เนื้อหาวันที่ : 2010-01-26 10:47:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1481 views

เทรนด์ซอฟต์แวร์ปี 53 ในมุมมองของที่ปรึกษาด้านไอทีมือโปร

ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซ ทางออกของปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สำหรับธุรกิจจะเป็นทางเลือกที่ดีจริงหรือ

เบอร์นาร์ด คอลลิน ซีอีโอ บริษัทเซฟคอมส์ เน็ตเวิร์ค ซีคิวริตี้ คอนซัลติ้ง

.

.

ช่วงต้นปี ถือเป็นเวลาที่องค์กรธุรกิจมักทบทวนผลงานในปีที่ผ่านมาและวางยุทธศาสตร์การค้าสำหรับปีต่อๆไป ผมจึงอยากรวบรวมข้อสังเกต แนวโน้มสถานการณ์ และข้อคิดหลักๆ ในเรื่องซอฟต์แวร์มาฝากผู้บริหารองค์กร โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนดำเนินธุรกิจของท่านในปี 2553 ดังต่อไปนี้

.

หนึ่งในเรื่องที่ยังคงโต้กันอย่างเผ็ดร้อนต่อไปในปี 2553 คือ การเลือกใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซ (open-source software) หรือซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ (licensed software) ประเด็นก็คือ จริงหรือไม่ที่ว่าการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้น เป็นทางออกที่สะดวก ง่าย และไม่ต้องเสียสตางค์สักบาทเดียว

.

จากประสบการณ์ของบริษัท เราให้คำปรึกษาและติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซแก่องค์กรในประเทศไทยมามาก และเห็นด้วยว่าการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซนั้น ย่อมต้องดีกว่าการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ “ของฟรีดีๆนั้นไม่มีในโลก” เจ้าของธุรกิจควรรู้ไว้ว่า การเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซในการดำเนินธุรกิจ มีต้นทุนแฝงอยู่ ซึ่งจะมากหรือน้อยกว่าการใช้ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์นั้น ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป

.

สำหรับบริษัทที่กำลังตัดสินใจว่าจะนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซมาใช้ คุณควรต้องระบุเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากได้อะไรจากการตัดสินใจครั้งนี้ แล้วชั่งน้ำหนักให้ดีว่าคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด  หากเป็นเป้าหมายระยะสั้น คุณสามารถลดต้นทุนได้แน่นอน แต่ในระยะยาวแล้ว คุณอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคในเรื่องต่างๆ

.

เช่น การฝึกอบรมพนักงาน การโอนถ่ายข้อมูลมาสู่ระบบใหม่ การทำงานร่วมกับระบบของลูกค้า และท้ายที่สุด คือการสรรหาผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของซอฟต์แวร์นั้นเป็นอย่างดี เพื่อให้คำแนะนำในการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง สามารถการันตีความมั่นคงตรงนี้ให้กับธุรกิจของคุณได้ ซึ่งอาจมีอยู่ไม่มาก

.

ข้อดีก็คือ ตอนนี้ ภาครัฐกำลังเร่งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นสร้างมูลค่าจากสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผมมองว่าประเทศไทยมีคนเก่งๆเยอะมาก สามารถผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการของตลาดโลกได้ ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นคือความหวังของประเทศไทย

.

ผมอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้การสนับสนุนโครงการเหล่านี้ เพราะหากการละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงดำเนินต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ มันจะกลายเป็นดาบสองคมทำลายขวัญ และกำลังใจของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยด้วยกันเอง

.

หากภาครัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หวังว่าในปี 2553 นี้ เราจะเห็นการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์ที่เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก ตั้งแต่ผมเปิดบริษัทมา เซฟคอมส์ไม่เคยให้บริการแก่ลูกค้าที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน เราสนับสนุนให้ลูกค้าและคนทั่วไปใช้แต่ซอฟต์แวร์ของแท้เท่านั้น

.

เพราะในวงการนี้ รู้กันอยู่ว่า ไม่มีระบบอะไรที่จะสามารถการันตีความปลอดภัยได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็น ยิ่งเป็นระบบที่มีซอฟต์แวร์เถื่อนรวมอยู่ด้วย ยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นนโยบายของเราจึงกำหนดไว้ว่าจะไม่ให้บริการแก่บริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน เพราะมันเสี่ยงเกินไป      

.

เมื่อเราผ่านภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 2552 มาได้แล้ว ผมจึงอยากแนะนำให้ผู้บริหารองค์กรหันมาตรวจสอบระบบไอที และสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ที่ใช้ในองค์กรของท่านอย่างละเอียด และเริ่มวางแผนการลงทุนสำหรับปีปัจจุบัน บริษัททั่วๆ ไปจะมีค่าใช้จ่ายด้านไอทีและซอฟต์แวร์เฉลี่ยราว 5% ของต้นทุนในการดำเนินงานทั้งหมด

.

การลงทุนด้านไอทีและซอฟต์แวร์นับว่าเป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดเพราะช่วยลดต้นทุนในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน และยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทกับคู่แข่งในตลาดโลก

.

ผมเชื่อว่าประเด็นเรื่องความปลอดภัย จะยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป มั่นใจได้ว่าจำนวนผู้ส่งอีเมล์ขยะ  แฮกเกอร์ และไวรัสต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะโจมตีธุรกิจของคุณเมื่อไหร่ สิ่งเดียวที่คุณทำได้ คือเตรียมตั้งรับไว้ให้ดี จัดการพัฒนาระบบไอทีของตนให้มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ

.

ในส่วนของนโยบายภาครัฐนั้น มีหลายเสียงเรียกร้องให้รัฐส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซแทนที่ซอฟต์แวร์ประเภทอื่นๆ ผมเห็นด้วยว่าซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซนั้นใช้ทำงานได้ แต่หากภาครัฐเลือกส่งเสริมเฉพาะซอฟต์แวร์ประเภทใดประเภทหนึ่งอาจส่งผลร้ายต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยได้

.

นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยเองสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หลากหลายประเภท ไม่ใช่เฉพาะซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซเท่านั้น และควรได้รับโอกาสและการสนับสนุนจากภาครัฐที่เท่าเทียมกัน

.

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากไว้ เป็นสิ่งที่ผมพูดกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ นั่นคือให้ทำการสำรองข้อมูลบริษัทไว้ยิ่งบ่อยยิ่งดี นอกจากทรัพยากรบุคคลในบริษัทแล้ว ข้อมูลในคอมพิวเตอร์นับเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด ทุกปี คอมพิวเตอร์ราว 30% ต้องสูญเสียข้อมูลที่มีค่าในเครื่องไป หลายครั้งส่งผลกระทบทางธุรกิจที่ร้ายแรงได้อย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นขอให้ยอมสละเวลาเพียงเล็กน้อย ดำเนินการสำรองข้อมูลให้ครบถ้วนเถิดครับ 

.

โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และไอทีของไทย กำลังก้าวไปในทิศทางที่ดี ผมเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไอทีได้ ยิ่งมาถึงตอนนี้ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างตื่นตัวกับการพัฒนาและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ความหวังของผมยิ่งสดใสขึ้นกว่าเดิม