เนื้อหาวันที่ : 2010-01-29 14:20:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1747 views

ไอซีทีจับมือสนง.วิจัยแห่งชาติ ระดมกึ๋นบูรณาการงานวิจัยอุตสาหกรรมไอซีที

ก.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ ร่วมกับ สนง.วิจัยแห่งชาติ ชูยุทธศาสตร์ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีที หวังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจดึงรายได้เข้าประเทศ

ก.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ ร่วมกับ สนง.วิจัยแห่งชาติ ชูยุทธศาสตร์ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีที หวังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจดึงรายได้เข้าประเทศ

.

นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

.

นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการบูรณาการงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมและตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า ภายใต้กรอบแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมและตลาดไอซีทีเป็นอย่างมาก          

.

โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 5 การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีที เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ ที่ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินงานเอาไว้ คือ “ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการไอซีทีไทยสู่ระดับสากล โดยสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมไอซีที เพื่อสร้างสรรค์ ต่อยอดการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตเทคโนโลยีต้นน้ำเพิ่มมากขึ้น

.

“อุตสาหกรรมไอซีทีหลักๆ ที่ควรให้ความสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาก็คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับระบบสมองกลฝังตัว การออกแบบขั้นสูง อุตสาหกรรมอุปกรณ์โทรคมนาคม อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นต้น    

.

โดยส่งเสริมกระบวนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ สามารถบังคับใช้ได้จริง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างกลไกที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมในการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

.

พร้อมกันนี้ยังต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันและกลไกในการตรวจสอบ รับรองคุณภาพสินค้าและบริการไอซีทีที่ผลิตในประเทศ ให้สามารถพัฒนา รวมทั้งผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยอาจพิจารณาตั้งหน่วยงานที่ดูแลมาตรฐานเกี่ยวกับไอซีทีโดยตรงขึ้นมา      

.

หรือมีคณะกรรมการระดับชาติที่ดูแลมาตรฐานด้านไอซีที ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกลางที่ดูแลระบบมาตรฐานของไทย ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานสำคัญของโครงข่ายและบริการในอนาคต  

.

เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารยุคหน้า การสื่อสารความเร็วสูงระบบไร้สาย เทคโนโลยีโทรคมนาคมทางเลือกต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นยังควรจัดให้มีกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเป็นแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการโดยเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนาด้วย” นายสือ กล่าว

.

ดังนั้น เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและตลาดไอซีที สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายของแผนแม่บทไอซีที ฉบับที่ 2 ฯ อย่างเป็นรูปธรรม สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลนีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้ร่วมมือกับประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมและตลาดไอซีทีรวม 13 หน่วยงาน

.

อาทิ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย เป็นต้น

.

สำหรับการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นดังกล่าว จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการกำหนด  แนวทางการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและตลาดไอซีทีของประเทศไทยให้มีศักยภาพ ยกระดับความสามารถในการพัฒนาให้  เท่าทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแข่งขันกับนานาประเทศ  

.

รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายการวิจัยตามยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศไทย และยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยพัฒนาตามกรอบแผนแม่บทไอซีที ฉบับที่ 2 ฯ และแผนยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง       

.

ตลอดจนเพื่อพัฒนาเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายนักวิจัยและพัฒนา รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลงานวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรวิจัยให้มีความสามารถในการปฏิบัติการวิจัยได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

.

โดยในที่ประชุมมีความคิดเห็นว่า เป้าหมายหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่  5 ว่าด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาด้าน ICT ของภาครัฐและเอกชนอย่างน้อยร้อยละ 15 ในปี พ.ศ. 2551-2556 นั้น สามารถเป็นไปได้ แต่ปัญหาที่สำคัญคือขาดความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างงานวิจัยของภาครัฐกับการใช้ประโยชน์ได้จริงของภาคธุรกิจ

.

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมุ่งเน้นแนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และทำให้ภาคธุรกิจนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง โดยที่ประชุมได้นำเสนอแนวทาง 3 แนวทาง คือ 1.ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือโดยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม โดยอยู่ในรูปแบบของ Innovation Coupon

.

ซึ่งภาคเอกชนสามารถใช้เพื่อว่าจ้างให้ภาควิชาการช่วยสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการของตน 2. ภาครัฐควร ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจต่างชาติ วิสาหกิจคนไทยและห้องทดลองวิจัย 3. ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณ/กำหนด ตัวชี้วัดในการประเมินผลองค์กรและบุคลากรของสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยให้ขึ้นอยู่กับมูลค่าในการนำผลงาน ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อมุ่งสู่ Demand driven มากขึ้น

.

“จากข้อคิดเห็นในที่ประชุมดังกล่าว จะนำไปศึกษากรอบแนวทางการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและตลาดไอซีทีของประเทศไทยตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์

.

รวมทั้งเกิดความร่วมมือในการผลักดันและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและตลาดไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง และมีการประสานการปฏิบัติงานวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้สามารถถ่ายทอดและเผยแพร่ให้เกิดการต่อยอดในทางพาณิชย์ได้อย่างเหมาะสมต่อไป”     นายสือ กล่าว