เนื้อหาวันที่ : 2010-03-09 14:10:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3479 views

ผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS ต่อเศรษฐกิจไทย

ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าปัญหานี้จะลุกลามไปเป็นปัญหาของสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจโลกโดยรวม อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS ต่อเศรษฐกิจไทย1

.

.
บทสรุปผู้บริหาร

- ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS อันได้แก่ โปรตุเกส อิตาสี กรีซ และสเปน ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าปัญหานี้จะลุกลามไปเป็นปัญหาของสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านภาคการเงิน (Financial Impacts) อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ไม่มี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIGS มากนัก

.

อีกทั้ง สถาบันการเงินไทยมีฐานะเข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศในกลุ่ม PIGS ได้ นอกจากนี้ ผลกระทบผ่านภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact) อยู่ในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด

.

- อย่างไรก็ตาม สศค. เห็นว่า ในระยะสั้น รัฐควรติตามปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระมัดระวังผลกระทบต่อเศรฐกิจไทยหากปัญหาดังกล่าว ลุกลามไปสู่ปัญหาของสหภาพยุโรปโดยรวม และในระยะปานกลาง รัฐควรเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง และเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกด้วย

.
1. บทนำ

ในช่วงปลายปีทีผ่านมา บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้งชั้นนำของโลก ได้แก่ S&P Moody’s และ Fitch ต่างได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรประเทศในกลุ่ม PIGS อันได้แก่ โปรตุเกส  อิตาลี  กรีซ และสเปน  จากการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับที่สูง

.

และเนื่องจากประเทศในกลุ่ม PIGS เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศเหล่านี้จะลุกลามกลายเป็นปัญหาของสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

.

บทความนี้จะวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศ PIGS ต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact) และ 2) ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact) โดยมีรายละเอียดดังนี้

.
2. ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศจำเป็นต้องเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจของตนอย่างมหาศาล เพื่อทดแทนอุปสงค์ที่ขาดหายไปและประคับประคองเศรษฐกิจของตนให้ดำเนินไปได้จนกว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ประเทศในกลุ่ม PIGS ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเฉกเช่นประเทศอื่น ๆ โดยแต่ดูเหมือนว่าสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาฟื้นตัว กล่าวคือ

.

โปรตุเกส ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลโปรตุเกสได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังกว่าร้อยละ 8.1 ต่อจีดีพี ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 81.2 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของโปรตุเกสโดยรวมยังไม่ดีนั้ก จากอัตราการว่างงานที่สูงถึงร้อยละ 9.5 ของแรงงานรวม และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึงร้อยละ 9.0 ต่อจีดีพี

.

อิตาลี แม้ว่าอิตาลีจะดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังเพียงร้อยละ 5 ต่อจีดีพี แต่จากระดับหนี้สาธารณะเดิมที่สูงถึงร้อยละ 116 ต่อจีดีพี ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของอิตาลีโดยรวม โดยอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.6 จากแรงงานรวม และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ร้อยละ 2.7 ต่อจีดีพี

.

กรีซ ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลกรีซได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังอย่างมหาศาลที่ร้อยละ 12.7 ต่อจีดีพี (สูงสุดในประเทศกลุ่ม PIGS) ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สูงที่ร้อยละ 113 ต่อจีดีพี  อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของกรีซโดยรวมยังคงไม่มีสัญญาณว่าจะฟื้นตัว จากอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับสูงที่ร้อยละ 8.9 จากแรงงานรวม และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลถึงร้อยละ 12.4 ต่อจีดีพี

.

สเปน ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลสเปนได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังกว่าร้อยละ -11.4 ต่อจีดีพี ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 55.1 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของสเปนยังคงแย่โดยอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 18.2 จากแรงงานรวม ส่วนทางด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ร้อยละ 5.0 ต่อจีดีพี

.

ที่มา : Economist Intelligent Units
.

การขาดดุลงบประมาณและระดับหนี้สาธารณะที่สูงส่งผลให้บริษัทจัดเรตติ้ง S&P Moody’s และ Fitch ลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรประเทศในกลุ่ม PIGS โดยประเทศกรีซเป็นประเทศแรกที่ถูกบริษัท S&P ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก A- เป็น BBB+ จากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงถึงร้อยละ 113 ในปี 2552

.

ต่อมาประเทศสเปนที่แม้ว่าจะยังไม่ถูกปรับลดระดับแต่ก็ได้ถูกปรับ “มุมมอง” มาอยู่ในแง่ลบจากปัญหาหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกว่าร้อยละ 54 ในปี 2552 เช่นกัน โดยล่าสุดกรีซและสเปนมีระดับการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีที่ร้อยละ 12.7 และ 11.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

.
ตารางที่ 1 การปรับลดระดับ Sovereign Risk โดยบริษัท S&P

ที่มา : CMA : Global Sovereign Credit Risk Report
.

นอกจากนี้ การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะในระดับที่สูงของกลุ่มประเทศ PIGS นั้น ขัดต่อข้อบัญญัติภายใต้สนธิสัญญามาสทริชต์ (Maastricht Treaty)2 ของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ 1) การขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 3 ของจีดีพี 

.

2) ระดับหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี และ 3) อัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 1.5 ของอัตราเฉลี่ยของ 3 ประเทศสมาชิกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุด ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ ประเทศในกลุ่ม PIGS จำเป็นต้องลดระดับการขาดดุลการคลังของตนเอง ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

.

การลดระดับการขาดดุลการคลังดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวหรืออาจทำให้หลายฝ่ายคาดการว่าประเทศเศรษฐกิจหลักในสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมนี และฝรั่งเศส จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาลุกลามไปสู่สหภาพยุโรปโดยรวมได้ ทั้งนี้ แม้ว่าผู้นำกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องยื่นมือช่วยเหลือกรีซเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป

.

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมิได้มีแผนการช่วยเหลือกรีซอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุด รัฐบาลกรีซได้ออกแถลงการณ์ว่าจะปรับลดการขาดดุลงบประมาณจากที่ขาดดุลร้อยละ 12.7 ในปีงบประมาณ 2552 ให้เหลือร้อยละ 8.7 ในปีงบประมาณ 2553 โดยการลดการใช้จ่ายภาครัฐ อาทิ การไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงานภาครัฐ การปฏิรูปสวัสดิการสังคม และการปรับขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย

.
3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ในส่วนนี้ จะวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศ PIGS ต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact) และ 2) ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact)

.
3.1 ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact)
3.1.1 ผลกระทบต่อผ่านการลงทุนโดยตรง

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านการลงทุนโดยตรงจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากกลุ่ม PIGS ในไทยคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 0.44 ของการลงทุนโดยตรงรวมในไทย โดยในช่วงปี 2548-2552 การลงทุนโดยตรงของกลุ่ม PIGS ในไทยคิดเป็นมูลค่า 170.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.437 ของการลงทุนโดยตรงในไทยทั้งหมด ในช่วง 11 เดือนแรกปี พ.ศ. 2552 (ตารางที่ 2)

.
ตารางที่ 2 การลงทุนโดยตรงของกลุ่ม PIGS ในประเทศไทย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
.
3.1.2 ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยผ่าน Counterparty Risk

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบโดยตรง (Direct Exposure) ต่อสถาบันการเงินไทยจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินไทยกับประเทศในกลุ่ม PIGS มีน้อย อย่างไรก็ตามอาจมีความเสี่ยงด้าน Counterparty Risk ได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยุโรปซึ่งมี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIGS

.

โดย Bank of International Settlements รายงานว่าธนาคารพาณิชย์ในยุโรปโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ในเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรมี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIGS มากที่สุดกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ภาพที่ 3)

.

ซึ่งทำให้คาดว่าหากกลุ่ม PIGS ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะหนี้สาธารณะในระดับสูงของตนได้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศหล่านี้ และอาจเป็นความเสี่ยงด้าน Counterparty Risk กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยได้ หากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ในยุโรปดังกล่าว

.

ภาพที่ 3 Exposure ของธนาคารพาณิชย์ยุโรปต่อกลุ่ม PIGS

ที่มา : Bank of International settlements
.
3.1.3 ผลกระทบจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน

สศค.วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนจะอยู่ในจำกัด แม้ว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS ส่งผลให้เงินทุนมีความผันผวนมากขึ้น จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าหลังการประกาศลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศในกลุ่ม PIGS ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 4)

.

สอดคล้องกับอัตรา Credit Default Swap ของประเทศในกลุ่ม PIGS ที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเดียวกัน (ภาพที่ 5) จากการที่นักลงทุนมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์สกุลยูโรมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น จึงได้โยกย้ายการลงทุนออกไปสู่สินทรัพย์ในสกุลที่ปลอดภัยกว่า (Safe Haven)

.

ภาพที่ 4 อัตราแลกเปลี่ยน EUR/USD และ EUR/JPY

.

ภาพที่ 5 Credit Default Swap (CDS) Spread

ที่มา : Reuters
.

อย่างไรก็ตาม สถานะของสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถรอบรับความผันผวนของเงินทุนที่เกิดขึ้นได้ โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ 141.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.1 เท่าของหนี้ระยะสั้น) ซึ่งสามารถรองรับการชดใช้หนี้ระยะสั้นของประเทศได้ หากมีเงินทุนไหลออกจากประเทศ

.

อีกทั้ง สัดส่วนเงินทุนสำรองต่อทรัพย์สินเสี่ยง (Capital Adequacy หรือ BIS Ratio)  เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 อยู่ที่ 16.20 สูงกว่าระดับที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.50 ด้วยเหตุนี้ สศค. จึงเห็นว่า ผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนจะอยู่ในวงจำกัด

.
3.2 ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact)
3.2.1 ผลกระทบผ่านช่องทางการค้า

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านช่องทางการค้าระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIGS จะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากการส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อย โดยการส่งออกไทยโดยรวม (ตารางที่ 3) ดังนั้น หากเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม PIGS ทรุดตัวลงอีก

.

การส่งออกของไทยโดยรวมก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้รับผลกระทบบ้างในบางหมวดสินค้าส่งออกที่ไทยส่งไปกลุ่มประเทศ PIGS ที่สำคัญได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องปรับอากาศ อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง

.
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศ PIGS

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ ประมวลผลโดย สศค.
.

เช่นเดียวกัน การนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศ PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 1.5 ของการนำเข้าโดยรวม (ตารางที่ 4) โดยสินค้านำเข้าหลักได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะและเคมภัณฑ์ โดยอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่ในปีที่ผ่านมา

.

ตารางที่ 4 มูลค่าการนำเข้าสินค้าจาก PIGS

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ ประมวลผลโดย สศค.
.
3.2.2 ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทย (ตารางที่ 5) โดยในปี พ.ศ. 2552 ได้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ PIGS ประมาณ 3 แสนคนเข้ามาในไทย หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.0 ของจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยทั้งหมด

.
ตารางที่ 5 จำนวนและสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่ม PIGS

ที่มา : CEIC รวบรวมโดย สศค.
.
4. แนวนโยบาย

สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS จะไม่ได้มีผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงินหรือภาคเศรษฐกิจจริงมากนัก อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังมีความเสี่ยงที่อาจลุกลามไปสู่สถาบันการเงินอื่น ๆ ของโลกและอาจทำให้เศษฐกิจของยูโรปโดยรวมได้รับผลกระทบ

.

ดังนั้น  ในระยะสั้น รัฐควรติดตามปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระมัดระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหากปัญหาดังกล่าวลุกลามไปสู่ปัญหาของสหภาพยุโรปโดยรวม และในระยะปานกลาง รัฐควรเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง และเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกด้วย

.

1ผู้เขียน ดร.สิริกมล  อุดมผล  นายวัชระ  สายสมบูรณ์ และนายกริชฉกาจ  ศรีทอง ส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ขอขอบคุณ ดร.เอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และดร.ศรพล  ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับคำแนะนำในการเขียนบทความนี้

.

2เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 ได้มีการลงนามสนธิสัญญา Maastricht ขึ้น เพื่อกำหนดนโยบายการเงินของ ประชาคมยุโรป (European Community) และเพื่อเตรียมการยกเลิกสกุลเงินของแต่ละประเทศ แล้วมาเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินเดียว (Common Currency) ระหว่างประเทศสมาชิกประชาคม โดยสนธิสัญญาได้กำหนดเงื่อนไขให้ประเทศที่จะเข้าร่วมต้องปรับระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้อยู่ในระดับเดียวกัน ก่อนที่จะร่วมกันใช้เงินสกุลเดียว

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง