เนื้อหาวันที่ : 2010-02-05 11:51:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2638 views

คิดมากไปหรือเปล่า

อยู่คนเดียว คิดคนเดียว "คิดเล็กคิดน้อย" อยู่แต่ในโลกของตัวเอง ระวังโรคซึมเศร้า

โดย พระมหาประสิทธิ์

.

.

ผ่านมาไม่นานนี้ผู้เขียนต้องไปพูดเรื่องเกี่ยวกับคนพิการที่สำนักงานแห่งหนึ่งซึ่งถูกตั้งขึ้นเพื่อรองรับงานผู้พิการโดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ขณะที่ศึกษาข้อมูลอยู่นั้น ก็ปรากฏในหลายแห่งว่า ขณะนี้ผู้ป่วยทางด้านจิตเวชมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เป็นรองก็แค่โรคหัวใจ

.

จากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลกพบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยซึมเศร้ามากกว่า 154 ล้านคน สำหรับประเทศไทยนั้นคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 20 (ที่บอกว่ามากกว่าเพราะผ่านมาหลายเดือนแล้ว)

.

ทั้งนี้ยังมีบางโรคซึ่งแพทย์อธิบายว่า เกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ ซึ่งจะทำให้มีอาการซึมเศร้าสลับกับครื้นเครงเกินเหตุ ในยามที่ครื้นเครง ก็จะสนุกสนานร่าเริง ชอบความเสี่ยง และอาจมีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงหากถูกขัดใจ

.

ในขณะเดียวกันช่วงซึมเศร้าก็จะเหงาหงอยสร้อยซึม หดหู่และท้อแท้ วิธีรักษาอาการดังกล่าว นอกจากจะรับประทานยาตามหมอสั่งแล้ว ยังต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มประเภทอื่นที่อาจส่งผลให้อาการกำเริบได้

.

จากที่สอบถาม คนเหล่านี้จะมีบุคลิกเก็บตัวอยู่ในโลกของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้นึกถึงประโยคที่โบราณว่า “อยู่คนเดียวระวังความคิด” เพราะการอยู่คนเดียวเหงาๆ อาจทำให้คิดอะไรฟุ้งซ่านได้ง่าย โรคซึมเศร้าก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของคนที่คิดคนเดียว

.

คนที่คิดคนเดียวมักจะชอบ “คิดเล็กคิดน้อย” จนทำให้ฟุ้งซ่าน ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยถามหรือพูดเพื่อให้ได้ความจริงเท่าไหร่ มักจะคิดไปเอง อย่างที่เรียกว่า “คิดเอง เออเอง” บทสรุปของความคิดที่ขาดความรอบคอบจึงนำไปสู่ข้อปฏิบัติที่ผิดพลาด

.

คำว่า”ช่างคิด” คือคิดอย่างสร้างสรรค์ และการคิดอย่างสร้างสรรค์ก็ต้อง “ชั่งคิด” ด้วย เพื่อจะได้เปรียบเทียบให้เห็นจริงเห็นเท็จ จึงจะสำเร็จเป็นความคิดที่ดีที่ถูกต้อง เมื่อคิดถูกก็ทำถูก พูดถูก

.

ใครที่กำลังคิดหนักเพราะเรื่องรักไม่ลงล๊อกละก็ ยิ่งต้องชั่งความคิดให้ดีๆ อย่าให้มันเกินขีดที่หัวใจจะรับไหว  ถ้ารู้ตัวว่ามันจะหนักมากเกินไป ก็แชร์ปัญหาหัวใจให้ใครอื่นช่วยบ้าง แม้จะไม่ได้ทั้งหมดหรือช่วยไม่ได้มากไปกว่ารับฟัง แต่ก็เป็นจุดที่เริ่มต้นที่ดี   

.

เพราะขณะที่เราพูดออกไป เราก็ได้ทบทวนความคิดความรู้สึกของตัวเองไปด้วย การเล่าให้คนอื่นฟังจึงเป็นกลไกช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย ในทางจิตวิทยาถือเป็นเทคนิคที่ดีอย่างหนึ่ง หากเรากำลังคิดหนักเรื่องอะไรอยู่ ลองเล่าให้ใครสักคนฟังหน่อยดีไหม แค่สองสามนาทีที่เล่าออกไป อาจเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนชีวิตก็ได้

.

โดยปกติแล้วคนเราส่วนใหญ่มักดำเนินชีวิตไปตามที่ตนคิด คิดอย่างไรก็ไปอย่างนั้น แต่ถ้าเราคิดแล้วพูดให้คนอื่นฟังบ้างก็จะเป็นการทบทวนทางเดินของเราเอง ว่าเรากำลังเดินถูกทางหรือเปล่า 

.

เหมือนกับการที่เราขับรถอยู่บนถนน ไม่มีใครเขาสนใจหรอกว่า “เรากำลังหลงทางอยู่” แต่ถ้าเราจอดรถถามทาง เขาจะรู้ว่าเรากำลังหลงทาง และเราก็จะรู้ด้วยว่า “ไปทางไหนถึงจะถูก” ก็ลองเลือกเอาว่าจะหลงทางต่อไป หรือจะหาใครช่วยชี้ทางให้แต่เมื่อเขาชี้ทางมาแล้วก็อย่าเพิ่งรีบเดินตามนั้น ต้องตริตรองให้มองเห็นเสียก่อนว่าถูกแท้แน่นอนหรือเปล่า

.

ถ้าจะว่าไปแล้วมันก็วกไปวนมาเข้าหาจิตใจตนเองอยู่ดี ไม่ว่าจะมีกี่ร้อยกี่พันคำแนะนำ สุดท้ายผู้ที่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรก็คือตัวเราเอง