เนื้อหาวันที่ : 2007-01-23 16:08:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2546 views

ฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์

คำว่าฟองสบู่ในวันนี้ แม้จะดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว แต่คนไทยทุกคนยังคงจดจำปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540

คำว่าฟองสบู่ในวันนี้ แม้จะดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว แต่คนไทยทุกคนยังคงจดจำปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ได้ ซึ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์และราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็วหรือเรียกได้ว่าเกิด Market Crash แม้ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยมีรากฐานที่แข็งแกร่งกว่าเดิมมาก แต่ปรากฏการณ์ฟองสบู่ยังคงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนต้องระมัดระวัง

.

การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์

การเพิ่มขึ้นราคาสินทรัพย์เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แม้อัตราเงินเฟ้อในขณะนั้นอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก และจะส่งผลต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนและการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน เพราะนอกจากราคาสินทรัพย์จะทำให้ราคาสินค้าและบริการทั่วไปเพิ่มขึ้นตามไปด้วยแล้ว ผู้ถือครองสินทรัพย์จะมีความรู้สึกว่าตนเองมีความมั่งคั่งมากขึ้น และเมื่อผู้ถือครองสินทรัพย์นำหลักทรัพย์นั้นไปค้ำประกันสินเชื่อในขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ยังคงเท่าเดิม ก็จะส่งผลถึงเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมสาเหตุที่สำคัญของการเกิดเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์คือความต้องการในการถือครองสินทรัพย์ ในขณะที่ปริมาณสินทรัพย์มีจำกัด รวมถึงการเก็งกำไรในสินทรัพย์นั้น ๆ

.

ฟองสบู่ (Bubble)

ฟองสบู่เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อราคาสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นสูงกว่ามูลค่าพื้นฐาน (Fundamental Value) ของตัวมันเอง ด้วยเหตุที่ผู้ถือสินทรัพย์คาดการณ์ว่าราคาจะสูงขึ้นไปอีกอย่างต่อเนื่อง หรือผู้เล่นที่ชอบความเสี่ยงถูกดึงดูดให้เข้ามาถือครองสินทรัพย์นี้เนื่องจากคาดการณ์ผลกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเก็งกำไรเหล่านี้จะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปจนกระทั่งเกินมูลค่าพื้นฐานมาก

.

และเมื่อมูลค่าที่สูงเกินจริงนี้มีปัจจัยอื่นมากระทบ เช่น ราคาสินทรัพย์เริ่มมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเนื่องจากมีข้อมูลข่าวสารประกาศออกมาว่าราคาสินทรัพย์ที่ควรจะเป็นควรต่ำกว่าราคาปัจจุบัน ผู้ถือครองก็จะเริ่มลดความเชื่อถือในตัวสินทรัพย์นั้นลง ส่งผลให้ฟองสบู่ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมาเริ่มไม่มีเสถียรภาพ และเมื่อมีข่าวสารใด ๆ ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์นั้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินเพื่อยับยั้งการขยายตัวของฟองสบู่ ฟองสบู่จะแตก ราคาสินทรัพย์นั้นจะลดลงอย่างมากในระยะเวลาที่รวดเร็วและอาจลดลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

.

แม้ว่าการเก็งกำไรจะเป็นการสร้างผลตอบแทนสูงโดยมีต้นทุนทางการเงินต่ำแต่ความเสี่ยงจากการลงทุนก็จะเป็นต้นทุนที่สูงมากเกินกว่าต้นทุนทางการเงินนั้นปรากฏการณ์ฟองสบู่สามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย

.

จากประสบการณ์ของประเทศไทย ฟองสบู่ที่เกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นเนื่องจากมีการให้สินเชื่อในภาคธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต แต่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เต็มไปด้วยนักเก็งกำไร และมีการปรับเพิ่มของราคาสินทรัพย์ในอัตราสูงกว่าการขยายตัวเศรษฐกิจ  ซึ่งในช่วงปี 2532-2533 มีการปรับเพิ่มมูลค่าทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินถึงร้อยละ 44.5 และ 54.1 ตามลำดับ

.

ขณะเดียวกัน สินเชื่อของระบบที่ปล่อยให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ สูงถึงร้อยละ 96.5 ปี 2533 อัตราเงินเฟ้อระหว่างปี 2532- 2538 เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 5.2 นโยบายการเงินอยู่ในช่วงเป็นกลาง (Neutral) ไม่มีการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยมากนัก

.
สัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการโต้แย้งว่า เหตุใดภาครัฐหรือนักวิชาการจึงไม่มีสัญญาณเตือนภัยที่เหมาะสม หรือไม่ยับยั้งฟองสบู่ที่กำลังก่อตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน

.

ปรากฏการณ์ฟองสบู่ในปลายทศวรรษที่ 80 ในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นกรณีศึกษาที่มีการกล่าวถึงกันมาก เนื่องจากมีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน[1] โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้สภาพคล่องล้นระบบและมีการขยายตัวของสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเป็นนโยบายแบบตึงตัวโดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในปี ค.ศ. 1989 รวมถึงสินเชื่อบางส่วนเริ่มกลายเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อตลาดเงินและเกิดการช็อกจนทำให้ฟองสบู่แตก

.

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ สินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ราคาสินทรัพย์ลดลงเกินกว่ามูลค่าพื้นฐาน รวมถึงราคาสินค้าที่ลดลงมากจนเกิดสภาวะเงินฝืด ส่งผลต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะยาว

.

การศึกษาเรื่อง ”Asset Price Bubbles, Price Stability, and Monetary Policy: 's Experience” โดย Kunio Okina และ Shigenori Shiratsuka พบว่า ธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่นมีการใช้นโยบายการเงินที่มีการผ่อนคลายมากเกินไปและสินทรัพย์ขาดข้อมูลที่เพียงพอจนทำให้การคำนวณแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์เป็นไปได้ยาก และผู้เขียนได้มีประเด็นคำถามที่สำคัญดังนี้

.

- จะแยกขยายตัวของตลาดสินทรัพย์ออกจากวัฎจักรการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามปกติได้อย่างไร

- จะแน่ใจได้อย่างไรว่าราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ มิได้เกิดจากฟองสบู่

- จะคำนวณรูปแบบการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่แท้จริงได้อย่างไร

.

ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณเตือนภัยการก่อตัวของฟองสบู่ เนื่องจากเหตุผล 3 ประการข้างต้น แต่ผู้ถือครองสินทรัพย์หรือผู้ที่ต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจในการดำรงชีวิตจะมีแนวทางสังเกต หรือช่วยเหลือเศรษฐกิจมิให้เกิดฟองสบู่ได้อย่างไร

.

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ SET Index เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2546 อยู่ที่ระดับ 772.15 จุด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2545 ในอัตราร้อยละ 116.60 ผลตอบแทนทั้งสิ้น (Market Turnover) เท่ากับ 4,670,281.49 ล้านบาท (ที่มา: ตลาดหลัดทรัพย์แห่งประเทศไทย) สาเหตุหนึ่งมาจากการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ผู้ฝากเงินเคลื่อนย้ายเงินออมในระบบธนาคารพาณิชย์มาสู่ตลาดทุนมากขึ้น และมีการเริ่มวิจารณ์กันมากว่าฟองสบู่รอบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ไข้หวัดนก และการเพิ่มความเข้มงวดของกฎระเบียบโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็เป็นตัวช่วยลดความร้อนแรงของตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงลดประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการก่อตัวของฟองสบู่

.

นโยบายการเงินและราคาสินทรัพย์

การวางนโยบายกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ของธนาคารกลางเป็นการวางเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ โดยธนาคารกลางจะประกาศอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า โดยการนำราคาสินค้าและบริการในปัจจุบันในรูปของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index)[2] และราคาสินทรัพย์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับราคาในอนาคตมาเป็นตัวแปรหนึ่งเพื่อคำนวณเพื่อหาอัตราเงินเฟ้อที่คาดหวัง (Expected Rate of Inflation) และเมื่ออัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดหวัง ธนาคารกลางจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ย

.

ระดับราคาในอนาคตหรือราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมาย ธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าราคาสินทรัพย์เริ่มเปลี่ยนแปลง แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในขณะนั้นยังต่ำอยู่ก็ตาม เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงให้ลดลงสู่อัตราเงินเฟ้อที่คาดหวัง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายมากเมื่อการปรับขึ้นของราคาสินทรัพย์นั้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในสินทรัพย์นั้นเอง

.

เมื่อมีการลดลงของราคาสินทรัพย์มาสู่ราคาที่ควรจะเป็น ทำให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้รับผลกระทบโดยตรง หนี้ของสถาบันการเงินได้รับการค้ำประกันด้วยเงินจำนวนที่ลดลงจนกลายเป็นหนี้เสีย ระบบการเงินมีปัญหา และทำให้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมลดลง

.

ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่าควรนำราคาสินทรัพย์ไปใช้ในการคำนวณหาอัตราเงินเฟ้อที่คาดหวังหรือไม่ หรือควรนำราคาสินทรัพย์มาปรับเป็นราคาพื้นฐานก่อนนำไปใช้หรือไม่ เนื่องจากราคาสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงได้โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการ ฟองสบู่ และการเก็งกำไร นอกจากนี้ ราคาสินทรัพย์เองก็เป็นตัวแปรในราคาสินค้าและบริการ ทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นไปในทางเดียวกันกับราคาสินทรัพย์

.

แนวทางการป้องกันการเกิดฟองสบู่

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะต้องมีผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากภาคการผลิต มิใช่การเก็งกำไร ดังนั้นการสร้างวินัยและการกำกับดูแลระบบทางการเงินการคลังจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

.

ธนาคารแห่งประเทศไทย

การใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) แบบตึงตัวร่วมกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวเพื่อหยุดยั้งการก่อตัวของฟองสบู่โดยการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าที่คาดหวังในระยะสั้น แต่วิธีการดังกล่าวจะเป็นการสร้างเสถียรภาพของราคาและผลผลิต นอกจากนี้ การควบคุมการให้สินเชื่อ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อให้เข้มงวดขึ้น (รวมถึงสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก) การส่งเสริมธรรมภิบาลของธนาคารพาณิชย์ การลดจำนวนสินทรัพย์ที่รอการขาย หรือ Non-Performing Asset จะช่วงสร้างความมั่นคงในระบบการเงินในระยะยาว

.

กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดจำนวน NPL ลงช่วยสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้น ณ เดือนมกราคม 2547 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เสร็จแล้ว 10,396 ราย มูลหนี้ 1,444,977านบาท สําเร็จคิดเปนรอยละ 86 ของจํานวนรายลูกหนี้ที่เจรจาจนมีขอสรุปแล[3]

.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แม้ว่าสัญญาณของฟองสบู่จะไม่เด่นชัด แต่การเก็งกำไรสามารถสังเกตและตรวจสอบได้ กลต. จึงมีมาตรการควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์แบบหักกลบลบหนี้ภายในวันเดียวหรือ Net Settlement และมาตรการวางหลักประกันในการซื้อขายหลักทรัพย์ 10% ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการสกัดการเก็งกำไร ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อตัวของฟองสบู่ นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนที่ถูกต้องย่อมจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมในการลงทุน

.
กระทรวงการคลัง

การกำหนดราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มีการรวมศูนย์อยู่ที่กรมธนารักษ์ เพื่อกำหนดมาตรฐานราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์ให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด และเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเมื่อมีการซื้อขายและคำนวณภาระภาษี

.

การไม่ต่ออายุมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของกระทรวงการคลังก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดอัตราการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ทั้งในแง่ปริมาณและการให้สินเชื่อ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตได้ตามแนวทางที่เหมาะสม

.
ธนาคารอาคารสงเคราะห์

จัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ราคา อุปสงค์และอุปทาน และแหล่งที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์รายประเภท เพื่อประโยชน์ในการสร้างดัชนีชี้วัดภาวะทางเศรษฐกิจและการสร้างระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจ

.

ประชาชนทั่วไปจะรับทราบสัญญาณเตือนภัยได้อย่างไร ?

 การพิจารณา สัดส่วนราคาต่อผลตอบแทน (Price/Earning Ratio หรือ P/E Ratio) เป็นวิธีวัดราคาสินทรัพย์ที่ง่ายที่สุดว่าอยู่ในราคาที่เหมาะสมหรือไม่ P/E Ratio หมายถึงราคาของหลักทรัพย์หรือหุ้น หารด้วยผลตอบแทนหรือกำไรต่อหุ้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

.

ค่า P/E ของปีที่แล้วจะเป็นค่าที่แท้จริง ในขณะที่ค่าของปีนี้จะเป็นค่าประมาณการ ซึ่งราคา (P) ที่ใช้คำนวณค่า P/E จะเป็นราคาปิดปัจจุบันของสินทรัพย์นั้น บริษัทที่ไม่มีค่า P/E หมายความว่าบริษัทนั้นไม่มีผลกำไรหรือมีผลขาดทุนในปีที่ผ่านมา

.

ค่า P/E ที่คำนวณได้หมายความถึงระยะเวลาที่หลักทรัพย์นั้นใช้เวลาสร้างผลตอบแทนรวมกันเท่ากับราคา ณ วันที่คำนวณ ดังนั้น ค่า P/E สูงหมายความว่าผู้ซื้อสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจำนวนเท่าเดิม หรือเมื่อมองในอีกมุมหนึ่งจะมีหมายความว่า สินทรัพย์หรือหลักทรัพย์นั้นต้องอาศัยระยะเวลานานกว่าที่ผลตอบแทนหรือกำไรที่บริษัททำได้จะรวมกันได้เท่ากับเงินที่ซื้อหลักทรัพย์นั้น

.

หลักทรัพย์ที่ดีควรมีค่า P/E ต่ำ และเมื่อพิจารณาค่า P/E ของตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนมกราคม 2547 ที่ผ่านมา พบว่าค่า P/E เท่ากับ 12.56[1] ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะที่เหมาะสม

.
สถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทย

- ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของฟองสบู่เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานหรือผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดยังอยู่ในสภาวะที่มั่นคง ค่า P/E ของตลาดยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม

.

- ตลาดอสังหาริมทรัพย์ อุปทานของที่อยู่อาศัยเริ่มมีจำนวนมากกว่าความต้องการ โดยเฉพาะอาคารชุดและบ้านเดี่ยวที่มีราคาสูง ในปี 2547 จะมีการสร้างที่อยู่อาศัยประเภทนี้ใหม่ 6350 หน่วย ในขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 5360 หน่วย ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ที่มีแนวโน้มที่จะถูกเก็งกำไรสูงกว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น และมีการคาดว่าที่อยู่อาศัยจะล้นตลาดในปี 2551 การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 9.2 มีมูลค่าทั้งสิ้น 655,463 ล้านบาท ในปี 2545[5]

.

- การใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว ต่างจากวิกฤติฟองสบู่ครั้งที่ผ่านมา

.
สรุป

ฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์มักจะเกิดในประเทศที่เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการกำกับดูแลไม่เพียงพอ ภาคเอกชนขาดธรรมาภิบาล ระบบบัญชีมีมาตรฐานต่ำ และขาดความโปร่งใสในการบริหารงาน อย่างไรก็ดี ประเทศจีนซึ่งถือเป็นประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมใหม่ได้มีมาตรการควบคุมการให้สินเชื่ออย่างเข้มงวด

.

ฟองสบู่มิได้นำไปสู่วิกฤติของระบบการเงินเสมอไป ถ้าระบบการเงินนั้นมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และเศรษฐกิจรวมถึงภาคการผลิตที่แท้จริงมีเสถียรภาพ หากขาดความเข้มแข็งดังกล่าวแล้ว นอกจากฟองสบู่จะทำให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ยังจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้า

.

ประเทศที่มีการกระจายตัวของรูปแบบการให้ของสินเชื่อ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดฟองสบู่ได้มากกว่า การพัฒนาตลาดตราสารอนุพันธ์สามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ได้

.

ธนาคารกลางมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ให้มีการสำรองหนี้เสียและการบริหารความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลข่าวสารของตลาดสินทรัพย์มีไม่เพียงพอ การใช้เครื่องมือทางนโยบายอาจไม่ได้ผลดังที่คาดไว้

.
เอกสารอ้างอิง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจบทเรียนภาวะฟองสบู่ช่วงปี 2532-2538 ผู้จัดการออนไลน์, 8 กันยายน 2546.

อนุสรณ์ ธรรมใจ. ฟองสบู่และการเก็งกำไร มองมุมใหม่ : ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ , กรุงเทพธุรกิจ, 19 พฤศจิกายน 2546.

Charles Bean, 2003. “BIS Working Papers No. 140: Asset prices, financial imbalances and monetary policy: are inflation targets enough ?.

Christopher Kent and Philip Lowe, 1997. “Asset-price Bubbles and Monetary Policy”, Reserve Bank of .

Frank Smets, 1997. "Financial-asset Prices and Monetary Policy: Theory and Evidence," RBA Annual Conference Vol. 1997-14, Reserve Bank of .

Kunio Okina and Shigenori Shiratsuka, 2002. “Asset Price Bubbles, Price Stability, and Monetary Policy: 's Experience” Vol.20 No.3, Institute for Monetary and Economic Studies, Bank of .

[1] การผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน หมายถึง การควบคุมการกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) โดยการลดการอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง (Nominal Inflation) เท่ากับอัตราเงินเฟ้อที่คาดหวัง (Expected Inflation)

[2]ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 เท่ากับ 107.7 (ปีฐาน 2541) (ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์)

[3] ที่มา: จดหมายข่าวปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เดือนมกราคม 2547, ธนาคารแห่งประเทศไทย

[4] ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

[5] ที่มา: ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารแห่งประเทศไทย