เนื้อหาวันที่ : 2007-01-10 11:13:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3324 views

การผสมผสานระหว่างนโยบายการบริหารเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปสงค์และอุปทาน

กลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ซึ่งจากโครงสร้าง

จากครั้งที่แล้วเราได้เรียนรู้ถึง จุดกำเนิดของ Macro Economics ซึ่งเป็นแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ซึ่งปรากฏในหนังสือทฤษฎีทั่วไป (The General Theory) ในครั้งนี้ผู้เขียนจะแสดงให้เห็นถึงแนวคิดดังกล่าวมีส่วนหรือนำมาใช้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันอย่างไรบ้าง และได้นำเสนอแนวความคิดเพิ่มเติมในส่วนของการจัดการด้านอุปทานและการนำมาผสมผสานกับการจัดการด้านอุปสงค์ซึ่งเป็นอิทธิพลของเคนส์ โดยขอนำเสนอออกมาเป็น Triangular Track Policy

.

แนวความคิดเกี่ยวกับนโยบายการบริหารเศรษฐกิจ

นโยบายการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ๆ โดยแนวทางแรก เป็นแนวทางการจัดการแบบมุ่งเน้นอุปสงค์ (Demand Management) และแนวทางที่สอง เป็นแนวทางการจัดการแบบมุ่งเน้นอุปทาน (Supply Management) ทั้งนี้เป็นเพราะผลผลิต หรือรายได้ที่แท้จริงของประเทศในระยะยาว จะถูกกำหนดจากปัจจัยทางด้านอุปทานเป็นหลัก ส่วนแนวทางการจัดการทางด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการเงินและการคลังนั้น จะมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตและรายได้ในระยะสั้นเท่านั้น

 .

สำหรับประเทศไทยนั้นรัฐบาล พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้นำเอาแนวคิดทั้งสองมาประยุกต์ และปรับใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว (Recovery Period) ได้เป็นอย่างดี โดยในช่วงแรกที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศนั้น ได้นำเอาแนวทางการบริหารแบบมุ่งเน้นอุปสงค์ (Demand Management) มาปรับใช้เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยในกรณีของอุปสงค์ภายในประเทศนั้น รัฐบาลจะดำเนินการโดยผ่านทางนโยบายประชานิยม เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ ของรัฐบาล สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้น รัฐบาลจะดำเนินการโดยผ่านทางนโยบายการเจรจาเพื่อเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) เช่น เขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย เขตการค้าเสรี ไทย-จีน และเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย เป็นต้น ในเวลาต่อมา เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น และภาคเอกชนเริ่มที่จะช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว แนวทางการบริหารแบบมุ่งเน้นอุปทาน (Supply Management) ก็ได้ถูกนำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

 .
แนวทางการบริการเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปสงค์

ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยทั้งนี้เป็นผลอันสืบเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “Dual Track Policy” หรือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการจัดการทางด้านอุปสงค์ (Demand Management) ตามแนวความคิดของ John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ (ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงแนวความคิดดังกล่าวแล้วในสองครั้งที่ผ่านมา) โดยนโยบายที่ว่านี้ เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตโดยใช้วิธีการจัดการกับอุปสงค์รวมในระบบเศรษฐกิจ (Aggregate Demand) ผ่านการใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาค อันได้แก่ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

 .

.

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจแบบคู่ขนานหรือ Dual Track Policy ที่รัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นำมาใช้นั้น เป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศควบคู่กันไป อนึ่งอุปสงค์รวมในระบบเศรษฐกิจ (Aggregate Demand) ประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ๆ โดยส่วนแรก เป็นอุปสงค์ในสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคครัวเรือน ซึ่งอาจเรียกได้อีกอย่างว่า การบริโภคส่วนที่สอง เป็นอุปสงค์ในสินค้าประเภททุนและแรงงานของภาคธุรกิจ หรือที่เรียกว่า การลงทุน ส่วนที่สาม เป็นอุปสงค์ในสินค้าและบริการของภาครัฐ หรือที่เรียกว่า งบประมาณรายจ่าย และส่วนที่สี่ เป็นอุปสงค์ในสินค้าและบริการของภาคต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า มูลค่าการส่งออกสุทธิ (Net Export) ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจแบบ Dual Track Policy จึงเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้วิธีการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเศรษฐกิจในประเทศ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศนั่นเอง

 .

สำหรับมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น จะดำเนินการโดยผ่านการผสมผสานระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Policy) เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลไม่สามารถใช้นโยบายการเงินและการคลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาคได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้สำหรับสาเหตุที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้อย่างเต็มที่นั้น เนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับโครงสร้างของตลาดการเงินที่ยังไม่แข็งแรง สถาบันการเงินยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับปัญหาสภาพคล่องที่ยังคงล้นระบบอยู่ ส่งผลทำให้การดำเนินนโยบายการเงินผ่านการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลเองก็ไม่สามารถใช้นโยบายการคลังได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณหนี้สาธารณะ ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายการคลังภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) ซึ่งมีข้อกำหนดว่า (1) ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP จะสูงสุดไม่เกินร้อยละ 60 (2) ภาระหนี้ต่องบประมาณ จะสูงสุดไม่เกินร้อยละ 16 และ (3) การขาดดุลการคลังจะค่อย ๆ ลดลง และจะสามารถเกินดุลได้ในปีงบประมาณ 2549 และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการผสมผสานเครื่องมือทางการเงินและการคลังเข้าด้วยกันผ่านมาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Activities) เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านทางสถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐ เพื่อสนองรับกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารประชาชนและวิสาหกิจชุมชน ธนาคารนครหลวงไทย เป็นต้น โดยที่รัฐบาลจะขอให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อในโครงการประชานิยม ยกตัวอย่างเช่น โครงการธนาคารประชาชน โครงการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นต้น ส่วนมาตรการที่รัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นำมาใช้เพื่อกระตุ้นอุปสงค์จากภายนอกประเทศนั้น รัฐบาลจะดำเนินการผ่านมาตรการเจรจาเพื่อเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) เช่น เขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย เขตการค้าเสรี ไทย-จีน และเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อขยายตลาดส่งออกให้กับสินค้าจากประเทศไทย

 .
แนวทางการบริการเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปทาน

เดิมที่เดียวนั้น ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ จะเน้นการเก็บภาษีมาก ๆ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ โดยมีปรัชญาในการบริหารว่า หากรัฐยิ่งเก็บภาษี และนำมาใช้จ่ายมากเท่าไร เศรษฐกิจของประเทศก็จะยิ่งพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีผู้ที่ออกมาโต้แย้งว่า เมื่ออัตราภาษีอยู่ในระดับที่สูง ในขณะที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินในด้านสวัสดิการสังคมในจำนวนมาก ก็อาจจะส่งผมทำให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการประกอบอาชีพลดลง แต่จะหันมาแบมือขอเงินช่วยเหลือจากรัฐมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดแนวคิดของการบริหารเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปทาน (Supply Management)

 .

แนวความคิดเรื่องการบริหารเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปทานนั้น ได้กำเนิดขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปกำลังอยู่ในช่วงประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศเหล่านั้นประสบกับวิกฤติการณ์ทางด้านงบประมาณ และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเรื้อรัง ซึ่งส่งผลทำให้จำเป็นต้องประกาศยกเลิกการแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำในปี 1971 รวมทั้งเกิดวิกฤติการณ์น้ำมัน 2 ครั้ง คือ ในปี 1973 และ 1979 ซึ่งเป็นผลทำให้ปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศหดตัวลง และในท้ายที่สุดได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเงินเฟ้อ และมีการว่างงานในอัตราที่สูงเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (Stagflation) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และปรากฏการณ์ดังกล่าวก็มีความขัดแย้งกับคำอธิบายของสำนักเคนส์ ซึ่งมุ่งเน้นให้ภาครัฐบาลเข้ามาแทรกแซงหรือเข้ามาจัดการกับระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเสถียรภาพและการเจริญเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยผ่านการจัดการทางด้านอุปสงค์ และด้วยเหตุนี้เองจึงก่อให้เกิดการปรับทิศทางการบริหารเศรษฐกิจจากนโยบายที่มุ่งเน้นการจัดการ ด้านอุปสงค์ ซึ่งมุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีมาก ๆ เพื่อนำมาใช้จ่าย มาเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการจัดการ ด้านอุปทาน หรือที่เรียกว่า “Supply Side Policy” ซึ่งเป็นนโยบายที่มีความพยายามที่จะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจหรือภาคเอกชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองให้มากขึ้น โดยผ่านทางการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดอัตราภาษี ในประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคที่มีนาย โรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี

 .

ตามคำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์ด้านอุปทาน (Supply Side Economists) นั้น เชื่อว่า เมื่อรัฐบาลประกาศลดอัตราภาษีลง แทนที่จะทำให้รายได้ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ลดลง กลับจะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บรายได้ภาษีได้มากขึ้น กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลปรับลดอัตราภาษีลง จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ 2 ส่วน คือ ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยในภาคครัวเรือนนั้น เมื่อรัฐบาลปรับลดอัตราภาษีลง จะมีผลทำให้รายได้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะเป็นตัวไปกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ หรือความต้องการขึ้นในตลาดสินค้าและบริการ และในขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลประกาศปรับลดอัตราภาษีลงก็จะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนผลิตสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามมา และเมื่อปริมาณอุปทานของสินค้าและบริการมีมากขึ้น ราคาสินค้าและบริการในตลาดก็จะลดลง ซึ่งก็จะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจปรับตัวลดลง ด้วยเหตุนี้ เมื่อประกาศลดอัตราภาษีลง แทนที่จะทำให้รายได้ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ลดลง กลับจะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บรายได้ภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากฐานภาษีมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปจากการปรับลดอัตราภาษี

 .

ในกรณีของประเทศไทยนั้น รัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำเอาแนวคิดของการบริหารเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปทานมาปรับใช้ โดยผ่านทางนโยบายพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศ หรือภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ให้มีความแข็งแกร่ง และมีความสามารถในการปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

 .

สำหรับเครื่องมือที่รัฐบาลได้นำมาใช้ เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทางด้านอุปทานของประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะไม่ได้นำเอามาตรการปรับลดอัตราภาษีมาใช้เหมือนเช่นกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ในยุคที่นาย โรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี โดยทางกระทรวงการคลังได้ประกาศออกมาแล้วว่า ทางรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนอัตราภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน แต่จะหันไปใช้วิธีการขยายฐานภาษี (Tax Base) ให้เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ก็ยังคงยึดมั่นอยู่ภายใต้ปรัชญาของการบริหารเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปทาน ซึ่งต้องการที่จะทำให้ภาคธุรกิจมีความแข็งแกร่ง เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อจากภาครัฐบาล โดยที่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการตามกรอบความคิดดังกล่าวผ่านทางมาตรการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ซึ่งได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ 5 อุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาวิสาหกิจอุตสาหกรรม (Industrial Cluster) โดยสำหรับมาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นมีเป้าประสงค์เพื่อต้องการที่จะลดต้นทุนในการประกอบการของภาคธุรกิจ และพร้อมกันนั้นรัฐบาลยังได้ผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจากตัวอย่างของมาตรการต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

 .

การผสมผสานระหว่างแนวทางการบริหารเศรษฐกิจ

แบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปสงค์และอุปทาน

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า รัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำการผสมผสานแนวคิดในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ระหว่างแนวคิดการบริหารเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปสงค์ (Demand Management) ซึ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านทางมาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Activities) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายนอกประเทศผ่านทางมาตรการเจรจาเพื่อเปิดเขตการค้าเสรี หรือนโยบายเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track Policy) กับแนวคิดการบริหารเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการจัดการด้านอุปทาน (Supply Management) ผ่านมาตรการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เพื่อให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ซึ่งจากโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Architecture) ดังกล่าว จะเห็นการเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ 3 แนวทาง ซึ่งอาจจะเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบ 3 ประสาน (Triangular Track Policy)

 .
เอกสารอ้างอิง

1. ถวิล นิลใบ, Supply Side Economics. เอกสารประกอบการบรรยายวิชา EC602: เศรษฐศาสตร์มหภาค

2. ถวิล นิลใบ, Thaksinomics: Dual Track Policy and Social Capitalism. เอกสารประกอบการบรรยายวิชา EC219: วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย