เนื้อหาวันที่ : 2010-03-09 10:16:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1838 views

วว. จับมือ ส.อ.ท. พัฒนางานวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

วว. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำ “โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ” หวังสร้างความเครือข่ายความร่วมมือ ยกระดับการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

วว. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำ “โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ” หวังสร้างความเครือข่ายความร่วมมือ ยกระดับการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

.

.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ” หวังสร้างความเครือข่ายความร่วมมือ ยกระดับการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

.

นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว.  ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ความร่วมมือดังกล่าวว่า เพื่อสร้างความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุน ในการเพิ่มศักยภาพของ วว. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรวมถึงผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 

.

การศึกษาหรือค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ เพื่อนำผลของการศึกษา/ค้นคว้า ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี

.

โดยปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกำหนดนโยบายไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ซึ่งสอดคล้องกับภาคเอกชนที่มีความต้องการงานด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  

.

ดังนั้นความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการนี้ จึงเป็นการบ่งบอกถึงศักยภาพและความพร้อม เพื่อให้บริการทางด้านวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้อย่างกว้างขวางและมีทิศทางตรงตามเป้าประสงค์ อันจะนำมาซึ่งขีดความสามารถ ความมีมาตรฐานในการส่งเสริมสนับสนุน ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศได้ต่อไป 

.

“...วว. มีนักวิชาการ นักวิจัย หลากหลายสาขา มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาสามารถผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศจำนวนมาก ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้จะทำให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เนื่องจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการในหลากหลายธุรกิจ” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

.

นายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมากมาย อาทิ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว  การเปิดเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย              

.

โดยมีกรอบความร่วมมือร่วมกัน 4 ด้านได้แก่ 1.ร่วมมือเพื่อส่งเสริมศักยภาพของสภาอุตสาหกรรมฯและวว.ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 2.แลกเปลี่ยนข่าวสารและเอกสารทางวิชาการที่เป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน       

.

3.ร่วมกันพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาองค์ความรู้ 4.ร่วมมือดำเนินการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท.และวว.ในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย ได้นำงานวิจัยของ วว.ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์                     

.

ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมนั้นมีเครือข่ายผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม จำนวน 39 กลุ่ม โดยมีสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 74 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างบูรณาการมาอย่างต่อเนื่อง 

.

“....การทำงานร่วมกันระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ วว.ในครั้งนี้จะเป็นส่วนเติมเต็มที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอด และนำมาใช้ให้เกิดผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป...” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติม

.

ปัจจุบัน วว. มุ่งเป็นองค์กรนวัตกรรมเทคโนโลยีผสมผสานชั้นนำของอาเซียน เป็นศูนย์กลางการบริการที่ทันสมัย มีการจัดการแบบธรรมาภิบาล และร่วมพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ ครอบคลุมด้านการพัฒนาธุรกิจและการตลาด การวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่ เทคโนโลยีอาหาร เภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เทคโนโลยีการเกษตร ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ พลังงาน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร นวัตกรรมวัสดุ วิศวกรรม

.

อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการให้บริการอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยงานสนับสนุนที่เข้มแข็ง ได้แก่ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชน คือ ห้องปฏิบัติการมาตรฐานทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

.

ห้องปฏิบัติการมาตรฐานทางแสงและอุณหภูมิ ห้องปฏิบัติการมาตรฐานวิศวกรรมทางกล ห้องปฏิบัติการทดสอบทางฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ ห้องปฏิบัติการชีวเคมีและจุลชีววิทยา

.

รวมทั้งยังมี ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติวัสดุ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบสภาพการใช้งาน และห้องปฏิบัติการพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุ ให้บริการแก่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ         

.

อีกทั้งยังมีศูนย์ความรู้ และสำนักรับรองระบบคุณภาพ ซึ่งให้บริการด้านการตรวจประเมินการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001 ISO 14001 GMP HACCP และ TIS 18001 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคการผลิตและการบริการของประเทศไทย ให้เข้าสู่ระบบคุณภาพมาตรฐานและเตรียมความพร้อมเพี่อเข้าแข่งขันในระดับสากล