เนื้อหาวันที่ : 2010-03-14 22:02:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1544 views

กพช. ผ่านแผน PDP 2010 หนุนแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี

กพช. เปิดไฟเขียวแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 20 ปี PDP 2010 แผน Green PDP แผนแรกของประเทศ หวังลดความเสี่ยงการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ พร้อมผ่านร่าง MOU รับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี สปป.ลาว 1,220 เมกะวัตต์

กพช. เปิดไฟเขียวแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 20 ปี PDP 2010 แผน Green PDP แผนแรกของประเทศ หวังลดความเสี่ยงการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ พร้อมผ่านร่าง MOU รับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี สปป.ลาว 1,220 เมกะวัตต์

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

ที่ประชุมกพช.เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 20 ปี PDP 2010 ซึ่งจะเป็นแผน Green PDP แผนแรกของประเทศ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ พร้อมผ่านร่าง MOU ในการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี สปป.ลาว 1,220 เมกะวัตต์ และเห็นชอบแนวทางกำหนดค่าบริการพิเศษผู้ใช้ไฟโครงการขยายเขตติดตั้งไฟด้วยสายเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อบนเกาะศรีบอยา เกาะปู และเกาะพีพีดอน จ.กระบี่ 

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 53 ว่า ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (PDP2010) ซึ่งเป็นแผนจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว 20 ปี        

.

โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์สำคัญคือ การปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าลดลงจากแผน PDP ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงาน

.

นอกจากนี้ ยังพิจารณาหลักเกณฑ์ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าโดยคำนึงถึงเรื่องการกระจายเชื้อเพลิงลดการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากร้อยละ 70 ให้เหลือร้อยละ 39 ในอีก 20 ข้างหน้า โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหินสะอาดด้วย

.

ทั้งนี้ ยังคำนึงถึงการลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้าลงด้วย พร้อมกับพิจารณาปริมาณผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไว้ด้วยว่าในระยะ 6-7 ปีแรกของแผนฯ จะต้องสำรองกำลังผลิตไฟฟ้าไว้ที่ระดับร้อยละ 20

.

หลังจากนั้นจึงปรับอยู่ในระดับร้อยละ 15 โดยในระยะแรกที่ต้องสำรองไว้สูงถึงร้อยละ 20 เพราะจากประสบการณ์การขาดแคลนก๊าซฯ ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าทันทีจึงต้องเพิ่มระดับปริมาณสำรองไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว

.

นายแพทย์วรรณรัตน์กล่าวสรุปว่า ตามแผน PDP ฉบับใหม่นี้ภายในปีพ.ศ.2573 ประเทศไทยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 65,547 เมกะวัตต์ ซึ่งสอดคล้องกับการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงจากแผน PDP ฉบับเดิม

.

อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมฯ ได้มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผน PDP 2010 ว่า ควรจะมีการจัดทำแผน PDP สำรองอีกฉบับหนึ่ง โดยพิจารณาจากพื้นฐานกรณีไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและสปป.ลาว โดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน)และผู้ร่วมลงทุนรายอื่นจะจัดตั้งบริษัทในสปป.ลาวเพื่อพัฒนาโครงการ

.

โครงการจะมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,280 เมกะวัตต์ โดยขายให้ไทยที่ชายแดน 1,220 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟ 29 ปี โดยจะมอบหมายให้กฟผ.นำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนต่อไป 

.

ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบนเกาะศรีบอยา เกาะปู และเกาะพีพีดอน จ.กระบี่ ซึ่งเป็นโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างเกาะดังกล่าวกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)บนชายฝั่งจ.กระบี่ 

.

โดยจะเก็บอัตราค่าบริการพิเศษเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกินกว่า 400 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น เพื่อจ่ายเป็นค่าลงทุนระบบสายเคเบิลใต้น้ำทึ่เกิดขึ้นจริงให้กฟภ. ซึ่งเป็นผู้ลงทุนการเดินสายเคเบิลใต้น้ำมายังเกาะทั้ง 3 เป็นเวลา 10 – 15 ปี จนกว่าจะคืนเงินลงทุนทั้งหมด

.

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)จะนำแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษดังกล่าวไปจัดทำอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบนเกาะฯ ที่เหมาะสมตามกระบวนการและขั้นตอน