เนื้อหาวันที่ : 2007-01-18 10:13:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1214 views

กนง.ลดดอกเบี้ยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการบริโภค-ลงทุนชะลอตัว

การประชุม กนง.นัดแรกของปี 2550 ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยอาร์พีระยะ 1 วัน แทนอาร์พี 14 วัน และได้ข้อสรุปให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงจากร้อยละ 4.9375 เหลือร้อยละ 4.75 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

การประชุม กนง.นัดแรกของปี 2550 ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยอาร์พีระยะ 1 วัน แทนอาร์พี 14 วัน และได้ข้อสรุปให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงจากร้อยละ 4.9375 เหลือร้อยละ 4.75 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเห็นการชะลอตัวลงของการบริโภคและการลงทุนในปลายปี 2549 เตรียมปรับเป้าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใหม่ ปลายเดือนนี้

.

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของปี 2550 ได้กำหนดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) ระยะ 1 วัน เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแทนอัตราดอกเบี้ยอาร์พี ระยะ 14 วัน และมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 4.9375 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.75 หรือลดลงร้อยละ 0.1875 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจแล้วพบว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งการบริโภคภายในประเทศ

.

การลงทุนในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2549 จึงทำให้การคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเร็วต้องล่าช้าออกไป ดังนั้น กนง.จึงเห็นควรให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่ง ธปท.จะมีการปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2550 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.5-5.5 ในวันที่ 30 มกราคมนี้ พร้อมกันนี้ก็จะมีการปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อใหม่ จากที่เคยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2.5 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5-3 เนื่องจากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งโอกาสที่เงินเฟ้อพื้นฐานในระยะ 2 ปีข้างหน้าจะสูงเกินกว่าเป้าหมาย ก็มีน้อยลงเช่นกัน

.

นางสุชาดากล่าวว่า สาเหตุที่ กนง.ยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมครั้งก่อนหน้า เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนจากการประชุมประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก ราคาน้ำมันดิบดูไบ ยังทรงตัวที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทำให้ยังไม่มั่นใจว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นหรือไม่ และยังจะส่งผลมายังอัตราเงินเฟ้อหรือไม่

.

อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ได้เร็ว ซึ่งคงช่วยทำให้ต้นทุนจากภาระอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง และเชื่อว่าจากมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 จะทำให้ภาคเอกชนหันมากู้เงินผ่านธนาคาพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ก็ทำให้ต้นทุนของเอกชนลดลงเช่นกัน

.

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2550 คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง จากร้อยละ 5 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ราคาน้ำมัน ซึ่งคงส่งให้การส่งออกลดลง เพราะราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 ดังนั้นอัตราการขยายตัวของการส่งออกคงไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านมา การบริโภค การลงทุนที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คิด รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง.