เนื้อหาวันที่ : 2007-01-08 11:49:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1378 views

การเมืองรุมเร้าค่าเงินบาทตลาดหุ้นร่วง นักลงทุนต่างชาติเผ่น

ภาวะทางการเมืองส่งผลค่าเงินบาทอ่อนค่าและตลาดหุ้นลดลง โดยดัชนีหุ้นไทยร่วง 3 วันติดต่อกันกว่า 50 จุด จากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ จับตาปัจจัยการเมือง และมาตรการรัฐกับการเก็งกำไรค่าบาท

ภาวะทางการเมืองส่งผลค่าเงินบาทอ่อนค่าและตลาดหุ้นลดลง นักลงทุนขาดความมั่นใจ โดยดัชนีหุ้นไทยร่วง 3 วันติดต่อกันกว่า 50 จุด จากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ จับตาปัจจัยการเมือง และมาตรการรัฐกับการเก็งกำไรค่าบาท ส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนในสัปดาห์นี้

.

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานภาวะค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์แรกของปี 2550 โดยถูกกดดันในช่วงแรกจากเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ แต่ก็ฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะต่อมาจากแรงเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐจากผู้ส่งออก ในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังลังเลที่จะทำธุรกรรม เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางความมั่นคง และรอดูการประเมินผลกระทบการออกมาตรการควบคุมเงินไหลเข้าระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งผลให้ปริมาณธุรกรรมเบาบาง สำหรับในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทได้รับผลกระทบเป็นระยะๆ จากข่าวลือการปฏิวัติซ้อน ก่อนที่บรรยากาศปรับตัวดีขึ้นบ้าง เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยืนยันว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์การเมืองได้ สำหรับในวันศุกร์ที่ 5 มกราคม เงินบาทมีค่าเฉลี่ยในการซื้อขายช่วงบ่ายที่ 35.967 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 36.020 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

.

ในสัปดาห์นี้ (8-12 มกราคม 2550) เป็นช่วงเริ่มต้นของปักษ์สุดท้ายก่อนที่การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับช่วงเวลาให้สอดคล้องกับกำหนดการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมนี้ เป็นต้นไป โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกรอบการเคลื่อนไหวเดิม ในขณะที่ปัจจัยทางการเมืองยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คาดค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยในระยะนี้ ตลาดคงจะติดตามสถานการณ์ด้านเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการทบทวนมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นของ ธปท. มากกว่าปัจจัยภายนอกประเทศ ดังนั้น ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ใหม่ๆ ค่าเงินบาทคาดว่าจะแกว่งตัวตามคำสั่งซื้อขายจากผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเป็นหลัก

.

ส่วนตลาดหุ้นในสัปดาห์แรกของปี 2550 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 628.19 จุด ลดลงร้อยละ 7.6 จากระดับปิดที่ 679.84 จุดในสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.18 จาก 37,522.04 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 45,092.73 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 7,504.41 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 15,030.91 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 179.51 จุด ขยับลงร้อยละ 7.2 จาก 193 จุดในสิ้นปีก่อน

.

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 3 วันติดต่อกัน โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้น ดัชนีร่วงลงอย่างมากถึงร้อยละ 3.03 หรือ 20.59 จุด ไปปิดที่ 659.25 จุดในการซื้อขายเป็นวันแรกของปี โดยมีแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคาร พลังงาน วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุวินาศกรรมเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม เช่น กลุ่มโรงแรม ห้างสรรพสินค้าและขนส่ง เป็นต้น อีกทั้งตลาดหุ้นยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากการออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินของ ธปท.เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นออกมา ขณะที่ในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นั้น ดัชนีตลาดหุ้นรูดลงอย่างต่อเนื่องจากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ หลังจากข่าวลือเกี่ยวกับการวางระเบิดยังคงมีเข้ามาโดยตลอด ขณะที่ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ได้ปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง และลดลงอีก 20.03 จุดในวันศุกร์ ไปปิดที่ 628.19 จุด

.

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (8-12 ม.ค.2550) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลของนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยนักลงทุนคงจะรอดูความคืบหน้าของทางการในการดำเนินการและติดตามผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ลอบวางระเบิด  ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองในสัปดาห์หน้า รวมไปถึงท่าทีของ ธปท.เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินว่าจะคลี่คลายไปในลักษณะใด ส่งผลให้คาดว่าการปรับตัวของดัชนีคงจะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่าดัชนีจะมีแนวรับที่ 585 และ 620 จุด แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 636 และ 660 จุด ตามลำดับ.