เนื้อหาวันที่ : 2010-03-11 14:19:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3634 views

นครพนมกับการพร้อมรับบริบททางเศรษฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศในภาพรวมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่ควรมองข้ามภายใต้สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจของโลก

ปรารถนา  บุญญฤทธิ์
สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ
 

.

.

การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศในภาพรวมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่ควรมองข้ามภายใต้สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจของโลก

.

ในปัจจุบัน  โดยเฉพาะแนวความคิดในการใช้ศักยภาพความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และศักยภาพของพื้นที่ในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสและความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยมีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

.
นครพนม... ประตูสู่อินโดจีน

จังหวัดนครพนมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนถึงแนวความคิดในการใช้ศักยภาพความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัด   นับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2552  ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จวางศิลาฤกษ์สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3  ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงเขตบ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ระหว่างจังหวัดนครพนมและแขวงคำม่วน

.

โครงการดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างด้วยวงเงิน 1,760 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 30 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2554  และจะก่อให้เกิดคุณูปการทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนระหว่างไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเอนกอนันต์ 

.

เนื่องจากเป็นโครงข่ายถนนที่จะเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปสู่ภาคกลางของ สปป.ลาว ตลอดจนภาคเหนือของเวียดนาม รวมทั้ง เชื่อมโยงไปสู่มณฑลกวางสี และมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดของจีนซึ่งจะเป็นการเปิดประตูอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการท่องเที่ยวระหว่างสี่ประเทศในอนาคตภาพรวมเศรษฐกิจนครพนมในวันนี้

.

ในปี 2550 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดนครพนม มีมูลค่าเท่ากับ 23,229 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.96  มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 31,468 บาท คิดเป็นลำดับที่ 16 ของภาค และลำดับที่ 73 ของประเทศ สาขาการผลิตที่ทำรายได้ให้แก่จังหวัดสูงสุด ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 31.2 คิดเป็นมูลค่า 7,707 ล้านบาท รองลงมาได้แก่  สาขาการค้าส่งและค้าปลีก ร้อยละ17.5 คิดเป็นมูลค่า 4,055 ล้านบาท อันดับที่ 3 ได้แก่ สาขาการศึกษา ร้อยละ 15.2 คิดเป็นมูลค่า 3,523 ล้านบาท

.

โดยประชากรที่อยู่ในจังหวัดนครพนม ร้อยละ 95 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก  ผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ ข้าว ยางพารา  สับปะรด  และมันสำปะหลัง  โดยในส่วนของยางพารา มีพื้นที่ปลูก จำนวน 93,666 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 14,899 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 244 กก./ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 3, 635,356 ตัน และมันสำปะหลัง มีพื้นที่ปลูก จำนวน 2,700 ไร่ มีผลผลิตรวม 6,300 ตัน

.
โครงสร้างและสภาวะอุตสาหกรรม

ปัจจุบันจังหวัดนครพนม มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ตัวเลขสะสม ณ เดือนตุลาคม 2552) จำนวนทั้งสิ้น 1,891 โรงงาน เงินลงทุน 3,189.40 ล้านบาท คนงาน 7,218 คน โรงงานส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก  เงินลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่ประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ จักรยานยนต์ กลึง เชื่อมโลหะ  ทำวงกบประตูหน้าต่าง ดูดทราย และอื่นๆ 

.

โรงงานขนาดกลาง เงินลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาท ไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้แก่ โรงงานทำเครื่องประดับเพชรพลอยและอัญมณีต่างๆ คอนกรีตผสมเสร็จ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โรงสีข้าว เป็นต้น และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท ได้แก่ โรงงานผลิตข้าวโพดหวาน สับปะรดกระป๋อง ซอสมะเขือเทศ  ห้องเย็น การถนอมสัตว์น้ำโดยทำให้เยือกแข็ง ผลิตอาหารสัตว์น้ำ  เป็นต้น

.
วิเคราะห์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม

จากการศึกษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสาขาต่าง ๆ ในจังหวัดนครพนม โดยใช้แบบจำลองส่วนแบ่งและส่วนแปรเปลี่ยน (Shift-Share Model) nและข้อมูลสถิติผลิตภัณฑ์ภาค ผลิตภัณฑ์อนุภูมิภาค และผลิตภัณฑ์จังหวัดที่รวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วงปี 2545 – 2551 เป็นฐานในการวิเคราะห์ โดยแยกเป็น ภาคเกษตร (เกษตรกรรม ล่าสัตว์ ป่าไม้) และการประมง และภาคนอกเกษตร

.

ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ เหมืองแร่ การผลิต ก่อสร้าง ค้าปลีก ค่าส่ง สาธารณูปการ (ไฟฟ้า ประปา ก๊าช) สาขา บริการ (โรงแรม ภัตตาคาร) การคมนาคมขนส่ง การศึกษา สาธารณสุข และกิจการในครัวเรือน พบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกสาขาของจังหวัดนครพนมมีอัตราการเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งในระดับกลุ่มจังหวัดและระดับภาค โดยเฉพาะภาคการเกษตรและการค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งมีสัดส่วนสูงสุด

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงอัตราการขยายตัว ภาคเกษตรกรรมมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งในระดับกลุ่มจังหวัดและระดับภาค

.

ในขณะที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของภาคการเงิน การค้าปลีก ค้าส่ง การขนส่ง การก่อสร้าง สาธารณูปโภค และการศึกษาในระดับกลุ่มจังหวัด และการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมในระดับภาค

.

นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นกิจกรรมในสาขาหลักของจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะกิจกรรมในภาคการเกษตรมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของกิจกรรมเดียวกันนี้ในกลุ่มจังหวัดและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มีการขยายตัวของภาคการก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคารและสาธารณสุขเมื่อเทียบกับกิจกรรมเดียวกันทั้งในระดับกลุ่มจังหวัดและในระดับภาค

.
อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว

จากการวิเคราะห์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการแข่งขันในบริบทการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับ สปป.ลาว โดยพิจารณาจากปัจจัยทั้ง 6 ด้านตามทฤษฎี Diamond Model ของ ไมเคิล อี พอตเตอร์ พบว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีระดับขีดความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมแปรรูปอ้อย  อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง

.

เมื่อวิเคราะห์ระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในแต่ละปัจจัยของรายอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความเหมาะสมในด้านปัจจัยด้านอุปสงค์สูงสุด รองลงมา ได้แก่ ปัจจัยด้านการผลิต และปัจจัยด้านอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน อุตสาหกรรมแปรรูปอ้อย มีความเหมาะสมด้านปัจจัยเอื้อต่าง ๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ (GSP) ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแบบทวิภาคีและพหุภาคีและระบบขนส่งและ Logistics สูงสุด

.

รองลงมา ได้แก่ ปัจจัยความพร้อมในการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ เช่น ประสิทธิภาพการผลิต ความสนใจของภาคเอกชนในการเข้าไปลงทุน และปัจจัยด้านการผลิต อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ ปัจจัยที่มีความเหมาะสมสูงสุดได้แก่ ปัจจัยด้านอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน

.

รองลงมา ได้แก่ ปัจจัยด้านการผลิต และปัจจัยด้านอุปสงค์ เช่น ลักษณะความต้องการสินค้า หรือบริการในประเทศไทยและใน สปป.ลาว รวมไปถึงลักษณะความต้องการสินค้า หรือบริการในประเทศที่ 3 ที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว

.

อุตสาหกรรมยางพาราปัจจัยที่มีความเหมาะสมสูงสุด คือ ปัจจัยด้านการผลิต รองลงมา ได้แก่ ปัจจัยด้านอุปสงค์และปัจจัยด้านความพร้อมในการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง ปัจจัยที่มีความเหมาะสมสูงสุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ ปัจจัยด้านอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน ปัจจัยด้านความพร้อมในการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ และปัจจัยด้านการผลิต   

.

สำหรับปัจจัยที่มีความเหมาะสมน้อยสุดเรียงตามรายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมแปรรูปอ้อย มีจุดด้อยในปัจจัยเดียวกัน คือ ปัจจัยด้านภาครัฐ เช่น การส่งเสริมของภาครัฐบาลไทย กฎระเบียบและนโยบายภายในประเทศไทย และกฎระเบียบและนโยบายของ สปป.ลาว อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ มีจุดอ่อนในด้านปัจจัยความพร้อมในการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ  

.

ในขณะที่อุตสาหกรรมยางพารา มีจุดอ่อนในด้านปัจจัยด้านอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมเชื่อมโยงต้นน้ำ และปลายน้ำ และความสามารถในการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรม (Cluster) ใน สปป.ลาว และอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง มีจุดอ่อนใน2 ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านอุปสงค์ และปัจจัยเอื้ออื่น ๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ(GSP) ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแบบทวิภาคีและพหุภาคี และระบบขนส่งและ Logitstics

.
ทิศทางการพัฒนาจังหวัดนครพนมในอนาคต

เมื่อพิจารณาถึงผลการวิเคราะห์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมทั้งในระดับกลุ่มจังหวัดและในระดับภาค ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในภาคการเกษตรทั้งในระดับกลุ่มจังหวัดและในระดับภาค

.

ในขณะที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในกิจกรรมภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง โรงแรม ภัตตาคาร การศึกษา สาธารณสุข ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครพนมทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ควรมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เช่น การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน พัฒนาผู้ประกอบการและการตลาดสินค้าเกษตร

.

ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในรูปของ Contract Farming เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะในด้านวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย ฯลฯ

.

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่า มีการเติบโตของสาขาเศรษฐกิจที่รองรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร การก่อสร้างการเงินและสาธารณูปโภค 

.

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของจังหวัดในด้านการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ จากการที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดนครพนมมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของกิจกรรมเดียวกันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น จังหวัดควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินโครงการ/กิจกรรมด้านการพัฒนาภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น 

.

ในขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจในสาขาการค้าปลีก-ค้าส่ง และการคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวที่ลดลงสวนทางกับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ทั้งนี้ เพื่อให้จังหวัดสามารถบรรลุยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดน และการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นรูปธรรม 

.
ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย

จากการวิเคราะห์จุดอ่อนในปัจจัยทั้ง 6 ด้านของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันของจังหวัดนครพนมใน 5 สาขาอุตสาหกรรม ตามทฤษฎี Diamond Model ของ ไมเคิล อี พอตเตอร์ประกอบกับการวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายในจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นผลจากการวิคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิและผลการสำรวจภาคสนามสามารถนำมาวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดังกล่าว ดังนี้

.

ภาพรวม  ภาครัฐควรมีการเจรจากับ สปป.ลาวในการผ่อนคลายกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน รวมทั้ง ให้การคุ้มครองนักลงทุนไทยใน สปป.ลาว เพื่อช่วยขจัดปัญหาความเสี่ยงในด้านกฎระเบียบที่ไม่แน่นอนและข้อพิพาทด้านการลงทุนใน สปป.ลาว   ให้การส่งเสริมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานใน สปป.ลาว เพื่อรองรับการขยาย/ย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต   เจรจากับรัฐบาล สปป.ลาวเพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าข้ามแดน

.

โดยเฉพาะในเรื่อง ระบบการอนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ ของ สปป.ลาวที่มีขั้นตอนมาก ยุ่งยาก ล่าช้าและมีการเรียกเก็บเงิน รวมทั้ง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีต่าง ๆ ที่มีมากและมีความซ้ำซ้อนเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนระหว่างนักลงทุนไทยกับชาวบ้านใน สปป.ลาว

.

ซึ่งนับเป็นปัญหา อุปสรรคสำคัญของนักลงทุน  ให้การสนับสนุนรัฐบาล สปป.ลาวในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปาให้เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน โดยอาจเป็นในรูปของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลด้านอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนใน สปป.ลาว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน

.
อุตสาหกรรมรายสาขา
• อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมแปรรูปอ้อย 

มีจุดด้อยร่วมในปัจจัยด้านนโยบายภาครัฐ เช่น การส่งเสริมของรัฐบาลไทยกฎระเบียบและนโยบายภายในประเทศไทย และกฎระเบียบนโยบายของ สปป.ลาว จึงควรมีการเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาวเพื่อผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เช่น กฎหมายห้ามการส่งออกสินแร่ยิบซั่ม สำหรับผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง

.

การแก้ปัญหาสัมปทานที่ดินทับซ้อนระหว่างนักลงทุนไทยและชาวบ้านใน สปป.ลาว ในกรณีการลงทุนเพาะปลูกอ้อยภายใต้โครงการ Contract Farming การแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าข้ามแดน เป็นต้น

.
• อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์

มีจุดด้อยในเรื่องปัจจัยความพร้อมในการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านความพร้อมในการแข่งขันกับธุรกิจภายใน สปป.ลาว ซึ่งเกิดจาก ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบปัญหาค่าขนส่งที่มีราคาแพง สินค้าไม่สามารถแข่งขันได้กับสินค้าจีนและเวียดนาม และทัศนคติของรัฐบาลลาวที่แนบแน่นกับเวียดนามและจีนมากกว่าไทย ทำให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการส่งออกไม้ท่อนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเฟอร์นิเจอร์  

.

โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยบางรายต้องมีการนำเข้าไม้ท่อนจาก สปป.ลาว โดยผ่านเวียดนาม ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จึงควรมีการเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยขอให้รัฐบาล สปป.ลาว ให้การปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน

.
• อุตสาหกรรมยางพารา

มีจุดด้อยในปัจจัยด้านอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมเชื่อมโยงต้นน้ำ และปลายน้ำ ความสามารถในการรวมกลุ่มภายในเครือข่ายอุตสาหกรรมการผลิต (Cluster) ใน สปป.ลาว ซึ่งสืบเนื่องจาก สปป.ลาว ไม่มีการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ และยางรถยนต์ จึงทำให้ไม่มีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ยางพารา

.

นอกจากนี้ คุณภาพของน้ำยางที่ผลิตได้จากต้นยางพาราที่ปลูกในสปป.ลาวยังมีคุณภาพไม่ดีเท่ากับยางพาราที่ปลูกในประเทศไทย จึงควรส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเพาะปลูกยางพาราใน สปป.ลาว และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นสูงเพื่อการส่งออก

.

โดยเฉพาะการผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยางข้นและตั้งโรงงานแปรรูปที่ใกล้แหล่งปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคายหรือ นครพนม โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในพื้นที่และใน สปป.ลาว เน้นการสร้างมาตรฐานสินค้า รวมทั้ง การพัฒนาตราสินค้าโดยการวางตำแหน่ง สปป.ลาว เป็นฐานในการสำรองวัตถุดิบ ส่วนจีนและเวียดนามเป็นฐานด้านการตลาด

.
• อุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง

มีจุดด้อยในปัจจัยด้านอุปสงค์ และปัจจัยเอื้ออื่น ๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ (GSP) ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแบบทวิภาคีและพหุภาคี ระบบขนส่งและ Logistics ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากตลาดเอทานอลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการแปรรูปมันสำปะหลังภายในประเทศมีจำกัด และในด้านปัจจัยการผลิตยังคงมีอุปทานมันสำปะหลังส่วนเกินเหลือจากการแปรรูปในอุตสาหกรรมขั้นต้นเพียงพอต่อการผลิตเอทานอล 

.

ประกอบกับโรงงานผลิตที่ดำเนินการผลิตแล้วก็สามารถผลิตเอทานอลได้มากกว่าความต้องการการบริโภคเอทานอลภายในประเทศจึงทำให้เกิดข้อจำกัดในปัจจัยด้านอุปสงค์ของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพซึ่งมีวัตถุดิบตั้งต้นจากมันสำปะหลังในประเทศ

.

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับไทยมีจุดแข็งในด้านวัตถุดิบและศักยภาพในการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร และมีความพร้อมในด้านเครื่องจักรการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพ รวมทั้ง เทคโนโลยีในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสามารถใช้เทคโนโลยีเดิมที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกจากปิโตรเคมี  

.

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาในเรื่องเงินลงทุนในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สูงและตลาดในประเทศที่ยังมีจำกัด ดังนั้น ภาครัฐควรให้การสนับสนุนในด้านเงินลงทุน การกำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพแทนพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศ รวมทั้ง ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพให้มากขึ้น

.
นครพนมกับการพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันท์ใด”  การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศ ระดับภาค หรือระดับจังหวัดก็ต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาฉันท์นั้น  การเล็งเห็นถึงโอกาสและประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสะพานดังกล่าวที่พึงมีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย และการเตรียมความพร้อมของจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3  นับตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จังหวัดไม่ควรมองข้าม

.

ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของจังหวัดมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้การก่อสร้างสะพานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของจังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป

.
อ้างอิง

ผลงานวิจัยการศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในจังหวัดนครพนม : กรณีมีการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่  3  ภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตุลาคม, 2552