เนื้อหาวันที่ : 2010-03-02 13:40:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2241 views

ก.พลังงานให้สัมปทานปิโตรเลียม เร่งหาน้ำมันและก๊าซฯเพิ่ม

"วรรณรัตน์" เผยกระทรวงพลังงานให้สัมปทานปิโตรเลียม 4 ฉบับใน 5 แปลงสำรวจบนบก สนองนโยบายเร่งรัดสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันภายในประเทศ

"วรรณรัตน์" เผยกระทรวงพลังงานให้สัมปทานปิโตรเลียม 4 ฉบับใน 5 แปลงสำรวจบนบก สนองนโยบายเร่งรัดสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันภายในประเทศ

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีลงนามให้สัมปทานเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกจำนวน 4 สัมปทาน ใน 5 แปลงสำรวจ ว่า การให้สัมปทานในครั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552

.

ที่ได้อนุมัติให้กระทรวงพลังงานออกสัมปทานปิโตรเลียมให้แก่ผู้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมที่ได้ผ่านการคัดเลือกและกลั่นกรองโดยคณะกรรมการปิโตรเลียมและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว เพื่อเร่งรัดสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล

.

สำหรับการออกจำนวน 4 สัมปทานสำหรับแปลงสำรวจบนบก 5 แปลง มีรายละเอียด ดังนี้
1. แปลงสำรวจหมายเลข L3/50 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตากและลำปาง ออกให้แก่บริษัท JSX Energy (Thailand) Limited
2. แปลงสำรวจหมายเลข L50/50 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสระแก้ว บุรีรัมย์และนครราชสีมา ออกให้แก่บริษัท Pearl Oil (Resources) Ltd

.

3. แปลงสำรวจหมายเลข L52/50 และ L53/50 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราชและกระบี่ ออกให้แก่บริษัท Pearl Oil (Resources) Ltd และบริษัท Carnarvon Petroleum Limited
4.  แปลงสำรวจหมายเลข L31/50 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ออกให้แก่บริษัท Shaanxi Yanchang Petroleum (Group) Co.,Ltd.

.

โดยการให้มัปทานในครั้งนี้จะทำให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสในการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ รวมทั้งปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ทั้งนี้บริษัทที่ได้รับสัมปทานข้างต้นจะดำเนินงานสำรวจช่วงระยะ 3 ปี แรก คือ ระหว่างปี 2553-2555

.

ด้วยการศึกษาธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ ประมวลผลข้อมูลเดิม การสำรวจวัดความไหวสะเทือนแบบสองมิติเป็นระยะทาง 1,050 กิโลเมตร สำรวจวัดความไหวสะเทือนแบบสามมิติเป็นระยะทาง 200 ตารางกิโลเมตร ตลอดจนเจาะหลุมสำรวจ 5 หลุม ซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,500 ล้านบาท

.

นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับประโยชน์ในครั้งนี้อีกหลายภาคส่วน เช่น เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย ทุนการศึกษาฝึกอบรมอีกประมาณ 52 ล้านบาท รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศชาติ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยในท้องถิ่นอีกด้วย

.

ทั้งนี้หากค้นพบและสามารถผลิตปิโตรเลียมจะทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์ในรูปเงินค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละ 5-15 ตามระดับอัตราของการผลิต รวมทั้งภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ และหากเป็นแหล่งใหญ่หรือน้ำมันมีราคาสูงก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษตามกฎหมายเพิ่มขึ้น

.

สำหรับปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งทรัพยากรในประเทศในรูปของก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และน้ำมันดิบ คิดเป็นปริมาณเทียบเท่าน้ำมันดิบประมาณวันละ 700,000 บาร์เรล หรือร้อยละ 40 ของความต้องการปิโตรเลียมภายในประเทศ ซึ่งใน 4 เดือนแรกของงบประมาณ 2553 คือเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนมกราคม 2553 สามารถผลิตปิโตรเลียมได้คิดเป็นมูลค่า 153,298 ล้านบาท และรัฐได้รับผลประโยชน์ในรูปค่าภาคหลวงปิโตรเลียมรวมเป็นเงิน 18,937 ล้านบาท

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน