เนื้อหาวันที่ : 2010-03-22 15:55:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2750 views

ภาวะโลกร้อนกับการใช้พลังงาน

เมื่อพูดถึงภาวะโลกร้อนแม้จะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ก็คือการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

โดย:คุณมนูญ ศิริวรรณ 

.

.

หลังการประชุมเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ถึงแม้ว่าที่ประชุมจะไม่สามารถสรุปความเห็นและมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นสนธิสัญญา (Protocol) แบบเดียวกับ Kyoto Protocol ได้ แต่ก็ออกมาในรูปของข้อตกลง (Record) ให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติ โดยไม่มีบทลงโทษหรือมาตรการบังคับ นั่นก็คือการนำข้อตกลงไปปฏิบัติโดยสมัครใจก่อนจะนำผลและแนวความคิดไปคุยกันใหม่ปีหน้าที่เม็กซิโก

.

อย่างไรก็ตามการประชุมดังกล่าวก็นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่สามารถทำให้ประเทศต่างๆ ในโลกที่ปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก (Greenhouse Gases) ไม่ว่ามากหรือน้อยต้องปรับท่าทีและวิสัยทัศน์ให้ทันสมัย รวมทั้งเห็นความสำคัญของภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้น (อย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น)

.

เมื่อพูดถึงภาวะโลกร้อนถึงแม้จะเกิดขึ้นจากหลายๆ สาเหตุ แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลงเรื่อยๆ ก็คือการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพนั่นเอง และยิ่งพลังงานมีราคาถูกเท่าไร การใช้พลังงานก็ยิ่งไม่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น (ข้อนี้เป็นบทพิสูจน์ที่เห็นกันมามากแล้ว ในทุกประเทศทั่วโลก

.

ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มโอเปค หรือผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปค ตลอดจนประเทศผู้บริโภคพลังงานสูงที่สุดในโลก อย่างสหรัฐอเมริกาที่ตั้งราคาน้ำมันถูกจนเกินไป ส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์มากขึ้นและบริโภคน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อผลประโยชน์ของผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทน้ำมัน)

.

เมื่อน้ำมันราคาถูก ประเทศเหล่านี้ก็จะไม่ค่อยกระตือรือร้นในเรื่องของการประหยัดพลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนต่างๆ เช่น พลังงานหมุนเวียนที่ได้จากกังหันลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ไม่เหมือนประเทศในแถบยุโรปตะวันตก ซึ่งรัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันค่อนข้างสูง เพราะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อมลภาวะ และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า หายาก

.

ทำให้ราคาน้ำมันในประทศแถบยุโรปตะวันตกแพงที่สุดในโลก (เบนซิน 60-70 บาทต่อลิตร ดีเซล 60-75 บาทต่อลิตร) ดังนั้นเวลาเราเดินทางไปยุโรปเราจึงเห็นแต่รถเล็กๆ และรถประหยัดพลังงานเต็มไปหมด และถ้าเราเดินทางออกไปนอกเมือง เราก็จะเห็นการผลิตพลังงานในรูปแบบพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ทุ่งกังหันลมที่ผลิตไฟฟ้ากระจัดกระจายไปในประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกเต็มไปหมด

.

ในเอเชียขณะนี้ ประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่ให้ความสนใจกับ Green Energy มากที่สุด โดยมีโครงการพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนมากเป็นร้อยๆ โครงการ โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานหมุนเวียนนั้นอาจกล่าวได้ว่า ต่อไปประเทศจีนจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกในด้าน Clean Technology ในอนาคต และจะเป็นผู้นำในการใช้พลังงานหมุนเวียนมาลดการใช้พลังงานฟอสซิลในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันจีนใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ใช้น้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และ IEA

.

คาดว่าจีนจะขึ้นแท่นเป็นผู้นำในการนำเข้าน้ำมันและก๊าซเป็นอันดับหนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกาในค.ศ. 2025 หรืออีกเพียง 15 ปีข้างหน้านี้ ดังนั้นจีนจึงต้องเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเป็นการใหญ่ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่ผู้นำของจีนได้ให้คำมั่นเอาไว้ในที่ประชุมที่กรุงโคเปนฮาเกน

.

ดังนั้นเราจะเห็นว่ากระแสสภาวะโลกร้อนขณะนี้กลายเป็นกระแสโลกไปแล้ว และถ้าใครหรือประเทศใดยังไม่ตื่นตัวเตรียมรับกับกระแสนี้ โอกาสที่จะถูกกีดกันทางการค้าจะสูงขึ้น โดยจะถูกกล่าวหาว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก และไม่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา

.

ตลอดจนการปรับตัวในเรื่องของการประหยัดพลังงานหรือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน จะตามไม่ทันกับการปรับตัวของโลกที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ประเทศที่ปรับตัวช้าต้องถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง หรือถูกลดอันดับความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกลง

.

ทางด้านทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA ก็ได้กำหนดภาพจำลองสถานการณ์ (Scenario) เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกเอาไว้ โดยกำหนดแผนงานที่เรียกว่า 450 Scenario ซึ่งระบุว่าโลกจะต้องควบคุมการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกให้มีความเข้มข้นในบรรยากาศโลกได้ไม่เกิน 450 ส่วนในล้านส่วน (PPM) ภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 ˚C แทนที่จะสูงขึ้นถึง 6 ˚C

.

ตามสภาพจำลองสถานการณ์นี้ การใช้พลังงานประเภทฟอสซิล จะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในระดับสูงสุดในปี 2020 เท่านั้น และการที่จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายนั้น เรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการก้าวถึงเป้าหมายดังกล่าว

.

ส่วนการใช้พลังงานทดแทน/พลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำในระยะยาว โดยในปี 2030 นั้น IEA ทำนายเอาไว้ว่าการผลิตไฟฟ้าในโลกนี้จะต้องพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน (Renewable) 37% นิวเคลียร์ (Nuclear) 18% และพวกชีวมวล (Biomass) 5%

.

ส่วนการใช้รถยนต์นั้น สัดส่วนรถยนต์ Hybrids/Plug-In Hybrids/Electric Vehicles จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 1% เป็นเกือบ 60% ในปี 2030
ที่สำคัญคือระหว่างทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ประเทศต่างๆ จะมีมาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจกออกมามากมาย และจะกระทบไปถึงประเทศคู่ค้าหรือประเทศที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน

.

ยกตัวอย่างมาตรการล่าสุดของประเทศในกลุ่ม EU ที่ออกมาเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในอากาศ คือ สายการบินใดที่บินผ่านน่านฟ้าของ EU จะต้องจ่ายค่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับ EU เพื่อบีบให้สายการบินต่างๆ ต้องมีมาตรการในการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ของเครื่องบินออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเรื่องนี้จะสร้างรายได้ให้กับ EU อย่างมหาศาล และได้ผลในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องบินให้ดียิ่งขึ้น

.

ผมทราบว่ามาตรการนี้กระทบต่อการบินไทยที่มีตารางการบินของเครื่องบินไปยังยุโรปอย่างมาก และการบินไทยต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้กับ EU เป็นค่าคาร์บอนที่ปล่อยออกมา เมื่อบินผ่านน่านฟ้าของ EU แต่ก็ยังไม่ได้ยินว่าการบินไทยมีมาตรการใดในการลดการปล่อยสารคาร์บอนดังกล่าว

.

วิธีการแก้ไขในเรื่องนี้ การบินไทยคงต้องศึกษาในเรื่องของแบบ/ชนิดของเครื่องยนต์ โดยต้องยอมลงทุนซื้อ/เช่าเครื่องบินรุ่นใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพในการประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลง หรืออาจจัดตารางการบินใหม่ ลดเที่ยวบินที่ไม่ทำกำไร หรือลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ให้เผาไหม้ดีขึ้น 

.

หรือแม้แต่การหันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล หรือผสมน้ำมันชีวภาพกับน้ำมันเครื่องบินปกติให้มากขึ้น เช่น ผสม Bio Diesel ลงในน้ำมัน JET เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้คงต้องศึกษาและทดลองร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้ผลิตเชื้อเพลิง คือวิศวกรด้านการกลั่นและปิโตรเคมีกับวิศวกรอากาศยาน เพื่อหาสูตรที่เหมาะสมกับการใช้งานและมีความปลอดภัยสำหรับการเดินทางด้วย

.

จะเห็นว่านับวันเรื่องของภาวะโลกร้อนกับการใช้พลังงานจะมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลและผู้นำประเทศน่าจะให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น ปรับวิสัยทัศน์แบบเดิมๆ ที่พยายามตรึงราคาพลังงานให้ถูกๆ เพื่อสร้างความนิยมในหมู่ประชาชน

.
อย่าให้ประเทศไทยตกกระแสโลกเลยครับ!
.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน