เนื้อหาวันที่ : 2010-03-22 09:03:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1244 views

สนพ.เท 660 ล้าน เดินหน้าสร้างระบบก๊าซชีวภาพอุตสาหกรรม ปี 53

สนพ.ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพแก่ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จปี’ 51-52 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 50 ราย ตั้งเป้าปี 53 หนุนสร้างระบบก๊าซชีวภาพอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 660 ล้านบาท

สนพ.ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพแก่ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จปี’ 51-52 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 50 ราย ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 317 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,950 ล้านบาทต่อปี ตั้งเป้าปี’ 53 หนุนสร้างระบบก๊าซชีวภาพอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 660 ล้านบาท

.

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนโครงการพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เช่น ก๊าซชีวภาพ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ฯลฯ

.

โดยในส่วนของก๊าซชีวภาพนั้น เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่กระทรวงพลังงานได้เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันปาล์ม แป้งมันสำปะหลัง เอทานอล น้ำยางข้น อุตสาหกรรมอาหาร และอื่นๆ สร้างระบบก๊าซชีวภาพเพื่อกำจัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต และนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปผลิตไฟฟ้าหรือใช้ทดแทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น น้ำมันเตา ก๊าซ LPG เป็นต้น

.

เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงาน รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของระบบก๊าซชีวภาพในปัจจุบันที่มีศักยภาพและเหมาะกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท สนพ.จึงได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการ “โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2552 (ปีที่ 2)” ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

.

โดยแผนการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วงปี 2551-2555 จะคลอบคลุมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพกว่า 338 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 637.2 ล้านลบ.ม.ต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,950 ล้านบาท/ปี

.

อย่างไรก็ดี จากผลการดำเนินงานในช่วงปี 2551-2552 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 50 ราย โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ให้เงินสนับสนุนแก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ สูงถึงร้อยละ 20-50 ของวงเงินลงทุนระบบผลิตก๊าซชีวภาพตามประเภทอุตสาหกรรม คิดเป็นเงินสนับสนุนประมาณ 509 ล้านบาท  สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 317 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี 

.

สามารถทดแทนพลังงานเชิงพาณิชย์ต่างๆ เช่น ทดแทนไฟฟ้าได้ประมาณ 974 ล้านบาทต่อปี ทดแทนน้ำมันเตาได้ประมาณ 905 ล้านบาทต่อปี ทดแทนถ่านหินได้ประมาณ 44 ล้านบาทต่อปี และเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ   อีกประมาณ 27 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นมูลค่าการทดแทนพลังงานทั้งสิ้น 1,950 ล้านบาทต่อปี

.

สำหรับในปี 2553 นี้ สนพ.ได้สนับสนุนงบประมาณให้ครอบคลุมโรงงานเป้าหมายเพิ่มเติมอีก จำนวน 74 แห่ง โดยกองทุนฯจะให้เงินสนับสนุนแก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ในวงเงิน 660 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 141 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 1,109 ล้านบาทต่อปี และจะขยายการสนับสนุนต่อไปเพื่อให้ครอบคลุมโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย

.

“การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นการร่วมเสนอองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ และระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในระยะต่อไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีของเสียและน้ำเสียจำนวนมาก

.

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพราะหากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกวิธีจะก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะทั้งเรื่องกลิ่น แมลงรบกวน และส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี การนำระบบก๊าซชีวภาพไปประยุกต์ใช้

.

นอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมฯ ที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดเสรี และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขอนามัยของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง”นายวีระพล กล่าว

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน