เนื้อหาวันที่ : 2010-04-23 09:04:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2503 views

ทำไม? คนอีสานต้องต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา หากแต่มีความพยายามผลักดันจากฝ่ายการเมืองเสมอมาเพียงแต่รอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สังคมไทยไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

.

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา หากแต่มีความพยายามผลักดันจากฝ่ายการเมืองเสมอมาเพียงแต่รอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สังคมไทยไม่มีความเป็นประชาธิปไตย (เผด็จการทหาร) ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร, สมัยรสช.,

.

มาจนกระทั่งถึงยุคหลังคมช. ที่มี พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ปีพ.ศ.2550 จึงมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้ง พร้อมทั้งได้จัดตั้ง "สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์" (สพน.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่จะพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงพลังงาน

.

โดยดำเนินการด้วยงบประมาณจากภาษีของประชาชนเป็นจำนวนเงิน 1.8 พันล้านบาท ต่อ 3 ปี นอกจากนั้น สพน.ยังได้ทำแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่1 ปี2551-2553 เตรียมเริ่มโครงการ ระยะที่2 ปี 2554 - 2557 เตรียมการก่อสร้าง ระยะที่3 ปี2557 - 2563 ดำเนินการก่อสร้าง และระยะที่4 ปี2563 เดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (รวมระยะเวลาทั้งหมด 12 ปี)

.

จากการศึกษาของการไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับทางเลือกในการพัฒนาพลังงาน พบว่ามีการศึกษาทั้งหมด 9 ทางเลือก และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ได้ถูกบรรจุเอาไว้ทั้งหมดทั้ง 9 ทางเลือกนั้นด้วย และมีการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกินความเป็นจริง กล่าวคือ ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 20 - 30 ทั้งที่ในความเป็นจริงของการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองนั้นมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ ร้อยละ 15 เท่านั้น

.

เมื่อตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีสูง ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลให้มีการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เกิดขึ้นตามมาด้วย โดย กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา (Consultant) เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และศึกษาสำรวจสถานที่ตั้ง จาก 14 พื้นที่ทั่วประเทศ แล้วจะคัดเลือกพื้นที่ 3 แห่งเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบการตัดสินใจในช่วงเดือนมิ.ย.ปีนี้

.

อย่างไรก็ตามก็ได้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้าน และเฝ้าติดตามสถานการณ์โครงการดังกล่าวของภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยเห็นว่าการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของการขาดแคลนพลังงานตามที่ กฟผ. หรือกระทรวงพลังงานกล่าวอ้าง

.

แต่มองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีด้านพลังงานที่หล้าหลัง มีการลงทุนที่สูงมาก และที่สำคัญก็คือส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากเมื่อ ปีพ.ศ.2529 เกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วที่เชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย แล้วทำให้สารกัมมันตภาพรังสีแผ่กระจายออกไปเป็นบริเวณกว้างทั่วทวีปยุโรป และยังส่งผลกระทบครอบคลุมไปจนถึงบางส่วนของทวีปอเมริกาเหนือ

.

จากรายงานของคณะนักวิทยาศาสตร์จากสหประชาชาติ (The Chernobyl Forum) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากอุบัติเหตุครั้งนั้น จำนวน 42 คน และประมาณอย่างหยาบๆ ว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งถึง 9,000 คน มีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัยถึง 600,000 คนที่ได้รับรังสีอย่างรุนแรง ระหว่างปี 2529-2532 ที่ต้องชำระล้างรังสีที่ปนเปื้อน

.

ตัวเลขจากหน่วยงานรัฐใน 3 ประเทศระบุว่าเสียชีวิตแล้ว 25,000 คน (แต่สมาคมเพื่อนักกู้ภัยระบุว่าตัวเลขจริงสูงกว่านั้น) ปี 2549 (ครบรอบ 20 ปี) กลุ่มวิทยาศาสตร์อังกฤษระบุว่า ผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งจากกัมมันตภาพรังสีของเชอร์โนบิลอาจสูงถึง 66,000 คน

.

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมประดิษฐ์มนูญธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ร่วมกับศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและองค์กรภาคีด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอีสาน รวม 11 องค์กร ได้จัดเวทีเสวนา "ทำไมภาคอีสานต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์"

.

โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น หนองบัวลำภู มหาสารคาม ชัยภูมิ อุบลราชธานี และกลุ่มนักศึกษา จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยน และหาแนวทางเพื่อติดตามประเด็นปัญหาร่วมกัน

.

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ได้ถูกเลือกว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

.

เพราะลักษณะภูมินิเวศน์ที่มีภูเขาล้อมรอบ ใต้พื้นดินเป็นหินปูน เป็นรอยต่อพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ และ ขอนแก่น มีประชากรอาศัยอยู่น้อย อยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติและใกล้แหล่งน้ำอย่างเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนอุบลรัตน์ และยังเป็นฐานคะแนนเสียงของนักการเมืองในพื้นที่ผู้ผลักดันโครงการฯ องค์ประกอบดังกล่าวจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อถูกเลือกให้มีการพัฒนาโครงการฯ

.

ทันทีเมื่อรับทราบข้อมูลชาวบ้านในพื้นที่ก็มีความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา และต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

.

"ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะว่าผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือพืชนั้นมันรุนแรง อีกทั้งโครงการนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ให้กับนายทุนและผู้ที่มีส่วนได้รับผลประโยชน์เท่านั้น แต่ชาวบ้านกลับต้องมาเสียสละและแบกรับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐต้องมองไปถึงความเป็นวิถีชีวิตที่ดีงามของชุมชน" นายจรูญ เซรัมย์ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ได้สะท้อนความคิดเห็น

.

ในท้ายที่สุดเวทีเสวนาก็ได้ข้อสรุปโดยการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ทำหน้าที่เสมือนกองเลขานุการ คอยติดตามข้อมูลสถานการณ์ แล้วเชื่อมประสานกิจกรรมกันในพื้นที่

.

โดยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ได้กล่าวว่า การจัดเวทีดังกล่าวก็เพื่ออยากให้มีการศึกษาถึงสถานการณ์กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสังคมไทยอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะมีการตัดสินใจดำเนินการอย่างใดควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้านให้มาก

.

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า กฟผ.ได้พานักข่าวในจังหวัดขอนแก่นไปดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วกลับมาก็ออกข่าวเชียร์ อยากให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้น อย่างนี้เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวของ กฟผ. ดังนั้นตนจึงเป็นห่วงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งของชาวบ้านในอนาคต ซึ่งจะต้องมีคนในชุมชนเดียวกันที่มีแนวความคิดทั้งสนับสนุนและคัดค้านโครงการ เพราะ ปัจจุบันนี้สังคมไทยก็ขัดแย้งกันมากพอแล้ว

.

ในหลายประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ปัจจุบันเขาก็มีนโยบายเพื่อลดจำนวนลง หรือยกเลิกกันไปแล้ว ดังเช่น อเมริกา ไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา, เยอรมัน ปี 2543 ตัดสินใจปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้หมดภายใน 20 ปี, เบลเยียม ปี 2546 ออกกฎหมายจำกัดอายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ 40 ปี

.

เตาปฏิกรณ์เครื่องสุดท้ายจะต้องถูกปิดภายในปี 2568, สวีเดน ปี 2523 ลงประชามติให้ปิดเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดภายในปี 2553 หรือแม้แต่ที่ญี่ปุ่นเองมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสิ้น 37 แห่งแต่ก่อสร้างได้จริงเพียง 17 แห่ง ส่วนอีก 20 แห่งสร้างไม่ได้เพราะถูกประชาชนต่อต้าน เหล่านี้เป็นต้น

.

ผู้เขียนเห็นว่าจากกรณีตัวอย่างก๊าซพิษรั่วที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ภาครัฐก็ยังไม่สามารถจัดการ แก้ไขปัญหา หรือมีมาตรการอะไรป้องกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้มากนัก หากเปรียบเทียบกับโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าแล้ว ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ จึงไม่จำกัดเฉพาะคนในจังหวัดขอนแก่นเท่านั้น คนอีสานและคนในสังคมไทย ต้องตั้งคำถามให้ชัดว่าประเทศไทยถึงเวลาแล้วหรือ ที่จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตามคำกล่าวอ้างของนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบาย

.
ที่มาของข้อมูล

จากเวทีเสวนา "ทำไมภาคอีสานต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ณ ห้องประชุมประดิษฐ์มนูญธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น-.
1.) โครงการจับตาพลังงานนิวเคลียร์ กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต
2.) เครือข่ายพลังงานทางเลือกเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง(MeeNet)

.
ที่มา : เว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอ