เนื้อหาวันที่ : 2010-03-10 13:20:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 893 views

สนพ.จัดอบรม "ศักยภาพของไม้โตเร็วในการผลิตไฟฟ้า"

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จัดอบรม เรื่อง “ศักยภาพของไม้โตเร็วในการผลิตไฟฟ้า” ในโครงการสนับสนุนงานด้านเทคนิคเพื่อการจัดหาไฟฟ้าและพลังงานทดแทน โดย ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ นักวิชาการจากสถาบันผลิตผลเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากร ให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้นของไม้โตเร็ว

.

ตลอดจนศักยภาพในการเพาะปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรค เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการปฏิบัติงานของบุคลากรภายในสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

.
โดยสามารถสรุปสาระในประเด็นการบรรยายได้ดังนี้

- ความหมายของไม้โตเร็ว คือ ไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นรอบวงปีละ 4-5 ซ.ม. และมีรอบตัดฟันน้อยกว่า 5 ปี  มีคุณสมบัติในการแตกหน่อ ทนโรค แมลง ทนแล้ง ขึ้นได้ในดินหลายประเภท จัดการง่าย จึงเหมาะต่อการปลูกเป็นสวนป่าพลังงาน เนื่องจากไม้โตเร็วสามารถนำมาเป็นพลังงานเพื่อการผลิตไฟฟ้า และน้ำมันได้

.

- ไม้โตเร็วมีศักยภาพในการเพาะปลูกเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หลายชนิด เช่น ยูคาลิปตัสมีศักยภาพสูงสุด โดยมีค่าพลังงานความร้อนเท่ากับ 27,225,432 kcal/ไร่ รองลงมา คือ กระถินเทพณรงค์ มีค่าพลังงานความร้อนเท่ากับ 19,920,672 kcal/ไร่

.

กระถินเทพา มีค่าพลังงานความร้อนเท่ากับ 19,401,571 kcal/ไร่ และกระถินยักษ์ มีค่าพลังงานความร้อนเท่ากับ 15,297,132 kcal/ไร่  ซึ่งกระถินยักษ์ แม้ว่าจะให้ค่าพลังงานความร้อนต่ำกว่าแต่มีความสามารถในการแตกหน่อดี และหน่อมีแนวโน้มที่จะโตเร็วมากที่สุด ดังนั้นจึงอาจมีความเหมาะสมในแง่การลงทุนปลูก เป็นต้น

.

- การใช้ไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน Biomass สร้างได้ เพราะสามารถควบคุมวัตถุดิบได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ วางแผนจัดการโลจีสติกส์ได้ เพิ่มการใช้ประโยชน์ในพื้นที่รกร้าง ช่วยดูดซับ CO2  สามารถออกแบบการปลูกแบบผสมผสานเพื่อความหลากหลายทางรายได้แก่เกษตรกร

.

- ข้อจำกัดของการใช้ไม้โตเร็วเพื่อผลิตไฟฟ้า เช่น ไม่เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ปลูก การเก็บรวบรวมและสำรองเชื้อเพลิงทำได้ยาก ต้องมีการวางแผนการจัดการระบบ โลจีสติกส์โดยเฉพาะ ราคารับซื้อเชื้อเพลิงมีผลต่อความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบและการเกิดผลกระทบต่อการปลูกพืชเกษตรอื่นๆ จึงต้องมีการกำหนดแผนและมาตรการป้องกันระยะยาว ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ เป็นต้น

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน