เนื้อหาวันที่ : 2007-01-23 12:03:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1369 views

ในช่วง 3 – 5 ปี ญี่ปุ่นยังปักหลักการลงทุนในเมืองไทย

หอการค้าญี่ปุ่นแนะธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าร้อยละ 30 หลังกระทบการกู้ยืมเงินบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นกับบริษัทลูกในไทย ยัน 3-5 ปี นักลงทุนญี่ปุ่นยังเดินหน้าลงทุนในไทยต่อ

หอการค้าญี่ปุ่นเตรียมตั้งคณะตัวแทนเจรจากับ ธปท. หวังผ่อนคลายมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าร้อยละ 30 พร้อมตั้งคณะทำงานภายในเดือนนี้ เพื่อศึกษาผลกระทบต่อบริษัทญี่ปุ่น และมาตรการที่จะต้องทำเพื่อรองรับผลกระทบจากการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ยืนยัน 3-5 ปีนับจากนี้ไป นักลงทุนญี่ปุ่นยังเดินหน้าลงทุนในไทยต่อ แนะรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการสำรองเงินทุนร้อยละ 30

.

นายเท็ตสึจิ บันโน ประธานหอการค้าญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ) หรือ เจซีซี กล่าวภายหลังหารือร่วมกับนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงพาณิชย์ ว่า เจซีซี เตรียมตั้งคณะตัวแทนเจรจากับ ธปท. เพื่อผ่อนคลายมาตรการกันสำรองของเงินทุนนำเข้าร้อยละ 30 พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบต่อบริษัทญี่ปุ่น และมาตรการที่ต้องรองรับจากการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ภายในเดือนนี้

.

ประธานหอการค้าญี่ปุ่น กล่าวว่า มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของ ธปท. กระทบการให้กู้ยืมเงินระหว่างบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นกับบริษัทลูกในไทย ซึ่งในระยะสั้นถึงระยะกลาง บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นยังรับผลกระทบไว้ แต่หากรัฐบาลไทยยังยืนยันว่าจะเป็นมาตรการระยะยาว ก็จะทบทวนหนทางแก้ไขผลกระทบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมในระยะสั้นถึงปานกลาง หรือ 3-5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น ดังนั้น แผนลงทุนระยะสั้น 3-5 ปีนับจากนี้ไปของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย คงไม่เปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนในไทยที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว แต่คงระมัดระวังการตีความและการปรับใช้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และมาตรการสำรองเงินทุนร้อยละ 30 เพราะมีผลกระทบต่อจิตวิทยา และกระทบต่อการระดมทุนของบริษัทญี่ปุ่น

.

อย่างไรก็ตาม หอการค้าญี่ปุ่นยังมองไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนต่อไป แต่อยากให้ผ่อนคลายผลกระทบที่มีต่อนักลงทุนบ้าง สำหรับจุดแข็งของไทยที่นักลงทุนญี่ปุ่นมองเห็น คือ ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค การมีคลัสเตอร์ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การมีเสถียรภาพทางการเมือง และรัฐบาลมีมาตรการผลักดันสนับสนุนเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ แม้ว่าเสถียรภาพทางด้านการเมืองจะสะดุดบ้าง แต่ไม่กังวลมากนัก ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นขอเรียกร้องไม่ให้ทางการไทยเพิ่มมาตรการควบคุมบังคับ ควรจะมีมาตรการกระตุ้นและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในไทยมากกว่า และหอการค้าญี่ปุ่นมองว่า การที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอลง นับเป็นการชะลอลงในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเช่นกัน

.

ด้านนายปิยะบุตร กล่าวว่า วันนี้ (22 ม.ค.) บีโอไอได้เชิญหอการค้าญี่ปุ่น ตัวแทนจาก ธปท. และกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกัน เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นยอมรับว่าเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และส่วนใหญ่ซักถามถึงมาตรการสำรองเงินนำเข้าร้อยละ 30 ของต่างชาติ ซึ่งการพบกันมีเวลาจำกัด จึงได้ขอให้นักลงทุนญี่ปุ่น หากต้องการความชัดเจนเพิ่มเติมใด ๆ ให้เขียนจดหมายไปสอบถามยัง ธปท. และกระทรวงพาณิชย์ ในขณะที่ ธปท. รับทราบผลกระทบและเข้าใจถึงผลกระทบด้านเงินทุนที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนญี่ปุ่นและรับเรื่องไว้ ซึ่งเชื่อว่าการจะผ่อนคลายมาตรการสำรองร้อยละ 30 หรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพการไหลเข้าของเงินทุน ค่าเงินบาทและเสถียรภาพของค่าเงินว่าเป็นอย่างไรบ้าง และการที่มาตรการนี้เริ่มใช้ไปเพียง 1 เดือนเท่านั้น ขณะนี้จึงเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า การไหลเข้าของเงินทุนและค่าเงินบาทมีเสถียรภาพหรือยัง ธปท.จึงขอเวลา

.

นายปิยะบุตร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จากการที่ผู้บริหารของโตโยต้าเดินทางมาประเทศไทย ตนได้หารือกับผู้บริหารโตโยต้า และทราบว่า ทางโตโยต้ายืนยันและแสดงความมั่นใจต่อประเทศไทย พร้อมที่จะขยายการลงทุนผลิตรถยนต์จาก 400,000 คัน เป็น 500,000 คัน/ปี.