เนื้อหาวันที่ : 2009-12-29 14:42:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1834 views

บีโอไอจับมือมาเลเซียดันอุตฯอาหารฮาลาลในไทย

บีโอไอจับมือสมาคมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของมาเลเซีย ร่วมผลักดันส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดึง 20 ผู้ประกอบการมาเลเซีย ร่วมถกนักธุรกิจไทย

บีโอไอร่วมกับสมาคมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของมาเลเซีย จัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนระหว่างนักธุรกิจไทย-มาเลเซีย ให้ร่วมลงทุนผลิตอาหารฮาลาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดึง 20 ผู้ผลิตอาหารฮาลาลชั้นนำของมาเลเซีย หารือกับนักธุรกิจไทย          

.

.

นางวาสนา มุทุตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 18 -21 มกราคม 2553 บีโอไอร่วมกับ Halal Industry Development Corporation (HDC) ของมาเลเซีย    

.

จะจัดการสัมมนาเรื่อง อาหารฮาลาล: โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับไทย-มาเลเซีย ที่โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยเชิญนักธุรกิจมาเลเซีย ในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลประมาณ 20 คน ร่วมหารือกับนักธุรกิจไทย เพื่อศึกษาโอกาสและความร่วมมือด้านการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

.

“การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ทำให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้ ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งในงานสัมมนาครั้งนี้ จะจัดให้มีเวทีเจรจาเพื่อให้นักลงทุนไทยและมาเลเซียพบปะหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกันในอนาคต โดยมีบีโอไอเป็นผู้สนับสนุนและให้การส่งเสริมการลงทุน”นางวาสนากล่าว 

.

สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาลนั้น ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจและบริการฮาลาล ปี 2553-2557 ขึ้น โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารฮาลาลสร้างศักยภาพการตรวจรับรอง และเสริมสร้าง

.

ความเข้มแข็งในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ให้ไทยเป็นฐานผลิตสินค้าและบริการฮาลาลในอาเซียนและของโลก เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำรายละเอียด 

.

ทั้งนี้ในปี 2551 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยอยู่ที่ 5,191.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2,494.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 26.9% เพราะไทยมีปัญหาการส่งออกเกี่ยวกับความรู้ในกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตรงตามหลักศาสนาน้อย และการรับรองอาหารฮาลาลของไทยยังไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าเท่าที่ควรจึงเป็นต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ 

.

ส่วนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยและมาเลเซียนั้น ไทยและมาเลเซียบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ร่วมกับพื้นที่รัฐทางภาคเหนือของมาเลเซียพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและบริการฮาลาลให้ได้รับมาตรฐานสากล ซึ่งล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลของจุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวแล้ว        

.

สำหรับการจัดงานสัมมนาสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลระหว่างไทย-มาเลเซียในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 150 คน