เนื้อหาวันที่ : 2010-02-15 11:06:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3310 views

สนพ.หนุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์

กระทรวงพลังงาน หนุนจัดงาน Solar Business Bangkok 2010 เดินหน้าส่งเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดโลกร้อน

กระทรวงพลังงาน หนุนจัดงาน Solar Business Bangkok 2010 เดินหน้าส่งเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดโลกร้อน

.

.

กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หนุนมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจัดงาน Solar Business Bangkok 2010 ภายใต้หัวข้อ

.

“PV Solar Energy: Getting Down to Business”  ระหว่างวันที่ 22 – 23 มีนาคม 2553 ณ ฮอลล์เอ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นเวทีให้นักลงทุนได้พบปะกับเจ้าของเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุน เปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหาโลกร้อนอีกด้วย

.

งาน Solar Business Bangkok 2010 ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก โดยล่าสุด บริษัท โตเกียว อิเล็กตรอน จำกัด เจ้าของเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Thin Film ให้การสนับสนุนการจัดงาน โดยมองว่าตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคนี้

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า มาตรการ  “ส่วนเพิ่ม” อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล (ADDER) ทำให้การไฟฟ้าสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ในราคาเฉลี่ย 10.50 บาท/หน่วย ประกอบกับการตั้งโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ราคาของเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ดึงดูดให้นักลงทุนหันมาสนใจโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนมาก

.

โดยปัจจุบันมีผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าจำนวน 200 ราย ปริมาณเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบ 852 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโครงการที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วเพียง 7.7 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการ ต่อข้อกังวลของผู้ประกอบการที่รัฐบาลกำหนดปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อที่ได้รับ ADDER ให้เป็นไปตามเป้าหมายในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี หรือเท่ากับ 500 เมกะวัตต์ในปี 2565

.

สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์นั้น นายวีระพลฯ ชี้แจงว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นเป้าหมายขั้นต่ำ ซึ่งการไฟฟ้าสามารถรับซื้อไฟฟ้า โดยให้ ADDER กับปริมาณพลังไฟฟ้าที่ภาคเอกชนเสนอขายทั้งหมด  ซึ่งการผลักดันโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงเป็นความท้าทายของภาครัฐ  สนพ. จึงให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้โครงการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

.

นายชาย ชีวะเกตุ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยมีมาตั้งแต่ปี 2546 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดประมาณ 500 กิโลวัตต์ ณ อำเภอผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

.

ซึ่งต้องยอมรับว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในขณะนั้นยังจำกัดอยู่แค่หน่วยงานของรัฐ ทำให้องค์ความรู้ต่างๆ จำกัดอยู่แค่บุคคลบางกลุ่ม ในขณะที่ประเทศมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์สูงมาก มูลนิธิฯ จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในด้านเทคนิคและการเงินการลงทุน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักลงทุนไทยในการพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์

.

นางสาวสุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) กล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์ของ มพส. ในฐานะผู้จัดการกองทุน ESCO Fund ที่ร่วมลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 6.1 เมกะวัตต์ของบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด พบว่า มาตรการ ADDER และราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกลงมีผลทำให้โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มีความคุ้มค่าในการลงทุนมากขึ้น

.

แต่การพัฒนาโครงการก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ เช่น การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม มูลค่าการลงทุนของโครงการ ความเชื่อมั่นของสถาบันการเงิน ระเบียบการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า เป็นต้น 

.

มูลนิธิฯ จึงจัดงานในครั้งนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่ประสบการณ์การพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ไปจนถึงการผลิตไฟฟ้า

.

โดยภายในงาน Solar Business Bangkok 2010 จะประกอบด้วยส่วนนิทรรศการซึ่งจะมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกว่า 30 บริษัทร่วมจัดแสดงสินค้า และการสัมมนาซึ่งมีทั้งการบรรยายและการระดมความคิดเห็น โดยวิทยาการชั้นนำทั้งในและต่างประเทศกว่า 20 ท่าน และผู้เข้าร่วมสัมมนาไม่น้อยกว่า 500 ท่าน

.

ส่วนไฮไลท์ของงานได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำของโลก อาทิ Dr.Arnulf Jäger-Waldau  จากสหภาพยุโรป เจ้าของผลงาน PV Status Report 2009  Dr.Matthias Vetter ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันชื่อดังด้านพลังงานแสงอาทิตย์ Fraunhofer ประเทศเยอรมนี Mr.Sunil Gupta

.

ผู้บริหารจากสถาบันการเงินชื่อดัง  Morgan Stanley และผู้แทนจาก World Bank Group ร่วมกันมาถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งด้านการตลาด เทคโนโลยีและการเงินการลงทุนทั่วโลก และสำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย มพส. ได้รับเกียรติจากกูรูแห่งวงการเซลล์แสงอาทิตย์หลายท่าน

.

อาทิ รศ.ดร.วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร  คุณวันดี กุญชรยาคง  ดร.ดุสิต เครืองาม ผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินชื่อดังหลายแห่ง ซึ่งทางมูลนิธิฯ เชื่อว่าการนำแนวทางของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยจะช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ

.

นายธวัชชัย สุวรรณคำ ตัวแทนจากบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เสริมว่า ราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ลดลงและความสามารถของคนไทยในการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้ต้นทุนของโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถูกลง จึงจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับสินเชื่อระยะยาวจากธนาคารกสิกรไทย 

.

นายธวัชชัยฯ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงิน และเชื่อว่างาน Solar Business Bangkok 2010 ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจในหลายๆ วงการ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารองค์กรและผู้ร่วมงานรับทราบข้อมูลข่าวสารด้านการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแท้จริง และนับได้ว่าเป็นงานที่รวบรวมสินค้า บริการ และข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มาไว้มากที่สุด สมบูรณ์แบบและครบวงจร

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน