสร้างแรงงานดังกล่าวคือต้องเชื่อมโลกการศึกษากับโลกของงานให้เป็นเรื่องเดียวกัน และวางแผนการผลิตกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในสาขาการเกษตร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาบริการ ซึ่งในอนาคตทิศทางการพัฒนาของโครงสร้างแรงงานไทยจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับทั่วโลก เน้นภาคการผลิตและบริการเป็นหลัก 

.

แรงงานสำคัญๆที่ต้องการจะอยู่ในด้านค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจบริการ โรงพยาบาล การขนส่งทางบกและตัวแทนธุรกิจการท่องเที่ยว การก่อสร้างและการผลิต สายอาชีพที่ขาดแคลนได้แก่ แรงงานในด้านการผลิต/แรงงานทั่วไป ผู้จัดการฝ่ายผลิต/ฝ่ายปฏิบัติการด้านการผลิต(อุตสาหกรรมผลิตต่าง ๆ เหมืองแร่ , ไฟฟ้า , ก๊าซและประปา) และพนักงานขับรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กและรถตู้ ฯลฯ

.

กลยุทธ์หนึ่งที่ควรนำมาใช้ด้านการศึกษา คือ การนำระบบการเรียนซ้ำชั้นหรือซ้ำวิชากลับมาใช้เพื่อเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้กับนักเรียน ส่วนในระดับอุดมศึกษาควรเน้นและเข้มงวดด้านคุณภาพมากกว่าจำนวน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับอุปสงค์อุปทานแรงงานที่น่าเชื่อถือและแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ รวมทั้งควรจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (Nation Qualifications Institute)ดูแลด้านมาตรฐานวิชาชีพ ภายใต้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (Nation Qualifications Framework ; NQF) ซึ่งควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ 

.

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้รับมอบหมายจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำการศึกษาความต้องการกำลังคนเพื่อวางแผนการผลิตและการพัฒนากำลังคนของประเทศ เพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ผลการศึกษาได้เสนอ 10 ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา การฝึกอบรม ยุทธศาสตร์เร่งด่วน และยุทธศาสตร์ด้านคุณวุฒิวิชาชีพ 

.

โดยยุทธศาสตร์เร่งด่วน คือ การใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์เพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนของไทยและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญชั้นสูง เช่น สร้างความสมดุลการใช้กำลังคนที่มีความสามารถสูงจากในประเทศและต่างประเทศด้วยการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อการถ่ายทอดและต่อยอดเทคโนโลยีในระยะสั้นให้กับบุคลากรของไทย โดยเฉพาะในภาคการผลิตและสถาบันการศึกษา ส่วนยุทธศาสตร์ด้านคุณวุฒิวิชาชีพเป็นการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพมาเป็นเครื่องมือในการลดความไม่สอดคล้องของอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงาน