เนื้อหาวันที่ : 2010-03-29 12:03:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1312 views

พาณิชย์ ปูพรมหนุนเอกชนรับมือ เออีซี

พาณิชย์ ลั่นพร้อมเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เตรียมแผนติดอาวุธผู้ประกอบการไทยรับมือเต็มรูปบบภายในปี 2558 พร้อมระดมทูตพาณิชย์อาเซียน 9 ประเทศ เจาะลึกโอกาสการค้า-การลงทุน

พาณิชย์ ลั่นพร้อมเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เตรียมแผนติดอาวุธผู้ประกอบการไทยรับมือเต็มรูปบบภายในปี 2558 พร้อมระดมทูตพาณิชย์อาเซียน 9 ประเทศ เจาะลึกโอกาสการค้า-การลงทุน

 .

พาณิชย์ ประกาศความพร้อมเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เตรียมแผนติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมรับมือเปิดเสรีเต็มรูปแบบภายในปี 2558 โดยเชิญทูตพาณิชย์อาเซียนประจำประเทศไทย 9 ประเทศ มาร่วมหารือแนวทางความร่วมมือ พร้อมชี้แนะโอกาสการค้า การลงทุนและท่องเที่ยวในแต่ละประเทศแบบเจาะลึกทุกแง่มุม ตั้งเป้าสร้างฐานอำนาจต่อรองที่แข็งแกร่ง และเปิดช่องทางการค้า - การลงทุนให้กับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยมากขึ้น  

 .

ผศ.ดร. วีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังบรรลุข้อตกลงความร่วมมือประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เพื่อร่วมกันขจัดอุปสรรคทางการค้าแล้ว ส่งผลให้ตลาดอาเซียนกลายตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทย นำหน้าตลาดดั้งเดิมอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น        

.

โดยในปี 2552 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับประเทศอาเซียน 9 ประเทศ คิดเป็นมูลค่า 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนเท่ากับ 32,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียนเท่ากับ 24,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นตัวเลขได้ดุลการค้ามูลค่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

 .

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของตลาดและฐานการผลิตในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นหลักการสร้างความร่วมมือในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้น           

 .

เพื่อบรรลุข้อตกลงเปิดเสรีการค้าภายในปี 2558 ผ่านแนวทางการกำหนดมาตรการลดภาษีสินค้าในสาขาสำคัญสำหรับประเทศสมาชิก สนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุนและแรงงานฝีมืออย่างเสรี นับเป็นมิติใหม่ของการเปิดเสรีที่มีความก้าวหน้า มีความชัดเจนในเงื่อนไข กฎระเบียบ รวมถึงมีมาตรการที่จะให้ความคุ้มครองการลงทุนที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน และดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น                     

.

“สมาชิกอาเซียนทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ร่วมกันจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งในแง่ของการลดอุปสรรคทางการค้า สร้างอำนาจต่อรองที่แข็งแกร่ง ช่วยสร้างรายได้ที่แท้จริงของอาเซียนให้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 69,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่ารายได้จากการบรรลุเป้าหมายของอาฟต้าถึง 6 เท่า และที่สำคัญยังเป็นการเปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุนให้กับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยจำนวนมากที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันในเวทีการค้าระดับสากลได้” ผศ.ดร. วีระศักดิ์ กล่าว 

.

ผศ.ดร. วีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงโอกาสในด้านการค้าการลงทุนที่จะมีมากขึ้นหลังมีการจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้กำหนดนโยบาย “ASEAN First Policy” เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ในการสร้างพันธมิตรในระดับภูมิภาค สร้างโอกาส และลู่ทางในด้านการค้าและการลงทุน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

โดยเริ่มดำเนินการ จัดงานเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ : มุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ International Trade Day : Trade, Investment, and Tourism Cooperation towards AEC และเชิญทูตพาณิชย์อาเซียนประจำประเทศไทย รวม 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน  พม่า  กัมพูชา ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย สิงคโปร์   ลาว  เวียดนาม  มาเลเซีย และผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย มาบรรยายพิเศษเรื่องศักยภาพการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวใน 10 ประเทศอาเซียน

.

พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกในรายประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงรับ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในสาขาธุรกิจที่มีโอกาสหรือศักยภาพในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป