เนื้อหาวันที่ : 2010-03-08 11:51:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1342 views

ถกปัญหาแผน PDP 2010 ก่อนเสนอ กพช. มี.ค.นี้

นักวิชาการจวกแผน PDP 2010 พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเกินจริง แนะก.พลังงานเปิดเผยข้อมูลแสดงการวิเคราะห์ที่ชัดเจนต่อสาธารณะ

นักวิชาการจวกแผน PDP 2010 พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเกินจริง แนะก.พลังงานเปิดเผยข้อมูลแสดงการวิเคราะห์ที่ชัดเจนต่อสาธารณะ

.

.

4 มี.ค.53 คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2010” ณ ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ อาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรวมรวมข้อมูลและความเห็นเสนอต่อรัฐบาล คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และกระทรวงพลังงาน

.

จากนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานในการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP 2010 ในช่วง 20 ปี (ปี 2553-2573) เพื่อสร้างความชัดเจนในการจัดหาไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว กระตุ้นการลงทุนด้านพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยมีกำหนดจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคมนี้ 

.

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนต่อร่าง PDP 2010 ไปแล้ว 2 ครั้ง หลังจากนั้นได้มีการเปิดเผยว่าจะมีการทบทวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยปรับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็กเพิ่มขึ้น  

.

อย่างไรก็ตามแผน PDP 2010 ดังกล่าวยังถูกท้วงติงจากภาคประชาสังคมด้วยข้อห่วงใยต่างๆ อาทิ กรณีที่มีการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยนำตัวเลข GDP กรณีสูงสุดมาใช้พยากรณ์ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริง อีกทั้งยังมีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังการผลิต 1,000 เมกกะวัตต์ 5 โรง อยู่ในแผนด้วย

.

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายถึง 4 ประเด็น คือ การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) กับนโยบายภาครัฐ ความน่าเชื่อถือของการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ระบบประกันกำไรและวางแผนการลงทุนเกินความจำเป็น และประเด็นประสิทธิภาพและความรับผิดชอบในการวางแผน PDP กับความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค 

.

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ อนุกรรมาธิการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันประเทศในอยู่ในภาวะวิกฤตที่มูลค่าการนำเข้าพลังงานสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2549 มูลค่าการนำเข้าพลังงานแทบจะเท่ากับมูลค่าสินค้านำเข้าทั้งหมด อีกทั้งยังมีวิกฤติในเรื่องประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน  

.

ขณะที่ทิศทางการพัฒนาประเทศในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนจากเศรษฐกิจการผลิตอุตสาหกรรมไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และสังคมฐานความรู้ โครงสร้างประชากรจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 

.

นอกจากนั้น ยังมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2551มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 62 ราย มูลค่า 19.9 พันล้านบาท  

.

ขณะที่ปี 2552 มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนถึง 402 ราย มูลค่า 229 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้นอกจากช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่แล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้ามากขึ้น 

.

ในส่วนข้อเสนอสำหรับการวางแผน PDP นายศุภกิจ กล่าวว่ากระทรวงพลังงานควรแสดงการวิเคราะห์ที่ชัดเจนกับสาธารณะเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศและการพัฒนาอุตสาหกรรม กับการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ และควรกำหนดเป้าหมายของการวางแผนพีดีพีให้ดี ชัดเจน และวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ  

.

เช่น การลดภาระการนำเข้า เพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของระบบเศรษฐกิจและนวัตกรรมด้านพลังงาน สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการศึกษา GDP ระยะยาวควรครอบคลุมประเด็นทางการพัฒนาประเทศและโครงสร้างประชากรในอนาคต

.

ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมาธิการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงปัญหาของการพยากรความต้องการไฟฟ้ากับแผน PDP 2010 ว่า จากประสบการณ์ในกรณีแผน PDP 2004 และ PDP 2007 ที่มีปัญหาการพยากรณ์เกินจริง

.

โดยสมมติฐานว่าเป็นเพราะใช้ตัวเลข GDP ที่เกินจริงเป็นฐานในการพยากรณ์ ทำให้ในแผน PDP 2010 มีค่าความยืดหยุ่นของความต้องการไฟฟ้าต่อ GDP ที่สูง โดยความยืดหยุ่นเฉลี่ยปี 2009-2014 เท่ากับ 1.238 สูงกว่าช่วงปี 2004-2009 ที่ความยืดหยุ่นเฉลี่ยเท่ากับ 0.905 ที่พบว่ามีการพยากรณ์เกินจริง

.

ดร.ชโลทร กล่าวถึงข้อเสนอการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสำหรับแผน PDP 2010 ว่า ควรมีการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณะที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว และกำหนดค่าความยืดหยุ่นของการเติบโตของ GDP เพื่อนำมาจัดทำแผน PDP ได้อย่างถูกต้อง และนำผลการศึกษาการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในการจัดทำแผน PDP มารวบรวมและเผยแพร่ต่อสาธารณะ  

.

รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนและเผยแพร่เกี่ยวกับการปรับแผนพีดีพีใน อนาคต โดยให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่นว่าหากค่าพยากรณ์คลาดเคลื่อนเกินร้อยละ 2 ให้ปรับปรุงแผน และหากมีการคลาดเคลื่อนเกินกว่าร้อยละ 5 ก็ให้จัดทำแผนฉบับใหม่ 

.

นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น นักวิชาการอิสระกล่าวถึงปัญหาธรรมาภิบาลในการปรับปรุงแผน PDP ว่า ในเรื่องประสิทธิภาพการลงทุน มีการใช้ผลตอบแทนจากเงินลงทุน (Return on Invested Capital: ROIC) ที่มีขึ้นมาเพื่อรองรับการเข้าตลาดหุ้น มาเป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดค่าไฟฟ้า ต้องมีการกำกับดูแลแผนการลงทุนที่เข้มงวด เพราะอาจทำให้เกิดการลงทุนที่เกินความจริง  

.

เนื่องจากยิ่งลงทุนมากยิ่งกำไรมาก อีกทั้งเมื่อคณะกรรมการกำกับดูแลขาดข้อมูล ความรู้ และบุคลากรที่เพียงพอในการตรวจสอบถ่วงดุลและขาดอำนาจการพิจารณาอนุมัติ จะส่งผลให้การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้ามักสูงเกินจริง และการวางแผนเน้นทางเลือกที่ใช้การลงทุนสูง 

.

ผลประโยชน์ของการไฟฟ้าและ ปตท.เป็นวงจรที่เกื้อหนุนต่อการขยายการลงทุนภายใต้ระบบผูกขาด โดยการวางแผนและลงทุนขยายระบบไฟฟ้าหรือก๊าซที่อิงตัวเลขพยากรณ์และเน้นรูปแบบการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูง ทำให้เกิดต้นทุนสูง แต่ต้นทุนนั้นถูกปรับเปลี่ยนเป็นอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติหรือค่า Ft ที่สามารถผลักภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้า รายได้ของผู้ลงทุนถูกประกันแล้ว ทำให้การพยากรณ์ไฟฟ้ามักเกินความจริงกลายเป็นวงจร

.

นางชื่นชมกล่าวต่อมาว่า แผน PDP ของไทยป่วยเรื้อรังจากโรคลงทุนเกินความจำเป็น โดยการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้ามักสูงเกินจริง ส่วนมาตรการประหยัดพลังงาน (DSM) กลับถูกลดทอนในแผน PDP โดยในแผน PDP 2010 มีเพียงโครงการเปลี่ยนหลอดผอม T5 เท่านั้นที่นำมาปรับลดความต้องการไฟฟ้าจากตัวแบบลงเนื่องจากเป็นโครงการใหม่  

.

ทั้งนี้มีการประมาณการว่า หลอดผอม T5 จะทำให้ลดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 8,708 ล้านหน่วยต่อปี โดยใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท แต่การนำมาปรับลดความต้องการไฟฟ้าได้ลงเฉลี่ย 1,170 ล้านหน่วยต่อปีเท่านั้น 

.

อีกทั้ง DSM สามารถทำโครงการใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีที่จะประหยัดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่แผน PDP ของไทยไม่เลือกใช้ DSM และโครงการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency: EE) แต่มุ่งเน้นการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูงกว่ามาก ทั้งนี้ PDP 2010 อาจนำมาสู่การลงทุนเกินจะเป็นกว่า 20,000 MW และการลงทุนเกินจะก่อให้เกิดภาระค่าโง่นับหมื่น นับแสนล้านต่อปี

.

นอกจากนั้น ประเทศไทยมีกำลังผลิตสำรองที่สูงเกินความจำเป็น โดยเกณฑ์ในการกำหนดความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของไทย มีตัวชี้วัดโอกาสไฟฟ้าดับ (LOLP) ไม่เกินปีละ 24 ชั่วโมง หรือ 0.27 เปอร์เซ็นต์ และกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับตัวชี้วัดโอกาสไฟฟ้าดับของรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกาซึ่งมีความมั่นคงมากกว่าประเทศไทยมาก มี LOLP ต่ำกว่า 0.03 เปอร์เซ็นต์ แต่คำนวณแล้วพบว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ได้ใช้ตัวชี้วัดโอกาสไฟฟ้าดับมาวิเคราะห์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจริงๆ

.

นางชื่นชมกล่าวถึงข้อเสนอว่า ควรยกเลิกระบบประกันผลกำไรให้การไฟฟ้า และสร้างระบบรับผิดในการวางแผนและพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าด้วยการให้ผู้ต้องการใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ก่อให้เกิดภาระในการจัดหาไฟเพิ่มขึ้นต้องรับผิดชอบ  

.

รวมทั้งยกเลิกการชดเชยหน่วยขาวไฟฟ้าในสูตร Ft เพื่อตัดวงจรการขยายระบบอย่างไรประสิทธิภาพ ให้พิจารณา DSM เป็นทางเลือกในการลงทุนจัดหาไฟฟ้า อีกทั้งต้องมีการตรวจสอบแผน PDP ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ โดยเปรียบเทียบแผนมากกว่า 1 แผนเพื่อเลือกเอาแผนที่ตอบสนองนโยบายรัฐมากที่สุด

.

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาการทับซ้อนในผลประโยชน์ มีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ข้าราชการระดับสูงเข้าไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท.หรือ กฟผ.และมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านพลังงานเข้าไปเป็นกรรมการและรับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทเอกชนหลายราย ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และปัญหาธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

.

ทั้งนี้การที่เจ้าพนักงานของรัฐได้รับค่าตอบแทนจำนวนมากจากการเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนที่มากกว่าเงินเดือนข้าราชการ อาจมีผลต่อการกำกับดูแลเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ส่วนรวม 

.

นายอิฐบูรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอว่า นโยบายพลังงานแห่งชาติต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ก่อนนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง ต้องยกเลิกกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการเป็นกรรมการบริษัทด้านกิจการพลังงานและไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใกล้ชิดในกิจการพลังงานเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการ 

.

การกำกับกิจการพลังงานควรขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นระบบผูกขาดโดยธรรมชาติต้องอยู่ภายใต้การบริหารของภาครัฐโดยตรง และต้องเร่งพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฐานให้เป็นธรรมและยกเลิกเก็บค่า Ft กับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มที่อยู่อาศัย

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2010 ว่า เรื่องโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บรรจุอยู่ในแผน PDP มีเป้าเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวยังสามารถแก้ไขได้ 

.

ส่วนข้อสังเกตว่าการทำแผนระยะยาว 20 ปี เป็นเพราะไม่ต้องการให้โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลุดไปจากแผน PDP 2010 นั้น นายวีระพลกล่าวว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละโรงต้องใช้เวลา 5-7 ปี จึงจะส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ หากการวางแผนให้เวลาน้อยเกินไปจะไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อนำพลังงานมาใช้ได้ทัน ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังก๊าซที่ต้องมีการก่อสร้างแนวท่อส่งก๊าซต้องใช้เวลามาก  

.

นอกจากนี้การที่ไทยรับซื้อก๊าซจากต่างประเทศเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่หากไม่ได้ตามเป้าหมายการทำแผนรองรับเพื่อนำพลังงานมาชดเชยจะไม่สามารถทำได้ทันการ ดังนั้นแผน PDP ควรต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 ปี 

.

ส่วนโครงสร้างค่าไฟ มีการปรับทุก 5 ปี การปรับครั้งล่าสุดเริ่มทำการศึกษาตั้งแต่ปีที่แล้วและยังมีการดำเนินการอยู่ ซึ่งคงไม่มีการนำผลตอบแทนจากเงินลงทุน (ROIC) มาใช้อีก แต่ไม่แน่ใจว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่

.

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 มี.ค.53 คณะทำงานทบทวนสมมติฐานแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010)” เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ของประเทศไทย ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท