เนื้อหาวันที่ : 2010-02-02 09:22:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1240 views

ร้องรัฐ-เอกชน ผนึกกำลังร่วมชิงแชร์ตลาดอาหารฮาลาลโลก

สถาบันอาหาร เรียกร้องภาครัฐ เอกชนจับมือสู้สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทย ร่วมสลงสนามแข่งกับผู้นำตลาดอาหารฮาลาลโลก หวั่นมาเลเซียแซงหน้า

สถาบันอาหาร เรียกร้องภาครัฐ เอกชนจับมือสู้สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทย ร่วมสลงสนามแข่งกับผู้นำตลาดอาหารฮาลาลโลก หวั่นมาเลเซียแซงหน้า

.

ดร. อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร

.

สถาบันอาหาร แนะภาครัฐ เอกชน จับมือสู้สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทย ร่วมสนามแข่งขันกับผู้นำตลาดอาหารฮาลาลโลกอย่าง “บราซิล” อีกช่องทางทำเงินเข้าประเทศ ถ้ายังเชื่องช้า ถูกมาเลเซียเบียดไทยตกขอบสนามแข่งแน่ “สถาบันอาหาร” ชี้ภาคเอกชนไทยต้องดำเนินการตลาดเชิงรุก เพื่อขยายฐานการตลาด          

.

ในขณะที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณพัฒนาอุตฯ ฮาลาล อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ปฏิบัติตามแผนงานได้จริง เชื่อหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจริงจัง จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศโดยรวม

.

ดร. อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า บราซิลมีฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหาร อันดับต้นๆ ของโลก โดยจากฐานข้อมูลของ FAO พบว่า ในปี 2550 ประเทศบราซิลสามารถผลิตสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ได้ประมาณ 820 ล้านตัน เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีนที่สามารถผลิตได้ประมาณ 1,500 ล้านตัน และบราซิลเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

.

โดยในปี 2551 บราซิลมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสูงถึง 53,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ถั่วเหลือง กาแฟ เนื้อวัวแช่แข็ง น้ำตาลที่ได้จากอ้อย ไก่แช่แข็ง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 48.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรวมของบราซิล

.

ขณะเดียวกันประเทศบราซิลยังเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลที่สำคัญของโลก ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ แม้ว่าประเทศบราซิลจะมีประชากรมุสลิมเพียง 1.2 ล้านคน ก็ตาม โดยในช่วงปี 2551 บราซิลมีการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังรัฐสมาชิกขององค์การประชุมอิสลาม (OIC) มีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 จากปี 2550 และคิดเป็นประมาณร้อยละ 18.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

.

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 บราซิลส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร (ไม่รวมสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม) มีมูลค่าประมาณ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการส่งออกอาหาร ฮาลาลไปยังกลุ่ม OIC (ปัจจุบันมีสมาชิก 57 ประเทศ จากทุกภูมิภาคทั้ง เอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้) จำนวน 4,122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 19.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร                   

.

ซึ่งหดตัวลงประมาณร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 พบว่าการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังกลุ่ม OIC ของบราซิลขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33.3 จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 เนื่องจากอาหารฮาลาล 

.

ส่งออกที่สำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ น้ำตาลทราย ถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง เนื้อวัว กาแฟ และข้าว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการส่งออกอาหารฮาลาลของบราซิลไปยังกลุ่ม GCC พบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 มีมูลค่าสูงถึง 1,233 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน            

.

หากพิจารณาภาพรวมการส่งออกอาหารฮาลาลของบราซิล จะพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารฮาลาลที่ส่งออกไปยังกลุ่ม OIC เป็นการส่งออกไปยังกลุ่ม GCC ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากลุ่ม GCC เป็นตลาดส่งออกอาหารฮาลาลที่สำคัญของบราซิล และบราซิลเป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดอาหารฮาลาลใน GCC มากที่สุด โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 15.4

.

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลกประเทศหนึ่ง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร (ไม่รวมสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม) มีมูลค่าประมาณ 9,771 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังกลุ่ม OIC จำนวน 2,224 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 22.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรฯ ซึ่งหดตัวลงประมาณร้อยละ 25.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

.

รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวด้วยว่า “นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อการส่งออกของไทย

.

โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาล ที่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลนั้นจะต้องมีกรอบการพัฒนาที่ชัดเจนและต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

.

ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเอกชนต้องดำเนินกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเพื่อขยายฐานการตลาดทั้งในมิติของพื้นที่และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโลกนั้นมีผู้เล่นรายใหญ่อย่างบราซิลที่มีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบในการแปรรูป

.

นอกจากนั้น ยังมีประเทศมาเลเซียซึ่งถือว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล (รวมถึงอาหารฮาลาลด้วย) ชัดเจนมากที่สุด โดยมีเป้าหมายในการสร้างให้ “ประเทศมาเลเซียเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมฮาลาลโลก” ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้ทุ่มงบประมาณให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอย่างมาก”