เนื้อหาวันที่ : 2010-01-19 14:52:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2086 views

ปีใหม่ ขอสังคมไทยไร้แร่ใยหิน

แร่ใยหินสินแร่ที่ให้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม แต่ให้โทษมหันต์แก่ผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภค สังคมไทยน้อยคนนักที่จะรู้ถึงอันตรายของแร่ใยหิน ทั้งที่โอกาสรับและสัมผัสมีอยู่มาก

รศ.ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์ 

แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.

.

อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยมีความรับรู้เรื่องแร่ใยหินหรือแอสเบสตอส (Asbestos) อย่างจำกัด มีผู้คนจำนวนไม่มากนักที่รู้เรื่องอันตรายของแร่ใยหิน ทั้งที่โอกาสรับสัมผัสมีอยู่มาก โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมแร่ใยหิน แรงงานทั้งก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง

.

โดยความเป็นจริงแล้ว แร่ใยหินมีอันตรายต่อสุขภาพทั้งกับผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภค ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยอนุญาตให้มีการใช้แร่ใยหินชนิดต่างๆ แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีการอนุญาตให้ใช้แร่ใยหินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ แร่ใยหินชนิด ไครโซไทล์ (Chrysotile) หรือ แอสเบสตอสสีขาว อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เพื่อขจัดอันตรายของผู้ใช้แรงงานและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบ

.

แร่ใยหินเป็นวัสดุที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานและทนความร้อน เช่น ในกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรค ท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินเป็นจำนวนมาก จึงมีภาครัฐและภาคเอกชนบางส่วนกังวลว่าถ้ามีการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

.

อันตรายที่สำคัญที่เกิดจากแร่ใยหิน คือ การที่อนุภาคของแร่ใยหินสามารถฟุ้งกระจายสู่ปอด ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอสหรือแอสเบสโตซิส โรคมะเร็งปอด และ โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

.

การวินิจฉัยและตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสจากแร่ใยหินและการเกิดอันตรายจากแร่ใยหินมีความยากลำบาก เนื่องจากมีการพัฒนาการของโรคใช้เวลานาน และขึ้นกับจำนวนอนุภาคที่สัมผัสและระยะเวลาของการสัมผัส การได้รับการวินิจฉัยเมื่อผู้ป่วยมีอาการว่ามาจากแอสเบสตอสจึงเป็นเรื่องยากเนื่องด้วยเทคโนโลยีการแพทย์และอาจถูกกล่าวอ้างว่ามาจากสาเหตุอื่น

.

จากอันตรายของแร่ใยหินที่พบในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้มีการยกเลิกในหลายประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมีการจำกัดการใช้ในหลายประเทศ บางประเทศมีการออกกฎหมายการรื้อถอนอาคารเก่าที่มีการใช้วัสดุแร่ใยหินที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

.

การรณรงค์ให้มีการยกเลิกแร่ใยหินได้มีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับสากล มีการประชุมวิชาการนานาชาติในเรื่องนี้เป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามจากนักวิชาการระดับสากลที่ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจแร่ใยหินในประเทศแคนาดาที่จะหาข้อโต้แย้งหักล้างว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ (Chrysotile) หรือแอสเบสตอสสีขาว เป็นแร่ใยหินที่ไม่เป็นอันตราย

.

มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าประเทศแคนาดาส่งออกแร่ใยหินแต่ประเทศตนไม่ใช้ ทั้งนี้เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศแคนาดา นายแพท มาร์ติน นำเสนอรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติเมื่อ ปี พ.ศ.2549 ที่จะเสนอให้ห้ามการส่งออกสินค้าที่มี White asbestos ไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาแต่ไม่สำเร็จ

.

ปี พ.ศ. 2549 ในการประชุมนานาชาติในประเทศไทย มีการจัดทำคำประกาศกรุงเทพเพื่อการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสและขจัดโรคจากแอสเบสตอส จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และองค์กรระหว่างประเทศ

.

เช่น องค์การอนามัยโลก และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมถึง 300 คน จาก 26 ประเทศ มีการทบทวนมาตรการต่างๆที่เกี่ยวกับอันตรายและการจัดการแร่ใยหินทั่วโลก และมีมติที่สำคัญ คือ ให้มีการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสในทุกประเทศทั่วโลก

.

สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการนำเสนอทางวิชาการในเรื่องอันตรายจากแร่ใยหิน แต่ภาครัฐยังไม่มีนโยบายและมาตรการในระดับประเทศที่เด่นชัด องค์กรภาครัฐที่เริ่มมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้มีการกำหนดคำเตือนในสินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบ มาตรการดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ

.

เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการใดๆทั้งสิ้นจากภาครัฐที่เป็นมาตรการเชิงนโยบายที่นำไปสู่หลักประกันสูงสุดของประชาชนที่จะไม่ได้รับอันตรายจากแร่ใยหิน ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของแร่ใยหินและนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศอย่างมีความรู้เท่าทัน

.

หากสังเกตพฤติกรรมการบริโภคในสังคมไทย จะพบว่ามีการใช้สินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบอย่างแพร่หลาย โดยไม่มีข้อแนะนำหรือข้อกำหนดใดๆที่ประชาชนพึงทราบ อันตรายที่สำคัญ คือ การแตกกระจายของอนุภาคแร่ใยหินที่ฟุ้งกระจายสู่ปอด ซึ่งเกิดได้จากการกระทำของผู้ใช้ เช่น การเลื่อย การตัด กระเบื้อง ฝ้า หรือ วัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบ

.

ยิ่งไปกว่านั้นการทุบทำลายอาคารที่ใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินประกอบอยู่ในโครงสร้างอาคารต่างๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการฟุ้งกระจายของอนุภาคของแร่ใยหิน ที่สามารถนำอันตรายมาสู่ผู้ทุบทำลายโดยตรง หรือผู้ที่ผ่านไปมาและรับสัมผัส ตลอดจน การขนส่ง นำขยะที่มีแร่ใยหินไปทิ้ง ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่นำไปสู่อันตรายที่อาจเกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินได้ทั้งสิ้น อันตรายเหล่านี้จะป้องกันได้หากไม่ให้มีการใช้แร่ใยหิน

..

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าประชุมทางวิชาการนานาชาติเรื่องอันตรายจากแร่ใยหินที่จัดขึ้นโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และได้พบว่ามีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากในประเทศต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น มีการรณรงค์อย่างมากมายเพราะมีประชาชนได้รับอันตรายในเรื่องนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีที่ตอบรับการนำเสนอของภาคประชาสังคมและมีการยกเลิกแร่ใยหินไปตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547

.

ในประเทศไทยได้มีภาคธุรกิจที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้มีการประกาศยกเลิกการนำแร่ใยหินมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆของบริษัท ถือได้ว่าเป็นผู้นำความปลอดภัยมาสู่ผู้บริโภค ถือเป็น TRUE CSR (Cooperative Social Responsibility) หรือการรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริง ในภาพรวมพบว่าการนำเข้าแร่ใยหินจากต่างประเทศลดลงอย่างมากเมื่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทยไม่นำเข้าแร่ใยหิน

.

ซึ่งอาจจะต้องทำให้บริษัทมีผลกระทบด้านการขายสินค้า การทำเช่นนี้ถือเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคและถือได้ว่าเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในระยะปัจจุบันที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ทั้ง PL Law และ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ที่เน้นเรื่องผู้ประกอบการพึงระวัง (Caveate venditor)

..

ในด้านการส่งเสริมวัสดุทดแทน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการส่งเสริมการค้นคว้าและการใช้วัสดุทดแทนเร่ใยหินในภาคธุรกิจ มีการการส่งเสริมการใช้กระเบื้องซีเมนต์เส้นใยเพื่อการทดแทนและเสนอผลทดสอบที่ชี้ให้เห็นว่ากระเบื้องซีเมนต์เส้นใย ไม่ได้ด้อยกว่ากระเบื้องแร่ใยหิน ทั้งการต้านทานการรั่วซึม การทนแรงกระแทก การทนร้อนทนฝน แต่กระเบื้องแร่ใยหินจะทนทานกว่าเล็กน้อย

.

โดยความจริงแล้ว ในการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาสังคมผู้บริโภคมีเครื่องมือที่ดีในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 61 ที่กำหนดให้มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่จะใช้เป็นช่องทางแสดงความมีตัวตนของผู้บริโภค แต่รัฐสภาและรัฐบาลก็ยังดำเนินการให้มีกฎหมายนี้ไม่เสร็จ กล่าวสำหรับข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคต่อการจัดการอันตรายจากแร่ใยหิน

.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดการประชุมเวทีองค์กรอิสระผู้บริโภคเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 โดยเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมห้ามการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน ห้ามการผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบ และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในด้านการสร้างความตระหนัก การส่งเสริมวัสดุทดแทน และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่มีการใช้แร่ใยหิน เป็นต้น

.

รัฐบาลจึงพึงควรรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคจะได้รับการป้องกันอันตรายต่อผู้บริโภคเช่นนี้ จึงจะไม่ทำให้เกิดผลที่รุนแรงตามมา เช่น กรณีการจัดฟันแฟชั่น ที่มีเยาวชนเสียชีวิต กรณีมาบตาพุดที่มีการฟ้องร้องในประเด็นตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ เรื่องการประเมินผลสุขภาพและองค์การอิสระสิ่งแวดล้อม กรณีซานติก้าผับที่ทำให้มีผู้รับบริการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

.

ฉะนั้นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากแร่ใยหินในประเทศไทยจึงถือได้ว่าสำคัญมาก หากรัฐบาลต้องการดำเนินการให้สังคมไทยเข้มแข็งโดยแท้จริงแล้ว ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคไทยทั้งมวลปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากแร่ใยหิน การรับฟังข้อเสนอจากองค์กรผู้บริโภคและพิจารณาปัญหานี้โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบจึงเป็นเรื่องพึงกระทำโดยเร่งด่วน

.
ที่มา : ไทยเอ็นจีโอ