เนื้อหาวันที่ : 2010-01-21 15:39:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4195 views

"ไบโอแก๊ส" เป็นได้มากกว่าตัวช่วยยุคราคาพลังงานผันผวน

การหันมาผลิตพลังงานขึ้นใช้เองกลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆของกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งพลังงานทางเลือกยอดนิยมก็คือ “ก๊าซชีวภาพ” หรือ “ไบโอแก๊ส”

ในยุคที่ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้น การหันมาผลิตพลังงานขึ้นใช้เองกลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆของกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งพลังงานทางเลือกยอดนิยมก็คือ “ก๊าซชีวภาพ” หรือ “ไบโอแก๊ส” โดยการนำน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม มูลสัตว์ ขยะ หรือเศษอาหาร เป็นต้น มาหมักในระบบผลิตไบโอแก๊ส ก็จะได้เพลังงานที่สามารถผลิตไฟฟ้า หรือใช้ทดแทนน้ำมันเตา ก๊าซหุงต้น (LPG) ซึ่งเหล่านี้เป็นพลังงานหลักในกระบวนการผลิต

.

.
“สนพ.” มองการณ์ไกล เล็ง “ไบโอแก๊ส” เป็นพลังงานทางเลือก ดันเต็มสูบตั้งแต่ปี  2538

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการวางนโยบายพลังงานแล้วยังดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นประโยชน์ในการลงทุนระบบผลิตไบโอแก๊สเพื่อเป็นพลังงานทดแทน  ตั้งแต่ปี 2538 ด้วยการสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ การสนับสนุนให้เกิดโครงการสาธิต  จนส่งผลให้ปัจจุบันมีการผลิตไบโอแก๊สไปแล้วกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ศักยภาพโดยรวมของไบโอแก๊ส มีประมาณ 1,713 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยเป็นไบโอแก๊สจากภาคปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน โรงแรม สถานศึกษา โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งสนพ.ได้กำหนดเป้าหมายผลิตไบโอแก๊สระหว่างปี 2551-2554 ให้ได้ประมาณ 760 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

.

เมื่อรวมกับไบโอแก๊สที่มีการผลิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อีกประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  ก็จะทำให้สามารถทดแทนไฟฟ้าได้ประมาณ 316 ล้านหน่วยต่อปี ทดแทน LPG ได้ประมาณ  25  ล้านกิโลกรัมต่อปี ทดแทนน้ำมันเตาได้ประมาณ 376 ล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าทดแทนพลังงานได้ถึง 6,970  ล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1.17 ล้านตันต่อปี    

.

“ไบโอแก๊สเป็นพลังงานทดแทนที่กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนสูงรองจากพลังงานชีวมวล ดังนั้นจึงต้องผลักดัน พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเพื่อนำ น้ำเสีย ของเสีย จากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมาแปรเป็นไบโอแก๊ส ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น

.

เช่น ไฟฟ้า น้ำมันเตา หรือ LPG ซึ่งนอกจากทางผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์โดยตรงในการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ประเทศไทยก็สามารถลดการนำเข้าพลังงานลงได้ระดับหนึ่ง

.

นอกจากนี้ยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ดังนั้น สนพ.จึงได้ ดำเนินโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดังนั้นผู้ประกอบการหรือผู้สนใจต้องการเปลี่ยนของเสียให้เป็น ไบโอแก๊สสามารถดูข้อมูลรายละเอียด หรือสมัครเข้าร่วมโครงการฯได้ที่ www.thaibiogas.com

.
มุมมองนักวิชาการและผู้ประกอบการ “ไบโอแก๊ส” ให้มากกว่าพลังงาน

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของไบโอแก๊สกับโรงงานอุตสาหกรรม ว่า การที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในปัจจุบันให้ความสนใจลงทุนระบบไบโอแก๊สมากขึ้น นอกจากได้ตระหนักแล้วว่าไบโอแก๊สสามารถนำไปใช้ทดแทนพลังงานได้

.

สิ่งสำคัญคือการขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ในอดีตโรงงานอุตสาหกรรมมักมีปัญหากับชุมชนมาตลอดโดยเฉพาะเรื่องกลิ่นเหม็น  จากน้ำเสีย เศษอาหาร ขยะ เป็นต้น จากกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ

.

“สำหรับการที่ภาครัฐเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตไบโอแก๊สเพื่อเป้าประสงค์ช่วยชาติลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนระบบบางส่วนยิ่งทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนระบบไบโอแก๊สง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก

.

ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งกล้าทุ่มลงทุนแม้เป็นเงินทุนของตนเองทั้งหมดเพราะรู้อยู่แล้วว่า คุ้มค่าต่อการลงทุนทั้งในแง่สิ่งแวดล้อม และพลังงานที่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการผลิต หรือผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบให้การไฟฟ้า ตลอดจนการขายคาร์บอนเครดิต การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการหลายรายในปัจจุบัน ”

.

“นอกจากนี้ระบบไบโอแก๊สก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาบุคลากร เนื่องจากประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชียที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีไบโอแก๊ส โดยสามารถผลิตอุปกรณ์  ชิ้นส่วนในองค์ประกอบส่วนใหญ่ของระบบไบโอแก๊สภายในประเทศ ด้วยฝีมือคนไทย

.

ดังนั้นจึงพูดได้ว่าปัจจุบันได้เกิดอุตสาหกรรมไบโอแก๊สขึ้นในประเทศไทยแล้ว ซึ่งการที่ภาครัฐสนับสนุนให้ใช้ระบบไบโอแก๊สพัฒนาพลังงานทดแทน เป็นอีกแนวทางที่ช่วยส่งเสริมไม่ให้เกิดปัญหาสมองไหล บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบไบโอแก๊สจะเป็นทรัพยากรบุคคลที่ในอนาคตอาจสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศในการส่งออกเเทคโนโลยี ไบโอแก๊สไปประเทศต่างๆก็ได้”

.

นายพฤกษ์ อักกะรังสี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของไบโอแก๊สกับภาคปศุสัตว์ ว่า การที่ทั่วโลกหันมาให้ความใส่ใจกับปัญหาโลกร้อน โดยทุกประเทศต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ สำหรับประเทศไทยซึ่งมีการผลักดันให้ใช้พลังงานทดแทนมาระยะหนึ่งแล้ว

.

โดยเฉพาะการพัฒนาระบบไบโอแก๊สเป็นพลังงานทดแทน มีส่วนเกี่ยวโยงกับการลดภาวะโลกร้อนได้ พร้อมกับการสร้างรายได้เข้าประเทศในการขายคาร์บอนเครดิต  เช่น การร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) พัฒนาโครงการซีดีเอ็มขนาดเล็กสำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทย เพื่อนำกลไกการพัฒนาที่  สะอาดมาใช้เพิ่มคุณค่าของพลังงานก๊าซชีวภาพ

.

ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของฟาร์มสุกรขนาดเล็กจำนวนหลายฟาร์มเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ที่ปัจจุบันมีฟาร์มสุกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 25 ฟาร์ม คิดเป็นสุกรประมาณ 510,000 ตัว สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมได้มากกว่า 203,000 ตันต่อปี ทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศจากการขายคาร์บอนเครดิตได้มากถึง 95.4 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

.

“ในภาคปศุสัตว์มีหลายประเภทและหลายขนาดทั้ง โรงฆ่าสัตว์ โรงชำแหละ และโรงงานแปรรูป เนื้อสัตว์ ฯลฯ ต่างหันมาลงทุนระบบผลิตไบโอแก๊สใช้ภายในสถานประกอบการของตัวเอง เพราะมีส่วนช่วยประหยัดเงินค่าพลังงานทั้งจากไฟฟ้า น้ำมัน และ LPG ได้

.

โดยมีผู้ประกอบเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ประมาณ 5-6 แห่ง สามารถนำไบโอแก๊สมาผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิตขนาด 1-2 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ภายในฟาร์มของตนเอง แต่ในอนาคตอาจมีการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊สส่งขายเข้าระบบให้การไฟฟ้าก็ได้หากภาครัฐจูงใจด้วยส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ซึ่งก็จะเป็นส่วนช่วยให้พลังงานไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนได้” 

..

นายสมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ที่เลี้ยงสุกรกว่า 1.8 แสนตัว “เอสพีเอ็ม ฟาร์ม” ที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งมีปริมาณน้ำเสียวันละประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จและได้ประโยชน์จากไบโอแก๊สโดยตรง  เล่าให้ฟังว่า  ในอดีตเคยประสบปัญหากลิ่นมูลสุกร และน้ำเสียจากฟาร์มรบกวนชาวบ้าน

.

แต่วันนี้กลับกลายเป็นว่ามูลสุกรทำรายได้ให้อย่างงดงาม หลังจากที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ซึ่งดำเนินงานโดย สนพ. 

.

“วันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างเหลือล้นทีเดียว เพราะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้ 2,000 ยูนิตต่อวัน เพื่อใช้เป็นแสงสว่างและความเย็นให้กับสุกร เท่ากับประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 6,000 บาทต่อวัน และยังมีผลพลอยได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ อีกวันละ 1 ตัน ซึ่งมีมูลค่า 700 บาทต่อตัน

.

นอกจากนั้นพลังงานความร้อนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ยังนำไปทำความอบอุ่นใช้กกลูกสุกรได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งได้มีการทำสัญญาซื้อขายไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2552 โดยสามารถส่งคาร์บอนเครดิตขายได้ปีละ 70,000 ตัน ในราคาเฉลี่ย 3-5 ยูโรต่อตัน”

.

เหล่านี้คือตัวอย่างประโยชน์ของ “ไบโอแก๊ส ” ซึ่งมากกว่าการเป็นตัวช่วยในยามพลังงานมีราคาผันผวนจริงๆ

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน