เนื้อหาวันที่ : 2010-01-10 11:47:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5638 views

ก.พลังงานพบแหล่งปิโตรเลียมในอีสานและอ่าวไทย

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยผลสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นไปตามคาด โดยพบแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มในภาคอีสานและอ่าวไทย และขุดหลุมผลิตเพิ่มได้อีกกว่า 450 หลุม

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยผลสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นไปตามคาด โดยพบแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มในภาคอีสานและอ่าวไทย และขุดหลุมผลิตเพิ่มได้อีกกว่า 450 หลุม

.

.

นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การลงทุนสำรวจแหล่งปิโตรเลียม ในปี 2552 เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ที่ 330,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยกว่าร้อยละ 80 เป็นโครงการของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. และบริษัท เชพรอนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

.

ซึ่งการเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถขุดเจาะหลุมสำรวจเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 25-30 หลุม และขุดหลุมผลิตอีกไม่น้อยกว่า 450 หลุม และยังมีข่าวดีในการสำรวจ พบร่องรอยน้ำมันที่หลุมมโนราห์ในอ่าวไทย แปลง G1/48 ในแปลงสัมปทานรอบที่ 19 ของบริษัท Pearl Oil ปิโตรเลียม (เพิร์ลออยล์)

.

โดยทดสอบอัตราการไหลของน้ำมันมีเกือบ 9,000 บาร์เรลต่อวัน และยังเจาะพบร่องรอยน้ำมันในหลุมรสสุคนธ์ 1 แปลง G6/48 ปริมาณ 2,000 บาร์เรลต่อวัน แสดงว่าศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมในประเทศยังคงมีอยู่ แต่จากภาพรวมการผลิตน้ำมันดิบของไทย ที่ปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 150,000-160,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของความต้องการใช้อยู่ที่ 700,000 บาร์เรลต่อวัน ยังไม่เพียงพอ

.

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงต้องแสวงหาแหล่งปริมาณสำรองปิโตรเลียม ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนรายได้จากการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ในปีงบประมาณ 2552 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 - กันยายน 2552 มีประมาณ 146,000 ล้านบาท และปี 53 คาดว่า จะสามารถขุดหลุมสำรวจและหลุมผลิตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

.

โดยขณะนี้ มีการสำรวจปิโตรเลียมจากแหล่งสัมปทานรอบที่ 18 และ 19 อีก 3-4 แหล่งในภาคอีสาน อาทิ แหล่งเสาเถียร แหล่งอรุโณทัย ของ ปตท.สผ. และแหล่งบ่อรัง ของบริษัท แพนโอเรียล แต่เป็นแหล่งขนาดเล็ก ปริมาณการผลิต 500-1,000 บาร์เรลต่อวัน

.

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้จากหลายแหล่ง เช่น แหล่งทานตะวัน เบญจมาศ แหล่งตะพง ปลาทอง ยูงทอง ของเชฟรอน กำลังการผลิตรวม 87,000 บาร์เรลต่อวัน , แหล่งจัสมิน และบานเย็น ของเพิร์ลออยล์ 21,000 บาร์เรลต่อวัน, แหล่งบัวหลวง ของบริษัท ซาราแมนเดอร์ โซโก้ 10,000 บาร์เรลต่อวัน ,

.

แหล่งสิริกิติ์บนบก 21,000 บาร์เรลต่อวัน แหล่งวิเชียรบุรี และนาสะดุ้ง อีกแหล่งละ 6,000 บาร์เรลต่อวัน โดยจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือไม่นั้น จะต้องมีการศึกษาความเหมาะสม ทั้งศักยภาพ ความน่าสนใจ รวมถึงความต้องการของตลาด

.

ทั้งนี้ ในปี 52 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ อยู่ที่ระดับ 3,900-4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 500-800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปี 2551 ที่มีความต้องการใช้อยู่ที่ 3,274 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สะท้อนว่าประเทศมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า และใช้ในรถยนต์เพิ่มขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม กรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ เจดีเอ บล็อก 19 ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะการทดสอบระบบยังไม่เรียบร้อยทำให้ไม่สามารถนำก๊าซฯ จากแหล่งนี้ขึ้นมาใช้ได้

.

ซึ่งตามกำหนดเดิมจะนำก๊าซจากแหล่งนี้มาใช้ก่อน 135 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มเป็น 170 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปีนี้ และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ยังจะมีก๊าซฯ จากแหล่งเจดีเอ บล็อก 16 เข้ามาเสริมความมั่นคงอีก 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

.

นอกจากนี้ ยังจะมีก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเข้ามาเสริมความมั่นคงด้านพลังงานอีก 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในปี 2014-2015 หรือปี 2557-2558 หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง M9 ในพม่า อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ไทยมีความพร้อมในการผลิตถึง 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นการซื้อก๊าซฯ จากพม่า 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

.

ที่มา     : สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์รัฐบาลไทย