เนื้อหาวันที่ : 2010-01-20 13:58:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 951 views

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯเริ่มฟื้น แนะเร่งแก้ปัญหามาบตาพุด

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ธันวาคม ปรับตัวสูงขึ้นเกิน 100 ต่อเนื่องเดือนที่ 3 ผู้ประกอบการห่วงราคาน้ำมัน การเมือง เศรษฐกิจโลก ปัจจัยเสี่ยง แนะเร่งแก้มาบตาพุด

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ธันวาคม ปรับตัวสูงขึ้นเกิน 100 ต่อเนื่องเดือนที่ 3 ผู้ประกอบการห่วงราคาน้ำมัน การเมือง เศรษฐกิจโลก ปัจจัยเสี่ยง แนะเร่งแก้มาบตาพุด

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนธันวาคม 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,132 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ สภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 113.6 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ที่ระดับ 104.7

.

ค่าดัชนีปรับตัวเกิน 100 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 โดยเป็นผลมาจากองค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อรวม ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการปรับตัวสูงขั้น ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงขยายตัว ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับอยู่ในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่จึงทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น

.

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลในด้านต้นทุนซึ่งสะท้อนจากความเชื่อมั่นในองค์ประกอบด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้เป็นเพราะราคาวัตถุดิบ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการวัตถุดิบที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและความกังวลต่อราคาน้ำมันในอนาคต ยังทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการในอนาคตปรับตัวลดลง

.

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากระดับ 118.3 ในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 111.5 ในเดือนธันวาคม 2552 เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าต้นทุนประกอบการจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์การค้าในอนาคต ซึ่งสะท้อนจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อรวม ยอดขายรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการในอนาคตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

.

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่าอุตสาหกรรมขนาดย่อม กลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ขนาด โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคในประเทศ ซึ่งอุปสงค์สินค้าในประเทศยังคงขยายตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา

.

สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการจัดงานรวมสินค้า OTOP ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเพราะยอดคำสั่งซื้อและยอดขายรวมปรับตัวสูงขึ้น

.

ซึ่งมาจากทั้งส่วนของการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีความเชื่อมั่นสูงขึ้นจากการปรับตัวสูงขึ้นของยอดคำสั่งซื้อรวมและยอดขายรวมที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ผลประกอบการสูงขึ้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่

.

อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเครื่องประดับมียอดจำหน่ายสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการระบุว่าเป็นเพราะใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ทำให้ยอดขายในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมมียอดขายเพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มการผลิตเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่และยังมียอดขายในต่างประเทศ อาทิจากประเทศอาเซียน จีน เพิ่มสูงขึ้นด้วย

.

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในทุกภูมิภาค ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับเพิ่มขึ้น โดยภาคกลางมียอดคำสังซื้อและยอดขายของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องประดับหลังคาและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในจากลูกค้าในต่างประเทศสูงขึ้น        

.

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่มีการส่งออกไปยังยุโรปมากขึ้น ภาคเหนือ ปรับเพิ่มจากจำนวนนักท่องที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวในภาคเหนือมากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ยอดขายในสินค้ากลุ่มสินค้าเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมสูงขึ้น นอกจากนี้การก่อสร้างในส่วนของการซ่อมถนนก็ทำให้มีการจำหน่ายสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมก่อสร้างมากขึ้นด้วย 

.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มจากอุตสาหกรรมอาหาร ที่ยอดขายในประเทศสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารแปรรูป นอกจากนี้กลุ่มสิ่งทอก็มียอดขายในประเทศประเภทผ้าพื้นเมืองสูงขึ้น อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม สิ่งทอ อาหารและอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคตะวันออก

.

ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกยังเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศซึ่งมีการขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

.

โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า และภาคใต้ มีการปรับตัวดีขึ้นจากอุตสาหกรรมยางที่มีการส่งออกยางแผ่นไปประเทศญี่ปุ่นสูงขึ้น

.

นอกจากนี้อาหารทะเลยังมียอดจำหน่ายสูงขึ้นเนื่องจากมีการ สต๊อคสินค้าสำหรับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและโลหะการ อาหาร โรงเลื่อยและโรงอบไม้ และอุตสาหกรรมไม้บางและวัสดุแผ่น

.

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) ปรับเพิ่มขึ้นในทั้งสองกลุ่มตลาด กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อรวม และยอดขายรวมเพิ่มสูงขึ้น

.

โดยปัจจัยในประเทศซึ่งมีผลต่อการอุปโภคบริโภคมาจากงานก่อสร้างที่มากขึ้น การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดในเทศกาลปีใหม่ รายได้ของเกษตรกรแต่สูงขึ้น และการจัดงาน OTOP เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

.

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวจากอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก เช่น จากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ ได้รับผลดีจากสินค้าในกลุ่มไม้ยางพาราแปรรูปที่มียอดสั่งซื้อจากจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซียสูงขึ้น

.

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นสถานการณ์ทางการเมือง อัตราแลกเปลี่ยน สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยลดลงจากเดือนพฤศจิกายน แต่มีความกังวลในประเด็นของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีกังวลมากที่สุดในเดือนนี้เนื่องจากกังวลว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง 

.

และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันคือ ให้ภาครัฐเร่งรัดการแก้ปัญหามาบตาพุดให้กับภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ SME แก้ไขปัญหาทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ

.

เพราะไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์ทางการเมืองกระทบกับเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้น ช่วยสนับสนุนการจัดหาแรงงานภายในประเทศหรือลดขั้นตอนในการจัดจ้างแรงงานต่างด้าว รวมทั้งมีมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพแรงงานในระยะยาว และดูแลราคาเชื้อเพลิงไม่ให้สูงจนเกินไป

.
ที่มา : สภาอุตสาหกรรม