เนื้อหาวันที่ : 2007-01-12 09:35:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 865 views

ผู้ผลิตไฟฟ้า-อิเล็กฯ จี้ ธปท.หามาตรการคุมเข้มเงินบาทแข็งค่า

กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ เสนอ ธปท.กำหนดมาตรการเพิ่มเติมทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก ไม่ให้แข็งเกินระดับจีน-มาเลเซีย คู่แข่งสำคัญ พร้อมย้ำปีที่ผ่านมูลค่ายอดขายคิดเป็นเงินบาทหายไปนับแสนล้านบาท พร้อมวอนรัฐเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ เสนอ ธปท.กำหนดมาตรการเพิ่มเติมทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก ไม่ให้แข็งเกินระดับจีน-มาเลเซีย คู่แข่งสำคัญ ระบุกลุ่มผู้ผลิตเริ่มสั่งซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากต่างประเทศทดแทนการสั่งจากเอสเอ็มอีในประเทศแล้ว พร้อมย้ำปีที่ผ่านมูลค่ายอดขายคิดเป็นเงินบาทหายไปนับแสนล้านบาท พร้อมวอนรัฐเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

.

นายขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาระบบจัดการค่าเงินบาทเพิ่มเติม ให้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยอยู่ในเกณฑ์ ไม่แข็งค่าเกินคู่แข่งด้านการส่งออก เช่น จีน และมาเลเซีย เพื่อทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้  ซึ่งผู้ประกอบการพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันตามรัฐบาล และ ธปท.เสนอแนะ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การปรับประสิทธิภาพการผลิต คงไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น ต้องใช้เวลาปรับตัว ในจุดนี้ก็ขอเสนอให้รัฐบาลช่วยจัดหาเงินทุน หรือโครงการที่ช่วยภาคเอกชนในการปรับตัวด้วย ซึ่งอาจจะเป็นการตั้งกองทุนหรือหาเงินทุนมาช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน โดยกลุ่มฯ ได้เสนอต่อ ส.อ.ท.แล้ว เพื่อนำไปเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

.

นายขัติยา ระบุว่า ค่าเงินบาทในปัจจุบันที่อยู่ในระดับประมาณ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 12-13 ในขณะที่ค่าเงินหยวนของจีนและริงกิตของมาเลเซียแข็งค่าไม่เกินร้อยละ 3 แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองประเทศมีระบบการจัดการทำให้เงินตราไม่แข็งค่ามากเกินไป และขณะนี้จากที่เงินบาทไทยแข็งค่าเกินร้อยละ 10 ซึ่งเป็นจุดที่คุ้มทุนสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้หลายบริษัทเริ่มสั่งนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทดแทนการซื้อจากบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทย  ดังนั้น ภาพในปีนี้ กลุ่มเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบ จากเดิมที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากนัก

.

ธปท.น่าจะหาระบบจัดการที่ทำให้เงินบาทไทยไม่แข็งค่าเกินคู่แข่ง โดยใช้มาตรการที่ไม่รุนแรงเหมือนมาตรการสำรองร้อยละ 30 ของเงินทุนไหลเข้า ซึ่งน่าจะศึกษาจากมาเลเซียว่าใช้รูปแบบไหน เพราะหากปล่อยไปเช่นนี้เรื่อยๆ เอสเอ็มอีไทยกระทบหนักแน่ หลังจากที่กลุ่มส่งออกได้รับผลกระทบมาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยอดขายปี 2549 หายไปจากเงินบาทแข็งค่าถึง 100,000 ล้านบาท โดยเหลือมูลค่าส่งออกประมาณ 150,000 ล้านบาทเท่านั้น นายขัติยา กล่าว

.

นายขัติยา กล่าวว่า  กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานประเภททักษะ เช่น ช่าง วิศวกร ประมาณ 50,000 คน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเติบโตสูงมาก จึงทำให้มีการเปลี่ยนงานกันมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ ส.อ.ท.ได้พยายามประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน ร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกัน โดยหากยังขาดแคลนเช่นนี้ ก็อาจจะส่งผลระยะยาว.