เนื้อหาวันที่ : 2007-01-09 15:12:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1364 views

สมาคมธนาคารไทย เตือนแก้ กม.นอมินี อย่ากระทบเงินทุนต่างชาติ

ประธานสมาคมธนาคารไทย เตือนแก้ กม. ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวต้องระวังผลกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างชาติ เพราะถือเป็นเม็ดเงินสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ประธานสมาคมธนาคารไทย เตือนแก้ กม. ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวต้องระวังผลกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างชาติ  เพราะถือเป็นเม็ดเงินสำคัญในการพัฒนาประเทศ  แต่สนับสนุนการแก้กฎหมายให้เกิดความชัดเจน

.

คุณหญิงชฎา  วัฒนศิริธรรม  กรรมการผู้จัดการใหญ่  ธนาคารไทยพาณิชย์  และประธานสมาคมธนาคารไทย  กล่าวว่า  การที่กระทรวงพาณิชย์  เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้  (9 ม.ค.)  เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเป็นกังวล  โดยการประชุมของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน  (กกร.)  วานนี้ (8 ม.ค.) ได้หารือกันใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.สัดส่วนการเป็นเจ้าของในธุรกิจที่ขยายกิจการเข้ามาร่วมทุนกับคนไทย  2. การออกคะแนนเสียงในการประชุมคณะผู้บริหาร และ 3. การบริหารงานในองค์กร

.

การแก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวภาคเอกชนมีความเป็นห่วงในเรื่องบัญชี 3 เพราะเป็นการอนุญาตให้ต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในประเภททั่วไป  ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนและควบคุมให้รัดกุม ส่วนบัญชีที่ 1 เป็นเรื่องการประกอบอาชีพเกี่ยวกับความมั่นคง และบัญชีที่ 2  เป็นเรื่องประกอบอาชีพในธุรกิจเฉพาะ และการคุ้มครองรายย่อย เกษตรกร ซึ่งเป็นการควบคุมชัดเจนอยู่แล้ว  จึงไม่น่าห่วง  แต่ในบัญชีที่ 3  ต้องมีความชัดเจน  คุณหญิงชฎา  กล่าว

.

คุณหญิงชฎา  กล่าวว่า  ในด้านภาคการเงินไม่ได้รับผลกระทบมากนัก  เพราะมีกฎหมายของ  พ.ร.บ.สถาบันการเงิน  ได้ระบุไว้ให้ต่างชาติถือหุ้นได้เพิ่มจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 อยู่แล้ว แต่หากมีความจำเป็นไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้  และอาจมีความเสียหายได้  ทางการก็จะอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 49  ได้ ตามความเหมาะสม  แต่ในธุรกิจอื่น ๆ เอกชนต่างชาติต้องการทราบความชัดเจน เมื่อจะเข้ามาร่วมทุนในประเทศ  ต้องตั้งบริษัทย่อย  ต่างชาติจะถือหุ้นได้เท่าใด 

.

และส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และปัญหากลุ่มนอมินี หรือตัวแทนถือหุ้นของเทมาเส็ก ในกลุ่มชินฯ  ต่างชาติก็ต้องการให้มีความชัดเจน  ดังนั้น ทุกอย่างมีความชัดเจนจะทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยไม่ต้องการให้มีสัญญาณต้องการพึ่งพาเงินทุนต่างชาติน้อยลง  เพราะในความจริงแล้ว  การพัฒนาในยุคปัจจุบันยังต้องการอาศัยการถ่ายทอดเทคโนโลยี  การสร้างงานในประเทศ  เพราะอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์  แต่ก็สามารถเลือกในสิ่งที่ต้องการนำเข้ามาได้เกิดประโยชน์มากที่สุด.