เนื้อหาวันที่ : 2010-02-01 16:47:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2132 views

2553 ปีแห่งความท้าทายด้านพลังงานของไทย

ปี 2553 อาจเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตามการคาดการของนักวิเคราะห์ อีกด้านหนึ่งคือความสามาถในการบริหารจัดการเรื่องพลังงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะท้าทายความสามารถของรัฐบาลเช่นกัน

.

ปี 2553 อาจเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ผมมองว่าปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลไทยในการบริหารจัดการเรื่องของพลังงาน รวมทั้งจะเป็นปีที่ทดสอบความสามารถในการปรับตัวของคนไทยในเรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไปใกล้ๆ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

.

ก่อนอื่นผมขอกำหนดภาพรวมของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (Price Outlook หรือ Scenario) ใน   ปีนี้ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (WTI ในตลาด New York) น่าจะวิ่งขึ้นลงระหว่างราคาต่ำสุดที่ 65  เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ถึงระดับสูงสุดที่ 95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

.

ในกรณีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนและยั่งยืน แต่ระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีที่มีความเป็นไปได้ มากที่สุดน่าจะอยู่ที่ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นั่นหมายถึงว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว (2552) ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และสูงกว่าปี 2551 ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

.
ดังนั้นความท้าทายด้านพลังงานของไทย

ประการแรก คือรัฐบาลและคนไทยจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับสภาพกับราคาพลังงานในประเทศที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณลิตรละ 2-3 บาท (ทั้งเบนซินและดีเซล) ถ้าเผื่อรัฐบาลไม่มีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานโดยใช้ภาษีสรรพสามิตและเงินกองทุนน้ำมันมาเป็นตัวช่วย

.

ประการที่สอง ถ้ารัฐบาลไม่ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศ และยังคงยืนยันนโยบายตรึงราคาก๊าซ   หุงต้ม (LPG) ต่อไปจนถึงเดือนมี.ค. หรือส.ค. (ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะยึดมติไหนเป็นหลักกันแน่ ระหว่างมติครม. ที่ให้ยืดมาตรการความช่วยเหลือประชาชน 5 มาตรการ ไปจนถึงเดือนมี.ค. หรือจะยึดมติกพช. ที่ให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มไปถึงเดือนส.ค.) แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะยึดมติไหนก็ตาม นั่นหมายความว่าราคาก๊าซหุงต้มจะถูกตรึงเอาไว้ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม (หรือประมาณ 11-12 บาทต่อลิตร)

.

ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน 91 จะขึ้นไปถึง 36-37 บาทต่อลิตร แน่นอนว่าผู้ใช้รถก็จะหันมาใช้ LPG กันมากขึ้น  ซึ่งทุกกิโลกรัมของ LPG ที่เราใช้เพิ่มขึ้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น (ปตท. คาดว่าปีนี้จะต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศประมาณ 1-1.2 ล้านตันต่อปี ถ้าโรงแยกก๊าซโรงที่หกไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามกำหนดในเดือนพ.ค. เพราะติดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง)   

..

ถ้าเราต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มสูงถึง 1-1.2 ล้านตันต่อปี นั่นหมายความว่ากระทรวงพลังงานจะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมัน (ที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลลเป็นส่วนใหญ่) ไปชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าก๊าซหุงต้ม (ประมาณ 300-400 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถ้าราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกอยู่ในระดับ700-800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถ้าสูงกว่านี้ก็ต้องชดเชยมากกว่านี้) เป็นเงินประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี

.

ประการที่สาม รัฐบาลจะผลักดันนโยบายการใช้ NGV อย่างไร เพราะการที่รัฐบาลสั่งตรึงราคา LPG ทำให้ต้องตรึงราคา NGV ไปด้วย เพราะถ้าให้ NGV ขึ้นราคาแต่ไม่ให้ LPG ขึ้นราคาก็คงไม่มีใครใช้ NGV  เมื่อ NGV ขึ้นราคาไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ไม่อยากลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกิจ

.

เช่น ขยายท่อส่งก๊าซ รถบรรทุกก๊าซ และปั๊มจำหน่ายก๊าซ เพราะต้องลงทุนสูงแต่ธุรกิจขาดทุนเพราะราคาขายถูกตรึงโดยรัฐบาล ทางออกก็คือรัฐบาลต้องอุดหนุนเพื่อให้ธุรกิจขาดทุนไม่มากนัก ก็ต้องนำเงินจากกองทุนมหัศจรรย์ (กองทุนน้ำมัน) ไปชดเชยอีกประมาณ 4,000-4,200 ล้านบาทต่อปี

.

ประการที่สี่ รัฐบาลสั่งตรึงราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) ไปจนถึงเดือนส.ค. เช่นกัน ราคาค่า FT นั้นอ้างอิงสูตรราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากหลายแหล่ง แต่แหล่งใหญ่ที่สุดคือจากอ่าวไทย สูตรราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน

.

ล่าสุดราคาน้ำมันเตาที่ตลาดสิงค์โปร์ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นมาจากกลางปี 2552 ประมาณ 120 เหรียญสหรัฐต่อตัน และยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

.

ดังนั้นค่า FT ต้องปรับขึ้นอีกในช่วงเดือนก.พ. ที่จะถึงนี้ แต่รัฐสั่งให้กฟผ. ตรึงเอาไว้ กฟผ. ก็ต้องแบกรับค่า FT เอาไว้ 2 งวดติดกัน คิดแล้วเป็นเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท กว่าจะถึงเดือนส.ค. ตัวเลขน่าจะถึง 30,000 ล้านบาท และไม่รู้ว่าเมื่อถึงเดือนส.ค. รัฐบาลจะยอมให้ขึ้นค่า FT หรือไม่

.

ปัจจุบันกฟผ. ขาดสภาพคล่อง ต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเพื่อกู้เงินมาชดเชยภาระตรึงราคาค่า FT เอาไว้ ซึ่งการที่กระทรวงการคลังต้องเข้าไปค้ำประกันก็เท่ากับการเพิ่มหนี้สาธารณะให้กับคนไทยทั้งประเทศนั่นเอง ในที่สุดประชาชนผู้ใช้ไฟก็ต้องเป็นผู้จ่ายอยู่ดี ของฟรีไม่มีในโลกครับ (อย่างที่ฝรั่งเขาบอกว่า “No free lunch” นั่นแหละครับ)

.

ประการที่ห้า ปี 2553 เป็นปีที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ ถ้าตัดสินใจปีนี้อีก 13 ปี (พ.ศ. 2566) ถึงจะได้ใช้ครับ เหตุผลที่ต้องหันไปใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์คือ

.

1. ต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน
2. เป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

.

3. สร้างความมั่นคงให้กับแหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันเราใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมาก (70% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

.

โดย 25% ของก๊าซต้องนำเข้ามาจากประเทศพม่าและมีแนวโน้มต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะแหล่งก๊าซในประเทศมีแต่จะหมดไป) จากตัวเลขที่ผมมีอยู่ผมคิดว่าประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก เพราะดูแล้วไม่น่ามีประเทศไหนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 70%

.

ประการที่หก เรื่องของนโยบายพลังงานทดแทนรัฐบาลจะส่งเสริมกันอย่างไรให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ นโยบายการผลิตเอทานอลจะเอาอย่างไร จะมีวัตถุดิบเพียงพอหรือไม่ ราคาจะวูบวาบขึ้นๆ ลงๆ หรือเปล่า  จะเลิกเบนซิน 91 เพื่อให้ผู้ผลิตเอทานอลมั่นใจหรือไม่ว่าผลิตออกมาแล้วจะมีตลาดรองรับแน่นอน   

.

ไบโอดีเซลจะว่าอย่างไร จะมีเกรดเดียวหรือสองเกรด จะเป็น B2 B3 B5 หรือ B10 คงค้องพูดให้ชัดเจนเพื่อที่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบริษัทน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิตรถยนต์ เกษตรกรตลอดจนผู้ผลิตพลังงานทดแทน จะได้รู้ทิศทางที่แน่นอนและวางแผนงานได้อย่างถูกต้อง

.

ทั้งหมดนี้ก็คงเป็นความท้าทายด้านพลังงานที่ประเทศไทยต้องเผชิญหน้าในปี 2553 นี้ครับ ซึ่งเราจะผ่านพ้นไปได้ดีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ด้านพลังงานของรัฐบาลว่าจะบริหารจัดการด้านพลังงานได้ดี แค่ไหน จะกล้าตัดสินใจในปัญหายากๆที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียคะแนนนิยม แต่จะเป็นผลดี เป็นการวางแผนและวางโครงสร้างการจัดการด้านพลังงานของประเทศในระยะยาวหรือไม่

.

ส่วนประชาชนผู้ใช้พลังงานนั้นเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าได้เลยครับว่าจะต้องเผชิญหน้ากับราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างแน่นอนทั้งในปีนี้และปีต่อๆ ไป เพราะพลังงานราคาถูกมีแต่จะหมดไปจากโลกใบนี้

.

ยิ่งเราต้องใช้พลังงานสีเขียว (Green Power) มากเท่าไร เรายิ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Clean Tech) มากขึ้นเท่านั้น และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดนั้นไม่ถูกหรอกครับ ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าเราจะสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนราคาถูกมาแทนที่พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ) ได้ 

.

ดังนั้นอย่าหวังพึ่งใครเลยครับ ท่องสุภาษิต “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และท่องคาถา “อดทน ประหยัด และพอเพียง” เอาไว้เป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้พ้นจากความท้าทายด้านพลังงานในปี 2553 เถิดครับ ขอให้โชคดีทุกท่านครับ     

.
บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน มนูญ  ศิริวรรณ
.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน