เนื้อหาวันที่ : 2007-01-18 17:13:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4039 views

การผูกขาดของทีมใหญ่ในลีกฟุตบอลยุโรป

การบริโภคบริการการชมฟุตบอล ผู้บริโภคจะเกิดความพึงพอใจ หากเกมการแข่งขันดังกล่าวมีความตื่นเต้นสนุกเร้าใจผู้ชม ผู้บริโภคมีความคาดหวัง

จากสภาวการณ์ปัจจุบันหากเราสังเกตรูปแบบของธุรกิจในหลายธุรกิจมีปัจจัยด้านการผูกขาดเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร โดยงานเขียนชิ้นนี้มุ่งอธิบายปรากฏการณ์การผูกขาดที่เกิดขึ้นทางธุรกิจ และเพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หนักเกินไป ผู้เขียนจะขอใช้ตัวอย่างของฟุตบอลลีกยุโรปซึ่งในระยะหลังหากท่านผู้อ่านเป็นแฟนฟุตบอล (เหมือนผู้เขียน) จะเห็นได้ว่าช่องว่างระหว่างทีมใหญ่กับทีมเล็กเกิดขึ้นและกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และงานเขียนนี้มีความมุ่งหวังจะสื่อความใน 2 ประเด็นหลักคือ

1.อำนาจผูกขาดเกิดจากอะไร

2.ผลกระทบจากการผูกขาดดังกล่าว

.
ภาพรวมของการผลิตและบริโภคกีฬาฟุตบอลอาชีพ

ในปัจจุบัน กีฬาฟุตบอลอาชีพ ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสินค้าและบริการ (Commodity) มากขึ้น ๆ โดยมีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเหมือนสินค้าประเภทอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งต่อไปผู้เขียนขออนุญาตเรียกการบริโภคสินค้าและบริการดังกล่าว ว่า บริการการชมฟุตบอล บริการดังกล่าวผู้บริโภคสามารถบริโภคเพื่อตอบสนองความพอใจของตัวเองจากการชมเป็นหลัก รูปแบบของการเข้าถึงการบริโภคโดยหลัก ๆ แล้วแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือการเข้าถึงบริการจากการชมในสนามแข่งขัน และ การชมจากโทรทัศน์โดยอาศัยการถ่ายทอดสดเป็นหลัก

.

การบริโภคบริการการชมฟุตบอล ผู้บริโภคจะเกิดความพึงพอใจ (Utility) หากเกมการแข่งขันดังกล่าวมีความตื่นเต้นสนุกเร้าใจผู้ชม ทั้งนี้ผู้บริโภคมีความคาดหวังจากการชมในแต่ละนัดไม่เหมือนกัน เราอาจสรุปได้ว่าดีมานด์หรือความต้องการในการชมฟุตบอลของผู้บริโภคแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ คือ ราคาในการชมแต่ละครั้ง (Price/Match) รายได้ (Income) รสนิยม (Taste) ฤดูกาลแข่งขัน (Season) ตลอดจนราคาในการชมของกีฬาประเภทอื่น (Other Price Goods) เป็นต้น ทั้งนี้จากข้อสังเกตของผู้เขียน รสนิยมในการชมฟุตบอลอาชีพของยุโรปมีผลต่อการบริโภคกีฬาฟุตบอลของคนเกือบทั่วโลก พิจารณาจากการขายค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ซึ่งคาดว่าสาเหตุหลักเนื่องมาจากฟุตบอล ได้ถือกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ และขยายตัวผ่านการล่าอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา นอกจากนี้กีฬาฟุตบอลอาชีพของยุโรปได้ฝังรากลึกมายาวนานจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันโดยเฉพาะประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ความนิยมของลีกดังกล่าวทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Taste หรือรสนิยมในการบริโภคจนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิด Brand Loyalty หรือ ความภักดีในการบริโภคสินค้า และความภักดีดังกล่าวนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สร้างอำนาจผูกขาดให้กับลีกต่าง ๆ เหล่านี้

.

เมื่อพิจารณาถึงด้าน Demand แล้ว ด้าน Supply ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า ผู้ผลิตกีฬาฟุตบอลอาชีพ เราอาจพิจารณาได้ใน 2 ส่วน กล่าวคือ ส่วนแรกการที่จะเกิดฟุตบอลให้เราได้ชมหรือบริโภคได้ต้องมี  สโมสรฟุตบอล (Club) ก่อน สโมสรฟุตบอลเปรียบเสมือน Firm ที่มุ่งดำเนินงานโดยหวังกำไรสูงสุด การจะทำให้เกิดกำไรสูงสุดได้ สโมสรต้องพยายามหารายรับให้มาก ๆ และลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการมีสโมสรฟุตบอลอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการผลิตบริการกีฬาฟุตบอลจำเป็นต้องมี ผู้จัดการแข่งขัน (Promoter) กล่าวคือ ผู้จัดการแข่งขันจะเป็นผู้รวบรวมสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ เข้ามาแข่งขันเพื่อชิงถ้วย และเงินรางวัลอันถือเป็นเกียรติยศของสโมสร โดยผู้จัดการแข่งขัน จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าโฆษณาที่เป็นผู้สนับสนุนรายการแข่งขันฟุตบอลนั้น ๆ ปัจจุบันในแวดวงฟุตบอลยุโรปเราต่างรู้จัก รายการ F.A. Premiership ซึ่งผู้จัดการแข่งขันคือ Football Association (F.A.) ของประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีสมาคมฟุตบอลของประเทศต่าง ๆ ได้ดำเนินการจัดตั้ง รายการฟุตบอลลีกของประเทศตัวเองขึ้นมานอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า (UEFA)ซึ่งเป็นผู้จัดการแข่งขัน ฟุตบอลระดับลีกที่เรียกว่า ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และยังมีรายการ ยูฟ่า คัพ อีกด้วย  ซึ่งรายการการแข่งขันทั้งหลายก็เปรียบเสมือน Product ที่ทั้งผู้จัดการแข่งขันและสโมสรฟุตบอลมีส่วนช่วยกันผลิตบริการหรือสินค้าดังกล่าวออกมาให้ผู้บริโภคได้ชม

.

โดยสรุปแล้ว เราพิจารณาผู้ผลิตหรือซัพพลายในกีฬาฟุตบอลอาชีพได้ 2 ส่วน คือ สโมสรฟุตบอล และผู้จัดการแข่งขัน

.
อำนาจผูกขาดของลีกยุโรปและทีมยักษ์ใหญ่

การอธิบายความหมายของ อำนาจผูกขาด (Monopoly) ในทางเศรษฐศาสตร์ จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ เรื่องของตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์ก่อนจึงจะสามารถมองภาพของลักษณะการผลิตและการบริโภคสินค้าประเภทกีฬาฟุตบอลอาชีพได้ ซึ่งลักษณะของตลาดดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

 (1) ตลาดผูกขาดแท้จริง (Pure Monopoly) ลักษณะของการผูกขาดที่แท้จริง คือ การที่มีผู้ผลิตเพียง รายเดียว หรือ เป็นผู้ผูกขาด  การที่สินค้าที่ผู้ผลิตรายนั้นผลิตแล้วมีคุณสมบัติพิเศษไม่สามารถหาสินค้าอื่นมาทดแทนได้อย่างใกล้เคียง และการที่ผู้ผลิตรายนั้นสามารถกีดกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาแข่งขันได้ ทำให้มีอำนาจในการกำหนดราคาได้อย่างเต็มที่

(2) ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ลักษณะของตลาดดังกล่าวคือมีผู้ผลิตจำนวน 2-3 ราย โดยลักษณะสินค้าที่ผลิตอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกัน ในกรณีที่เหมือนกันผู้ผลิตสามารถรวมหัวกันตั้งราคาหรือมีการตั้งราคาตามผู้นำได้ กรณีที่สินค้ามีความแตกต่างกัน สินค้าเหล่านั้นก็สามารถใช้แทนกันได้ดี

(3) ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic) ลักษณะของตลาดดังกล่าวจะมีผู้ผลิตจำนวนมากแต่จะมีการผลิตสินค้าที่แตกต่างกันแต่สินค้าดังกล่าวจะใช้แทนกันได้ดีทั้งนี้อำนาจในการกำหนดราคาของผู้ผลิตมีอยู่พอสมควรแต่หากตั้งราคาสูงกว่าคู่แข่งมากเกินไปก็อาจจะเสียลูกค้าไปได้

..
สำหรับสาเหตุของการผูกขาดเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

- การที่ผู้ผลิตหลายรายรวมตัวกันผูกขาดในการผลิตโดยยุบรวมเป็นบริษัทเดียวกัน

- การที่รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ออกกฎหมายให้มีผู้ผูกขาดรายเดียว (Legally Monopoly) ทั้งนี้รัฐจะให้สิทธิ์ในการผูกขาดกับเอกชนรายหนึ่งรายใดในการผลิต หรือ รัฐอาจจะเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการนั้นเสียเอง ทั้งนี้รัฐเองจักต้องคำนึงถึงการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย

 - ขนาดของกิจการต้องใหญ่มาก มี Economy of  Scale กล่าวคือยิ่งผลิตมากยิ่งลดต้นทุนหรือต้นทุนต่ำลงทั้งนี้อาจจะเกิดจากการเข้ามาในตลาดก่อนทำให้ธุรกิจนั้นเกิดความชำนาญยิ่งมีความชำนาญความสามารถในการแข่งขันยิ่งมีมากยิ่งมีความได้เปรียบคู่แข่งรายอื่น

 - เป็นเจ้าของวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตแต่เพียงผู้เดียว ผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถหาวัตถุดิบมาใช้แทนได้  ความสามารถในการผลิตก็ยิ่งมีมาก

 - การจดทะเบียนลิขสิทธิ์ หรือเป็นเจ้าของสิทธิ์ (Rights) ตามกฎหมาย

.

เมื่อเราพิจารณาถึงลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์และสาเหตุของการผูกขาดแล้วเราจะทำการวิเคราะห์ดูว่าลักษณะของผู้ผลิตในกีฬาฟุตบอลอาชีพยุโรปเข้าข่ายลักษณะใด เมื่อพิจารณาเฉพาะ สโมสรฟุตบอล ก่อน เราพบว่า ปัจจุบันสโมสรฟุตบอลของแต่ละประเทศในลีกยุโรปมีมากมายในหลายทีม แต่มีสโมสรฟุตบอลใหญ่ ๆ จริง ๆ เพียงไม่กี่สโมสร อาทิเช่น ในพรีเมียร์ลีก มีสโมสรยักษ์ใหญ่อย่าง ลิเวอร์พูล  อาร์เซนอล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นต้น ใน  กัลโช ฯ มีสโมสรยักษ์ใหญ่อย่าง เอซี มิลาน อินเตอร์มิลาน ลาซิโอ โรมา ยูเวนตุส ในลาลีกามีสโมสรยักษ์ใหญ่ เช่น รีล มาดริด บาเซโลน่า ในบุนเดสลีกา มีสโมสรยักษ์ใหญ่ เช่น บาเยิร์นมิวนิค สโมสรทั้งหมดเหล่านี้ปัจจุบันได้มีการรวมตัวกันเรียกตัวเองว่า G14 การพิจารณาลักษณะของธุรกิจใหญ่ ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เราไม่สามารถสรุปแน่ชัดว่า สโมสรทั้งหมดจะมีอำนาจในการผูกขาด ทั้งนี้เมื่อเราพิจารณาจากความหลากหลายของสโมสรผ่านทาง ผลงานที่อยู่ในระดับชั้นนำ ตัวนักเตะและผู้จัดการทีม ตลอดจนฐานะทางการเงิน เราอาจกล่าวได้ว่าสโมสรเหล่านี้ มีความสามารถในการบริหารจัดการภายในสโมสรได้ดีมาก ดีกว่าทีมเล็ก ๆ มีความสามารถในการหารายได้เข้าทีม มีความสามารถในการผลิตนักฟุตบอลชั้นดีขายเป็นรายรับ แม้กระทั่งความสามารถในการซื้อมาขายไปของตัวนักฟุตบอลซึ่งถือเป็นสินทรัพย์หนึ่งของสโมสร นอกจากนี้สโมสรฟุตบอลใหญ่ ๆ ทั้งหลายก็น่าจะมีความสามารถในการบริหารจัดการรายจ่ายได้ดี โดยเฉพาะด้านค่าจ้างของนักเตะซึ่งถือเป็นรายจ่ายหลักที่สำคัญ ความสามารถทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ทีมระดับยักษ์ใหญ่สามารถถีบตัวเองได้ไปไกลกว่าทีมระดับกลางหรือระดับล่างภายในประเทศของตัวเอง  ยิ่งปัจจุบันการมีฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกด้วยแล้วรายรับที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเข้าร่วมการแข่งขันรายการดังกล่าวและได้รับการถ่ายทอดสด เราอาจจะเห็น ลักษณะที่เรียกว่า Dualism เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลอาชีพยุโรปเป็นความห่างตั้งแต่ระดับตัวสโมสรในด้านฐานะทางการเงินและระดับตัวนักฟุตบอลในด้านค่าจ้าง    

.

ดังนั้น เมื่อเราวิเคราะห์จากตัวสโมสรฟุตบอล เราอาจจะไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนนักว่าสโมสรใหญ่ๆเหล่านี้เข้าข่ายในลักษณะใด ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ลีกยุโรปจะเล่นกันในวันเสาร์และอาทิตย์เป็นหลัก มีบางคู่เตะวันจันทร์ นอกจากนี้รายการอย่างแชมป์เปี้ยนส์ลีกและยูฟ่าคัพก็จะเตะกันในวันอังคารถึงพฤหัส การมีโปรแกรมเตะถี่ ๆ เช่นนี้ตลอดสัปดาห์ทำให้ลีกยุโรปสามารถผลิตบริการการชมฟุตบอลมาสู่ผู้บริโภคได้ทุกวัน ซึ่งนอกเหนือจากที่ผู้บริโภคจะสามารถเข้าชมในสนามได้แล้ว ปัจจุบันเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกการบริโภคบริการการชมฟุตบอลได้ทุกช่วงเวลา ซึ่งโปรแกรมการถ่ายทอดสดมักจะถ่ายทอดคู่ที่มีทีมใหญ่ ๆ เป็นหลัก หากเรามอง การบริโภคโดยการชมกีฬาฟุตบอลทั้งในสนามและถ่ายทอดสด เราก็อาจสรุปได้ว่า ลักษณะการชมกีฬาฟุตบอลดังกล่าว เข้าลักษณะ Oligopoly หรือมีผู้ขายน้อยราย หากสังเกตดูจากการถ่ายทอดสดในแต่ละสัปดาห์จะเห็นว่า จะมีการถ่ายทอดสดทีมใหญ่ ๆ เป็นหลัก เช่นในทุกสัปดาห์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจะต้องถ่ายคู่แมนยู อาร์เซนอล และลิเวอร์พูล หรือฟุตบอลอย่างแชมป์เปี้ยนส์ลีกก็จะถ่ายคู่อย่าง รีล มาดริด หรือยูเวนตุส ดังนั้นการถ่ายทอดสดจะถ่ายทอดสดอยู่เฉพาะทีมใหญ่ไม่กี่ทีม ทีมระดับกลางและเล็กจะได้รับการถ่ายทอดสดน้อยมาก  ยิ่งการถ่ายทอดสดทีมใหญ่มากเท่าไร ความห่างชั้นของสโมสรฟุตบอลในประเทศนั้น ๆ ก็มีมากขึ้นเท่านั้น เพราะสโมสรที่ได้รับการถ่ายทอดสดจะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ในการขายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดดังกล่าว

.

เมื่อพิจารณาต่อ ถึงส่วนที่สองของ Supply ในกีฬาฟุตบอล เราต้องพิจารณาถึง ผู้จัดการแข่งขัน ผู้จัดการแข่งขัน จะได้รับสิทธิ์ (Rights) จากสโมสรฟุตบอลทั้งหลายให้เป็นผู้ดำเนินการแข่งขัน โดยจะเป็นผู้กำหนด กฎ กติกา โปรแกรมการแข่งขัน หารายได้จากสปอนเซอร์ และหารายได้จากการขายลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ผู้จัดการแข่งขัน จะเป็นผู้นำรายได้เหล่านี้มาแบ่งให้หมู่สมาชิกนั่นก็คือสโมสรฟุตบอล รายการแข่งขันฟุตบอลก็เปรียบเสมือน ผลิตภัณฑ์ (Product) ยิ่งรายการแข่งขันมีมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่ผู้ผลิตบริการการชมฟุตบอลจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นยิ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากสปอนเซอร์และจากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด แต่ทั้งนี้เรื่องของคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนสำคัญที่ผู้ผลิตบริการจะต้องคำนึงด้วย เราจะเห็นได้จากในการแข่งขันฟุตบอลยุโรปนั้นมีการเปลี่ยนรูปแบบจากระบบ Knock Out ระบบ League หรือ ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก ทำให้ทีมใหญ่สามารถมีโอกาสแก้ตัวมากขึ้น และเพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทำให้เมื่อพิจารณาจากสถิติการเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศจะเห็นว่ามักจะมีแต่ทีมใหญ่ในลีกดัง ๆ ของยุโรปเป็นหลัก มีบางรายการในฟุตบอลยุโรป อย่าง คัพ วินเนอรส์ คัพ ที่ถูกยูฟ่ายกเลิกไป อาจเป็นเพราะคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่พอใจของผู้บริโภคบริการการชมฟุตบอลทำให้ผู้จัดการแข่งขันเห็นว่าผลิตบริการดังกล่าวออกมาแล้วไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป จะเห็นได้ว่าหากลักษณะ Supply ในส่วนผู้จัดการแข่งขันเป็นเช่นนี้ เราจึงสามารถสรุปได้ว่าผู้จัดการแข่งขัน เป็น Pure Monopoly กล่าวคือ เป็นผู้ผูกขาดเพียงรายเดียว อำนาจดังกล่าวนี้ทำให้ ผู้จัดการแข่งขันสามารถกำหนดราคาในการขายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้ มีอำนาจในการควบคุมดูแลเรื่องราคาตั๋วในการเข้าชม หรือราคาของผลิตภัณฑ์ นั้นเอง

.

โดยสรุปแล้ว เมื่อเราพิจารณาถึงอำนาจผูกขาดของผู้ผลิตกีฬาฟุตบอลอาชีพในยุโรป ประเด็นแรกเราต้องแยกก่อนว่า สโมสรฟุตบอล ลักษณะการผลิตและขายบริการให้กับผู้บริโภคอยู่ในรูปของการแข่งขันน้อยราย (Oligopoly) ทั้งนี้หากพิจารณาจากโอกาสในการบริโภคของผู้ชมซึ่งถ้าเข้าไปดูในสนามก็ดูเหมือนลักษณะตลาดจะค่อนข้างแข่งขันกันกล่าวคือผู้บริโภคสามารถเลือกดูได้ตามคู่ที่ตัวเองพอใจแต่หากพิจารณาจากสภาพการบริโภคบริการการชมฟุตบอลในปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั่วโลกชมฟุตบอลลีกยุโรปดัง ๆ จากการถ่ายทอดสดและการถ่ายทอดสดดังกล่าวมักจะถ่ายทอดสดเฉพาะทีมใหญ่ ๆ อยู่ไม่กี่ทีมทำให้รายได้จากการถ่ายทอดสดจึงตกอยู่กับทีมใหญ่ ๆ แม้ว่าทีมระดับกลางและเล็กในพรีเมียร์ลีกหรือกัลโช่ ฯ จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการเป็นสมาชิกในลีกนั้น ๆ ก็ตามแต่โอกาสที่ได้รับการถ่ายทอดสดหรือให้ผลิตบริการการชมฟุตบอลมีน้อยจึงทำให้เกิดความแตกต่างทางรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างทีมใหญ่กับทีมขนาดกลางและเล็กนอกจากนี้ ความสามารถของทีมใหญ่ในการบริหารจัดการในเรื่องของรายรับและค่าใช้จ่ายของทีมใหญ่ดีกว่าทีมระดับกลางและเล็กสังเกตจากการนำสโมสรเข้าตลาดหุ้นของทีมใหญ่เพื่อระดมทุน ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่าลักษณะการแข่งขันที่น้อยรายของทีมใหญ่ ๆ ในลีกยุโรปมีเทคโนโลยีในการถ่ายทอดสดเป็นตัวกระตุ้นสร้างให้ทีมเหล่านี้สามารถผลิตบริการการชมฟุตบอลได้ทั่วโลกพูดง่าย ๆ คือการแข่งขันฟุตบอลแต่ละนัดสโมสรใหญ่ ๆ สามารถขายบริการการชมฟุตบอลของตนเองได้เกือบทั้งโลกในสถานที่ต่างกัน ยิ่งมีรายการการแข่งขันมากขึ้นเท่าไรทีมเหล่านี้ก็สามารถผลิตบริการการชมฟุตบอลมากขึ้นเท่านั้นและสามารถสะสมทุน (Capital Accumulation) ได้เพิ่มขึ้น การสะสมทุนดังกล่าวสามารถทำให้ทีมใหญ่ ๆ สามารถสร้างองค์ประกอบการทีมให้ดีขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นการจ้างนักเตะที่มีฝีเท้าดี การจ้างผู้จัดการทีมเก่ง ๆ องค์ประกอบของทีมที่ดี นำมาซึ่งผลการแข่งขันที่ประสบความสำเร็จ และความสำเร็จก็จะยิ่งเพิ่มความต้องการและความอยากชมฟุตบอลมากยิ่งขึ้น ในประเด็นที่สอง ผู้จัดการแข่งขัน ลักษณะการผลิตและขายบริการให้กับผู้บริโภคอยู่ในรูปของการผูกขาด (Monopoly) อำนาจผูกขาดมาจากการได้รับสิทธิ์ในการให้เป็นผู้จัดการแข่งขันรายการดังกล่าว นอกเหนือจากการพิจารณาอำนาจผูกขาดที่มาจากฝั่ง Supply แล้ว  อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า อำนาจผูกขาดของสโมสรฟุตบอลใหญ่ ๆ ในยุโรป มาจากฝั่ง Demand ด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องจากการที่ผู้บริโภคมี รสนิยม ในการบริโภคฟุตบอลยุโรป เป็นหลัก จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Brand Loyalty การเกิดความภักดีในการบริโภคบริการการชมฟุตบอลแต่เฉพาะฟุตบอลยุโรปมีแนวโน้มให้พฤติกรรมของผู้บริโภคคนนั้นมี ความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ (Inelastic) ในการชมกีฬาฟุตบอล กล่าวคือ หากผู้ผลิตขึ้นราคาการชมฟุตบอลผู้บริโภคก็จะไม่มีผลกับปริมาณการลดลงของการบริโภคมากนัก

.

ทั้งนี้ในด้านของความพึงพอใจนั้น แฟนบอลทั่วโลกอาศัยช่องทางการบริโภคผ่านทางโทรทัศน์ในรูปแบบการถ่ายทอดสดเป็นหลัก การบริโภคจึงเป็นการบริโภคพร้อม ๆ กันทำให้แฟนบอลทั่วโลกต่างได้รับความพึงพอใจไม่แตกต่างกันทั้งในและนอกสนาม สังเกตได้จากในปัจจุบันที่ ทวีปเอเชียส่วนใหญ่จะนิยมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และกัลโช่ ฯ เป็นหลักขณะที่ในอเมริกาใต้นอกจากฟุตบอลลีกภายในประเทศตัวเองแล้วแฟนบอลบราซิล หรืออาเจนติน่าต่างหลงใหลฟุตบอลลาลีกาของสเปนทั้งนี้ก็เนื่องจากการถ่ายทอดสดในอเมริกาใต้จะเน้นเฉพาะฟุตบอลลาลีกาเพราะวัฒนธรรมทางภาษาของลาตินใกล้เคียงกับทางสเปน ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จึงทำให้สโมสรฟุตบอลในยุโรปสามารถหารายได้จากการขายเสื้อประจำทีม การขายสินค้าที่ระลึก การขายรูปโปสเตอร์ของทีมและดารานักเตะได้เกือบทั่วโลก ความภักดีเหล่านี้มักจะบังเกิดขึ้นกับทีมใหญ่ ๆ เนื่องจากทีมใหญ่ ๆ มักประสบความสำเร็จในผลการแข่งขัน  ความภักดีเหล่านี้ถูกทำให้เกิดขึ้นทั่วโลก ผ่านการถ่ายทอดสดในแต่ละสัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมThe Kop จึงมีอยู่ทั่วโลก ทำไม The Gunner จึงเกิดขึ้นมากมายมิใช่มีแต่ในอังกฤษ ดังนั้นอำนาจผูกขาดของสโมสรฟุตบอลใหญ่ ๆ เกิดขึ้นจากการขยายฐานการสนับสนุนของแฟนบอลในประเทศก่อนจากนั้นก็ขยายไปทั่วโลกโดยผ่านการถ่ายทอดสด ทั้งนี้ทั้งนั้นผลการแข่งขันและความสำเร็จของทีมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความภักดีในตัวสโมสรหรือในลีกนั้น

.

โดยสรุปแล้ว เราอาจบอกได้ว่า อำนาจผูกขาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของลีกยุโรปหรือสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในยุโรป เกิดจาก ทั้งฝ่ายผู้ผลิตเองและผู้บริโภคหรือผู้ชมที่มีส่วนเพิ่มให้เกิดอำนาจผูกขาดนั้นเกิดขึ้น

.
ผลกระทบของอำนาจผูกขาด 

ผลกระทบของการผูกขาดสามารถพิจารณาได้ทั้งในแง่ของการบริโภค การชม  รวมทั้งผลของอำนาจผูกขาดยังลุกลามไปถึงการทำลายลีกภายในประเทศตัวเองและผลกระทบต่อตลาดนักเตะ

.

1. ผลกระทบต่อการบริโภค แน่นอนว่า การผูกขาด หรือการแข่งขันกันน้อยราย ย่อมไม่ก่อให้เกิดความหลากหลายในการชม ลีกยุโรปอย่างสก๊อตแลนด์ หรือพรีเมียร์สก๊อต การผูกขาดระหว่างสองมหาอำนาจแห่งเมืองกลาสโกว์  อันได้แก่ เชลติก และเรนเจอร์ ทำให้ลีกสก๊อตแลนด์หมดสนุกเพราะทุกฤดูกาลสองทีมนี้เท่านั้นที่ผูกขาดการเป็นแชมป์ การเป็นแชมป์ทำให้ได้สิทธิ์หลายอย่างสิทธิ์ในการเล่นฟุตบอลยุโรป ได้รับเงินรางวัล มีสปอนเซอร์แย่งกันสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีโอกาสดึงตัวผู้เล่นที่เก่ง ๆ เข้าร่วมทีม สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้เกิดความห่างชั้นกันมากขึ้นเพราะสโมสรชั้นนำยิ่งรวยขึ้น เก่งขึ้น มีโอกาสในการเลือกซื้อนักเตะเพราะมีความสามารถพอในการจ้างองค์ประกอบของทีมที่ดี ย่อมนำมาซึ่งผลการแข่งขันที่ดี และโอกาสประสบความสำเร็จย่อมมีมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้บริโภคย่อมขาดอรรถรสในการดูลีกนั้นไป เพราะความห่างชั้นของทีมในลีกเดียวกันสุดท้ายแล้วทางเลือกของผู้ชมกีฬาอาจหนีไปชมกีฬาประเภทอื่น หรืออาจหนีไปชมลีกฟุตบอลประเทศอื่น ๆ นอกจากผลของการผูกขาด หรือการที่มีการแข่งขันกันน้อยรายของทีมใหญ่แล้ว ในเรื่องราคาในการชมที่สูงขึ้นก็มีโอกาสเกิดขึ้น ทั้งนี้หากความนิยมในลีกนั้น ๆ มีสูงมากขึ้น ค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมยิ่งสูงตาม เพราะ Demand มีมาก ตามที่กล่าวข้างต้น Supply ที่เป็นผู้ผูกขาดอย่างแท้จริง คือในส่วนของ ผู้จัดการแข่งขัน ผู้จัดสามารถหาผลประโยชน์ได้จากการขายสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดให้แต่ละประเทศ อาทิ ปัจจุบันพรีเมียร์ลีกมีการถ่ายทอดสดไปแล้วกว่า 140 ประเทศ รายได้เหล่านี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความนิยมของแฟนบอลทั่วโลก ยิ่งมี Demand เท่าใด ราคาค่าลิขสิทธิ์ยิ่งแพงขึ้นทุกฤดูกาล ปัจจุบันประเทศไทย มี UBC เคเบิลทีวี ที่เป็นผู้ซื้อลิขสิทธ์มาให้ผู้ชมชาวไทยได้ชมทั้งนี้ ผู้บริโภคต้องเป็นสมาชิกเคเบิลดังกล่าวจึงจะสามารถชมได้  

.

โดยสรุปแล้ว ผลกระทบจากการผูกขาดที่จะเกิดต่อผู้บริโภคหรือผู้ชมในการชมฟุตบอลลีกยุโรป คือ การขาดอรรถรสในการชมฟุตบอลเพราะต่อไปสโมสรยักษ์ใหญ่จะยิ่งห่างชั้นกับสโมสรอื่น ๆ ในลีกเดียวกัน ยิ่งทีมที่มีทุนมากมีองค์ประกอบดีโอกาสประสบผลสำเร็จย่อมมีสูง นอกจากนี้การบริโภคฟุตบอลลีกยุโรปมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะรับภาระราคาที่สูงขึ้น เนื่องจาก มีการผูกขาดในการจัดการแข่งขัน และตัวผู้บริโภคเองก็มีความภักดีต่อลีกดังกล่าวทำให้ความต้องการชมมีเพิ่มขึ้นทุกฤดูกาล ผลดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้จัดการแข่งขันซึ่งได้รับสิทธิ์สามารถขึ้นราคาลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดได้

.

2. ผลกระทบต่อลีกภายในประเทศ  กล่าวคือ ยิ่งความห่างชั้นของทีมระดับยักษ์ใหญ่กับทีมระดับกลางหรือระดับล่าง ๆ มีมากขึ้น อาจส่งผลให้ ลีกในประเทศนั้น หมดความนิยมไปในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ พรีเมียร์สก๊อต ฯ ที่หลาย ๆ ทีมพยายามผลักดันให้ทั้ง เชลติก และแรนเจอร์ ออกจากลีกไปเนื่องจากรับไม่ได้กับการผูกขาดถ้วยแชมป์ตลอดกาล  ความน่าเป็นห่วงนี้อาจจะบังเกิดขึ้นกับพรีเมียร์ลีก  กัลโช ฯ  ลาลีกา และบุนเดสลีกา ทั้งนี้ หากพิจารณาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทีมอย่างแมนเชสแตอร์ ยูไนเต็ด ประสบความสำเร็จมากที่สุด เป็นแชมป์ในเกาะอังกฤษถึง 7 ฤดูกาล และปัจจุบันอาร์เซนอลและเชลซีก็กำลังก้าวขึ้นมาทำให้ความความห่างชั้นของทีชั้นนำกับที่เหลือมีมากขึ้นเรื่อย ในเยอรมันทีมอย่างบาเยิร์น มิวนิค ที่ผูกขาดถาดบุนเดสลีกามาหลายปีซ้อน หรือแม้กระทั่ง กัลโชฯ ทีมอย่าง ยูเว่ หรือ มิลาน ก็ขับเคี่ยวกันมาตลอด หรือแม้กระทั่งปัจจุบันที่ทีมอย่างรีล มาดริด ถูกขนานนามว่า เป็นทีมแห่งจักรวาลไปแล้ว (ถึงแม้ว่าจะเล่นไม่ค่อยดีเท่าไรในปัจจุบัน ความน่าเป็นห่วงเหล่านี้หากมองไปถึงตัวผู้จัดการแข่งขันจะพบว่า หากมีใครที่กล้าเสนอตัวรวบรวมทีมระดับสโมสรยักษ์ใหญ่เหล่านี้มาแข่งเป็นลีกเดียวกัน  เมื่อนั้น ทิศทางการบริโภคหรือการชมฟุตบอลยุโรปจะมาอยู่ที่ลีกนี้แน่นอนและสโมสรยักษ์ใหญ่ทั้งหลายก็พร้อมจะถอนตัวออกจากลีกในประเทศเพื่อแข่งขันในลีกใหม่ที่ดีกว่านอกจากมีคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อแล้ว ผลประโยชน์มหาศาลย่อมบังเกิดขึ้น แน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ลีกภายในประเทศจะหมดความหมายเพราะ สายตาทุกคู่จะไปจับจ้องลีกที่เล่นดีกว่า สนุกกว่ามีดาราระดับซูเปอร์สตาร์มากกว่า เหตุผลเหล่านี้เป็นอันตรายและอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมปัจจุบัน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จึงยังไม่ให้มีการแข่งขันลีกแบบเหย้าแบบเยือนตลอดฤดูกาล หากพิจารณาจากโครงสร้างของรายการแชมป์เปี้ยนส์ลีก อาจพูดได้ว่า เป็นลีกได้ไม่เต็มปากนัก เพราะรูปแบบการเตะในรอบ 8 ทีม เล่นระบบเหย้าเยือน แพ้ตกรอบ โดยไม่ได้เตะแบบพบกันหมดเหย้าเยือนและนับคะแนนสูงสุดตามที่ลีกทั่วไปทำกัน  

.

โดยสรุปแล้ว ผลของการผูกขาดอันเกิดจากตัวสโมสรยักษ์ใหญ่เองก็ดี หรือ ตัวผู้จัดการแข่งขันเองก็ดี อาจทำให้เกิดการทำลายระบบลีกภายในประเทศตนเองได้

.

3. ผลกระทบต่อตลาดนักฟุตบอล ผลกระทบของอำนาจผูกขาดของทีมยักษ์ใหญ่ทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดนักฟุตบอลอาชีพโดยเฉพาะราคานักฟุตบอลในระดับ Superstar นอกจากนี้ยังเป็นการทำลายระบบการปั้นเยาวชนของสโมสรระดับกลางและระดับเล็กอีกด้วย ทั้งนี้ เราพบว่าปัจจุบันหลังจากที่กีฬาฟุตบอลเฟื่องฟูราคาค่าตัวนักฟุตบอลขยับขึ้นเร็วมาก  ปี1996 การย้ายทีมของ อลัน เชียร์เรอร์ จากแบล็คเบิร์น โรเวอร์ ไป นิวคาสเซิล กลายเป็นสถิติของเกาะอังกฤษ ด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ ปี 2002 การย้ายทีมของ ริโอ เฟอร์ดินานด์ กลายเป็นสถิติกองหลังที่แพงที่สุดในเกาะอังกฤษที่แมนยูฯอุตส่าห์ซื้อมาจากลีดส์ด้วยค่าตัว 30 ล้านปอนด์ หรือ 2 เท่าของค่าตัวเชียร์เรอร์เมื่อ 6 ปี ที่แล้ว  จนกระทั่งปัจจุบันนั้นการซื้อขายนักเตะค่าตัวระดับ 10 ถึง 20 ล้านปอนด์ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ยิ่งปัจจุบันมีนายโรมัน อับบราโมวิช เข้ามาเป็น Big Player ยิ่งไปกันใหญ่ การเกิดขึ้นของฟองสบู่ในตลาดนักเตะเกิดจาก ความพยายามทำให้ทีมของตัวเองมีองค์ประกอบที่ดีสุด เพราะองค์ประกอบที่ดีย่อมทำให้มีผลการแข่งขันที่ดี และโอกาสประสบความสำเร็จมีมาก เมื่อประสบความสำเร็จมาก ผลที่ตามมาคือ รายรับจากหลากหลายทาง และอีกประการิ่งลีกใดมีดารานักเตะมากเท่าไร ความน่าสนใจน่าดูชมก็ยิ่งมีมากขึ้น ราคาค่าลิขสิทธิ์ของลีกนั้น ๆ ย่อมสูงตามไปด้วย ฟองสบู่ในตลาดนักเตะนอกจากจะทำให้ค่าตัวของนักฟุตบอลสูงเกินจริงแล้วยังกระทบถึง โครงสร้างเงินเดือนของนักฟุตบอล อีกด้วย เนื่องจากนักฟุตบอลระดับดาราสามารถเรียกค่าเหนื่อยได้สูง หากพิจารณาในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราพบว่านักฟุตบอลเป็นปัจจัยการผลิตประเภทแรงงาน หากมีความสามารถที่ไม่มีใครมาเลียนแบบได้ ก็สามารถเรียกค่าเหนื่อยได้ หรือเป็นปัจจัยการผลิตประเภท Monophony กล่าวคือ แรงงานมีอำนาจในการต่อรองค่าจ้างที่สูงได้ เนื่องจากมีความสามารถพิเศษ ซึ่งสโมสรเองก็ยินดีที่จะจ่ายค่าเหนื่อยที่แพงให้ทั้งนี้สโมสรมองเห็นประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับจากนักฟุตบอลนอกเหนือจากการเล่นในสนามนอกสนามนักฟุตบอลระดับดาราก็สามารถสร้างรายได้ให้สโมสรอย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างกรณีของ Owen หรือ Beckham สโมสรฟุตบอลก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่มุ่งหวังกำไรสูงสุดดังนั้นสโมสรจึงยอมเสียค่าจ้างที่แพงให้นักเตะเพื่อแลกกับประโยชน์มหาศาลที่สโมสรจะได้รับทั้งในและนอกสนาม การที่ค่าตัวนักฟุตบอลสูง อาจทำให้ค่าเหนื่อยนักฟุตบอลเหล่านั้นสูงตาม ซึ่งทำให้เพดานเงินเดือนของสโมสรอาจถูกทำลายลง ดังเช่นที่ แมนยู ฯ เจอมาแล้วกับกรณีการเรียกร้องค่าเหนื่อยที่เกิน 5หมื่นปอนด์ ต่อสัปดาห์ของ รอย คีน และ ก็ทำให้สตาร์ของยูไนเต็ดออกมาฉีกสัญญาต่อรองค่าเหนื่อยกันใหม่ การพองตัวของฟองสบู่นักฟุตบอลได้ถึงจุดสิ้นสุดลง (Bubble Burst) ก่อนเปิดฤดูกาล 2002 เมื่อทีมชั้นนำในลีกกัลโช ฯ ของอิตาลี เริ่มมีปัญหาทางการเงิน เมื่อไม่สามารถจ่ายค่าตัวนักฟุตบอลราคาแพงได้ตามสัญญาที่ตกลงไว้ ทีมอย่างฟิออเรนติน่า เป็นอุทาหรณ์ ของสโมสรฟุตบอลที่นิยมปั่นราคานักเตะเมื่อฟิออ ฯ ถูกสมาคมฟุตบอลอิตาลีสั่งให้ออกจากลีกกัลโช่เนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาเพิ่มทุนให้เป็นที่พอใจทั้งนี้สโมสรฟิออ ฯ ติดหี้ค้างชำระทั้งในและนอกสโมสร การซื้อนักเตะมาราคาแพงและหลอกล่อด้วยการให้ค่าเหนื่อยที่สูงทำให้สโมสรขาดความสามารถในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทีมอย่างโรมา ลาซิโอ ที่ประสบปัญหาทางการเงินนอกเหนือจากการทยอยจ่ายค่าตัวที่ซื้อมาแพงแล้ว ยังต้องแบกรับค่าเหนื่อยของบรรดาเหล่าซูเปอร์สตาร์ ทีมอย่างอินเตอร์ฯต้องขอร้องให้ วิเอรี่ และเรโคบา ช่วยกันลดค่าเหนื่อย สภาพปัญหาการหมุนเงินไม่ทัน ชักหน้าไม่ถึงหลังของสโมสรชั้นนำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการสโมสรโดยเฉพาะทางด้านรายรับและรายจ่ายที่แย่ลง ยิ่งความสามารถเหล่านี้แย่ลงมากขึ้นเท่าไร โอกาสแฟนบอลจะน้อยลงยิ่งมีมากขึ้น และสุดท้ายสโมสรเหล่านี้อาจล้มละลาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดนักเตะ เกิดการทำลายเพดานเงินเดือนของนักฟุตบอลแล้ว ยัง ทำลายระบบการสร้างทีมเยาวชน อีกด้วย ทั้งนี้ยิ่งทีมใหญ่ที่ต้องการประสบผลสำเร็จมากเท่าไร ระบบเยาวชนจะถูกละเลย เพราะต้องการความสำเร็จที่รวดเร็ว อย่างกรณี เชลซี เป็นต้น การกว้านซื้อตัวดารานักเตะมาเสริมทีมเพื่อผลสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นทำให้เด็กฝึกหัดของสโมสรต่างย้ายหนีไปเล่นสโมสรอื่น ๆ หมดเพราะโอกาสที่จะได้เล่นทีมชุดใหญ่มีน้อยเต็มที   

.

โดยสรุปแล้ว หากเรามองถึงการผูกขาดที่เกิดขึ้นจากการที่เราชมฟุตบอลลีกในยุโรป น่าจะทำให้เราพอมองภาพออกได้บ้างถึงการวิเคราะห์กีฬาฟุตบอลที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าและบริการการชมกีฬาดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันฟุตบอลเป็นสินค้าและบริการที่อยู่ในลักษณะของ Global Brand ด้วยการอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก นอกจากจะอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศแล้ว (Internal Demand) เทคโนโลยีการถ่ายสดยังสามารถช่วยเพิ่มกำลังซื้อจากต่างประเทศ (External Demand) ได้อีกด้วย ทั้งนี้ รสนิยม ในการชมฟุตบอลยุโรปก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ลีกยุโรปและสโมสรฟุบอลใหญ่ ๆ มีความสามารถในการสะสมทุนได้เพิ่มขึ้น สำหรับสาเหตุของการผูกขาดส่วนหนึ่งมาจากตัวผู้ผลิต อันได้แก่ สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีการสะสมทุนไว้มาก นอกจากนี้ ผู้จัดการแข่งขันก็ได้รับสิทธิ์ในการขายลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด  และสาเหตุของการผูกขาดอีกทางมาจากตัวผู้ชมเองที่มี รสนิยม ในการบริโภคฟุตบอลลีกยุโรป จนทำให้เกิดความภักดีในตัวสินค้า การผูกขาดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อ ตัวผู้บริโภคเอง ลีกฟุตบอลภายในประเทศนั้น ๆ และตลาดนักฟุตบอลอาชีพ

.

สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านอ่านบทความนี้แล้ว ลองคิดทบทวนเอาลักษณะการผูกขาดนี้แล้วเปรียบเทียบตัวละครของเรา รวมถึงห้วงของการเปลี่ยนแปลงกับลักษณะการดำเนินการของธุรกิจของท่านหรือแนวโน้มภาพรวมของลักษณะการดำเนินธุรกิจในหลายประเภทในบ้านเราว่ามีลักษณะคล้ายการผูกขาดของทีมใหญ่ในลีกฟุตบอลหรือไม่ เพื่อที่ท่านจะได้เตรียมความพร้อมและวางแผนในการดำเนินธุรกิจของท่านได้อย่างถูกต้อง

.
เอกสารอ้างอิง
วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, หลักเศรษฐศาตร์จุลภาค

รังสรรค์ ธนะพรพันธ์, กีฬาในระบบทุนวัฒนธรรม