เนื้อหาวันที่ : 2009-12-23 11:46:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2705 views

ชาวหนองแซงบุกพบกรรมการสี่ฝ่าย ย้ำมาตรา 67 คุ้มครองชาวบ้าน

ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หนองแซง ร้องคณะกรรมการสี่ฝ่ายบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม. 67 วรรคสอง

ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หนองแซง ร้องคณะกรรมการสี่ฝ่ายบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม. 67 วรรคสอง

.

.

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2552  11.30 น. หน้าทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หนองแซงของ บ.เพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลายจำกัดได้เข้ายื่นหนังสือต่อ เลขานุการคณะกรรมการสิ่ฝ่าย เรียกร้องให้ คณะกรรมการสี่ฝ่ายบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม. 67 วรรค 2

.

ทั้งนี้ในจดหมายถึงคณะกรรมการสีฝ่าย ได้อ้างอิงเหตุผลคือ

ประการแรก โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซหนองแซง กำลังการผลิต 1650 เมกกะวัตต์ จะตั้งอยู่ในพื้นที่อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตผังเมืองอนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรมตามร่างผังเมืองรวมจ.สระบุรี ที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในจ.สระบุรี

.

ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กฤษฎีกา ร่างผังเมืองเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งจ.สระบุรีที่จะจัดระเบียบที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตของจ.สระบุรี

.

ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซหนองแซง เป็นโครงการที่สร้างความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตอย่างรุนแรง ซึ่งมีผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นไปในทิศทางเดียวกับทีชาวบ้านคัดค้านมิให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเขตร่างผังเมืองอนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1 )

.

ประการที่สอง ปัจจุบันจากประสบการณ์ของชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ตั้งบ้านเรือนและมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่รอบโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซซึ่งเดินเครื่องแล้ว เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซ กว่า 4000 เมกกะวัตต์ของบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง และราชบุรีเพาเวอร์จำกัดใน อ.เมือง จ.ราชบุรี ,รฟ.วังน้อย ของ กฟผ.จ.พระนครศรีอยุธยา , รฟ.แก่งคอย2 ของ บ.กัลฟ์เพาเวอร์เจเนอเรชั่น อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 

.

และโรงไฟฟ้าจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลาได้มีประสบการณ์ตรงว่ามีผลกระทบด้านลบต่อสภาพแวดล้อม สุขภาพและผลผลิตด้านการเกษตร  ตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่ รฟ.ก๊าซของบ.ราชบุรีโฮลดิ้ง ต.พิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ต้องอพยพไปหาที่ทำกินใหม่ไกลจากโรงไฟฟ้า หรือบางคนต้องเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรไปทำอย่างอื่น (ข้อมูลจากกลุ่มชาวบ้านอ.จอมบึง จ.ราชบุรี คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซของบริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด)

.

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ปล่อยไอร้อนทางปล่องอุณภูมิ 100 องศาเซลเซียส หรือมากกว่าตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 25 ปี ของสัญญา ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอากาศโดยรอบโรงไฟฟ้า จะมีผลต่อแมลงขนาดเล็กเช่นผึ้งที่ช่วยผสมเกสรของไม้ผล รวมทั้งอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจะมีผลต่อเกสรข้าวในช่วงข้าวตากเกสรหรือรวงข้าวเป็นน้ำนม(อายุข้าว 3เดือนแรก)

.

ทำให้รวงข้าวไม่เป็นเม็ดเต็มสมบูรณ์เกิดข้าวลีบ,ลาย ผลผลิตข้าวลดลงอย่างแน่นอน ความร้อนมีผลต่อระบบนิเวศน์ สัตว์น้ำและสัตว์บก เช่นนกปากห่าง นกกระยาง หากินหอยเชอรี่ ที่เป็นศัตรูพืชในนา

.

.

ซึ่งเกษตรกรใน อ.หนองแซง รู้จักธรรมชาติของข้าวดี ถ้านกปากห่าง,นกกระยาง และนกอื่น ๆ ที่กินหอยเชอรี่ ไม่สามารถอยู่ได้ ชาวนาก็ต้องเสียเงินในการกำจัด หอยเชอรี่  หรือถ้า ศัตรูพืชจะมากขึ้น เพราะระบบแมลงที่ควบคุมศัตรูพืชถูกทำลาย เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ระบบการควบคุมศัตรูพืชในธรรมชาติสูญเสียไป

.

ประการที่ 3 ไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกจากปล่องของโรงไฟฟ้า ซึ่งเมื่อโดนแดดหรือสารอินทรีจะแปรเปลี่ยนเป็นก๊าซโอโซนเข้มข้น ที่เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจของคนและสัตว์และพืช

.

ประการที่ 4 การแย่งน้ำของโรงไฟฟ้าเป็นปัญหาทุกพื้นที่ เพราะในหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเกษตรกรมีน้ำไม่พอทำนาปรังทุกปี ปัจจุบันในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรีและ อ.ภาชี จ.อยุธยา ซึ่งเป็นเขตชลประทาน ก็มีปัญหาการแย่งน้ำอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าก๊าซ 1,650 เมกกะวัตต์ ขอใช้น้ำวันละ 64,400 ลูกบาศ์กเมตร

.

ซึ่งเป็นการใช้น้ำจำนวนมาก (64,400 ลบ.ม. ใช้ทำนาได้ประมาณ 60ไร่/วัน) และต้องใช้น้ำถึง 25 ปีตามสัญญา และถ้ามีการเซ็นต์สัญญาขายไฟฟ้า 25 ปี โรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำทุกวันตลอด 25 ปี และเกษตรกรก็ต้องการเพิ่มพื้นที่หรือรักษาพื้นที่ทำนา ที่มีข้อจำกัดของปริมาณต้นทุนน้ำเช่นกัน

.

.

ประการที่ 5 กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าทำประกอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นกระบวนการที่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  ไม่ใช่เวทีสาธารณะที่เอาผลดีผลเสียมาพูดอย่างรอบด้านแต่เป็นเวทีที่เป็นเพียงรูปแบบที่โรงไฟฟ้าทำขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมในเอกสาร ที่โรงไฟฟ้านำเสนอต่อภาครัฐ เพื่อตบตาผู้ชำนาญการที่ดูแค่ตัวหนังสือไม่ดูข้อเท็จจริง

.

เช่นโรงไฟฟ้าชี้แจงว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักมีเพียงพอสำหรับการทำนาและเพียงพอที่โรงไฟฟ้าจะใช้ แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานได้ส่งหนังสือแจ้งเรื่องขอให้เกษตรกรงดการทำนาปรังทุกปี เท่ากับมีความขัดแย้งกันระหว่างข้อมูลกับข้อเท็จจริง

.

ประการที่ 6 ปัจจุบันกระบวนการร้องเรียนและตรวจสอบผลเสียที่เกิดขึ้นจากโครงการขนาดใหญ่ที่ก่อมลพิษของประเทศไทยไม่มีความเป็นธรรมและการพิสูจน์ว่ามลพิษที่ก่อความเสียหายมาจากโรงงานเป็นเรื่องยากมากสำหรับประชาชนทั่วไปเรียกว่าภาระในการพิสูจน์เป็นของผู้เสียหาย  ซึ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกษตรกรหรือชาวบ้านที่อยุ่รอบโครงการเป็นผู้รับเต็ม ๆ หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ไม่มีในประเทศไทย

.

ตัวอย่างล่าสุด โรงงานไทยเรย่อน ในนิคมอุตสาหกรรมเอสไอแอลใน อ.หนองแค จ.สระบุรี มีก๊าซรั่วจนคนงานตาย 1 คน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ซึ่งเหตุการณ์นี้ชี้ว่ากระบวนการควบคุมตรวจสอบโรงงานของประเทศไทยไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่มีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยในชีวิตและสิ่งแวดล้อมของประชาชน

.

ประการที่ 7 ปัจจุบัน เจ้าของโครงการ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากอ้างว่าข้อมูลใน อีไอเอยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะได้รับการอนุมัติ  สผ.ก็อ้างว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะข้อมูลเป็นสมบัติของบ.เอกชน เปิดเผยได้ต่อเมือ อีไอเอ ผ่านการอนุมัติแล้ว หรือ บริษัทเจ้าของโครงการอนุญาต

.

ถ้ามีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม.67 จะเป็นเงื่อนไขให้สามารถเปิดเผยข้อมูลก่อนการทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตาม ม.67 กำหนด ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้รู้ดีถึสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ,ทรัพยากรทุกชนิด และข้อมูลต่าง ๆ ทั้งด้านชุมชนและสุขภาพ

.

จะได้มีโอกาส พิจารณาตรวจสอบ ศึกษาข้อมูลในอีไอเอก่อนการอนุมัติของสผ. เหมือนเช่นปัจจุบันเมื่อมีกลุ่มคัดค้าน โรงไฟฟ้าก๊าซ ในพื้นที่ สผ.และ ผู้ชำนาญการต้องลงพื้นที่ตามการร้องเรียนของฝ่ายคัดค้านจึงพบว่าข้อมูลในอีไอเอ หลายเรื่องผิดไปจากความจริง

.

นอกจากนี้ตัวแทนชาวบ้านยังได้ยื่นหนังสือทวงถามนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าไม่ตอบจดหมายร้องเรียนชาวบ้านที่เรียกร้องให้นายก ฯ รักษาพื้นที่เกษตร ฯ ตามการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคม2552  และเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพิจารณาประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ เพราะไม่ครอบคลุมโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ

.

และในเวลา 14.30 น. ตัวแทนชาวบ้านในนามเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม หนองแซง-ภาชี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อรองอธิบดีกรมโยธาธิการ ให้เร่งดำเนินการเรื่องประกาศใช้ผังเมืองรวมสระบุรี เพื่อให้ทันก่อนที่โรงไฟฟ้าหนองแซงจะได้ใบอนุญาตก่อสร้างจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

.

.

ขณะที่ สุรศักดิ์ นำพา เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีให้สัมภาษณ์ ประชาไทว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมถือเอาประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่รมต.อุตสาหกรรมลงนามเมื่อ 14 กันยายน 2552 เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรง

.

เป็นฐานในการพิจารณาว่าโครงการอุตสาหกรรมประเภทใดต้องปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญ ม. 67 วรรค 2 สำหรับโรงไฟฟ้าหนองแซง เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม. 67 วรรค 2 เพราะประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฏบับดังกล่าว ยกเว้นไว้

.

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติกำลังการผลิต 1,650 เมกกะวัตต์ชองบริษัทเพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลายนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของจังหวัดสระบุรี ก่อนส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกใบอนุญาต แต่ ณ วันนี้ ยังไม่มีใบอนุญาตออกจากกรมโรงงาน เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนของจังหวัดสระบุรี 

.

ทางฝ่ายชาวบ้านในพื้นที่ที่คัดค้าน ก็ได้ส่งจดหมายคัดค้านมา 5-6 ประเด็น คือ เรื่องพื้นที่ไม่เหมาะสม, เรื่องการแย่งน้ำทำการเกษตร, เรื่องการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ถูกต้อง, ผู้เช่านาในที่ดินที่โครงการจะก่อสร้าง, ผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้รับผลกระทบ, และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีสรุปทิ้งท้าย

.

นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า  วันนี้เราได้รับทราบว่า คณะกรรมการสี่ฝ่ายได้รับมอบหมายให้หาข้อสรุปสำหรับโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากมีชุมชนไม่เห็นด้วยกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมจากหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ทั้งที่ก่อสร้างแล้ว ขอขยายกิจการ และกำลังจะก่อสร้าง

.

นายตี๋ยกตัวอย่างกรณีบ้านตนเอง ที่กำลังเผชิญกับโรงไฟฟ้าก๊าซ ที่กำลังขออนุญาตก่อสร้าง อย่างเร่งรีบ และผู้จัดการโครงการก็ประกาศกับชาวบ้านว่าไม่ต้องทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพ เพราะเป็นโครงการไม่รุนแรงตามรัฐธรรมนูญกำหนด   พวกตนจึงต้องมายื่นจดหมายคัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกับนายก ฯ และ กรรมการสี่ฝ่าย

.

“ตอนนี้คนที่เลี้ยงไก่ไข่ก็เกิดผลเสียแล้ว เพราะบริษัทที่ส่งแม่ไก่ให้ เมื่อรู้ว่า ต้นปีหน้า บริษัทจะเริ่มก่อสร้าง ก็ไม่เอาไก่มาส่ง เพราะกลัวว่าไก่ไข่จะไม่ไข่ เพราะถ้าเสียงก่อสร้างดังจะมีผลกระทบต่อไก่ทำให้ไก่เครียดไม่ไข่ หรือไข่ใบเล็ก หรือจำนวนไข่น้อยลง

.

บริษัทเขาไม่อยากลงทุนให้เกษตรกรแล้วต้องสูญเปล่า หรือได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เสียเงินเขาเหมือนกัน เขาจึงไม่ลงแม่ไก่ให้  เกษตรกรบางคนเลี้ยงไก่มาเป็น 10 ปี เป็นอาชีพหลักของครอบครัว ลงทุนเล้าไก่ไปแล้ว หลายแสนบาท ต้องเปลึ่ยนอาชีพใหม่”

.

ป้าทองชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่มายื่นหนังสือด้วยให้ความเห็นว่า “ป้าไม่เข้าใจว่าไอ้ อีไอเอมันผ่านการอนุมัติของพวกวิชาการมาได้ยังไง  หลายเดือนก่อน กลุ่มดูนกมาดูนกที่บ้านป้า มาช่วยกันนับนกทุ่งหลังบ้านป้า ยังพูดเลยว่า เขาดูพื้นที่ทั้งหมดแล้วไม่รู้มันจะสร้างโรงไฟฟ้าได้ยังไง มันต้องเสียหายแน่นอน ทำไมไม่เก็บพื้นที่หนองแซง – ภาชี ไว้เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ  ดีกว่า เขายังเสียใจกับพวกป้าด้วยที่ต้องมีโรงไฟฟ้า”

.

.
หมายเหตุ

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการ อุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 เพื่อให้ภาคธุรกิจถือเป็นแนวทางในการดำเนินการตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญ สำหรับกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงมีทั้งหมด 8 กิจการ คือ

.

1. เหมืองใต้ดิน เฉพาะด้วยวิธีออกแบบให้โครงสร้างยุบตัวภายหลังการทำเหมืองโดยไม่มีค้ำยันและ ไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัวทุกขนาด

.

2. เหมืองแร่ตะกั่วและสังกะสีทุกขนาด

.

3. การถลุงแร่ด้วยสารละลายเคมีในชั้นดินทุกขนาดหากขยายกำลังการผลิตเกินกว่า ร้อยละ 35 สำหรับโรงงานที่มีขนาด 20,000 ตัน และอุตสาหกรรมผลิตเหล็กขั้นต้นที่มีกำลังผลิต 20,000 ตันขึ้นไป

.

4. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นหรือขั้นกลาง ที่มีการใช้หรือผลิตสารอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่มีการใช้หรือผลิต สาร Asbestos และ Benzene ตั้งแต่ 1,000 ตันต่อวัน ถ้าขยายกำลังผลิตเกินกว่าร้อยละ 35 ของสารที่ระบุไว้ข้างต้น

.

5. นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจัดตั้งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็กหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น หรือขั้นกลางขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้ในโครงการหรือกิจกรรมลำดับที่ 3 หรือลำดับที่ 4 แล้วแต่กรณี

.
6. โรงงานฝังกลบของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม หรือเตาเผาที่จัดสร้างเพื่อกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมทุกขนาด

7. โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์

8. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท